เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.66 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง โดยกระทรวงการคลัง ดังนี้
1. ภาระทางการคลังที่เกิดจากการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังเป็นการบันทึกรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ไป ในการดำเนินโครงการนโยบายรัฐเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชน ผู้มีรายได้น้อยในกรณีที่มีความจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนและหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ได้ขอตั้งงบประมาณ รองรับไว้ล่วงหน้าโดยหลังจากที่ได้มีการดำเนินโครงการแล้ว หน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้ยื่นคำขอรับจัดสรรงบประมาณ โดยตรงกับสำนักงบประมาณต่อไป
2. ทุกรัฐบาลที่ผ่านมามีการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังมาโดยตลอด ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรในช่วงที่ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำรวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยในช่วงวิกฤต โควิด-19 โดยรัฐบาลได้มีการอนุมัติวงเงินโครงการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 186,217 ล้านบาท ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวน 16,764 ล้านบาท และประชาชนผู้มีรายได้น้อย จำนวน 7,059 ล้านบาท
3. การดำเนินนโยบายกึ่งการคลังดังกล่าวเข้าข่ายเป็นกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ) โดยจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่ และอำนาจตามกฎหมาย ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐ เพื่อ (1) ฟื้นฟูหรือกระตุ้น เศรษฐกิจ (2) เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับ คุณภาพชีวิตของประชาชน หรือ (3) ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม
“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำนโยบายกึ่งการคลังมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการคลังในการดำเนินโครงการนโยบายรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากสามารถช่วยให้รัฐบาลบริหารงานเพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และประชาชนผู้มีรายได้น้อย ในยามจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ โดยยึดมั่นในความโปร่งใส การปฏิบัติดำเนินการตามกฎระเบียบที่ถูกต้อง ตรวจสอบได้ มุ่งแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชน” นายอนุชาฯ กล่าว