ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

"เป็นความเคยชิน แบบตายตัวไปเสียแล้ว ที่คนเรามักจะกอบเก็บความสุขจากหลายสิ่งเอาไว้จนล้นทะลัก ไม่ยอมเผื่อหรือแบ่งปันให้ใคร..กระทั่งกลายสภาวะชีวิตไปสู่การพะนออัตตาอย่างฝังแน่น ไม่รู้จักการแบ่งปัน และ สำนึกของการปลดปลงในผ่อนคลาย..

ชีวิตจึงพะรุงพะรังไปด้วยสรรพสิ่งนานา ที่รังแต่จะกดทับตัวเองในแต่ละเวลานานที จนกลายเป็นเศษซากของขยะแห่งความหมกมุ่นอันหาจุดจบไม่ได้ของชีวิต..

เหตุนี้ ..เราจึงจำเป็นต้องทบทวนและเพรียกถามตัวเองว่า..เหตุผลของการกระทำที่ถือมั่นนั้น..เป็นไปเพื่อสนองสิ่งใดในจิตวิญญาณกันแน่..."

คำกล่าวอันน่าควรคิดเบื้องต้นคือ ปฐมบทแห่งปัญญาญาณ ที่ได้รับจากการอ่านและสัมผัสลึกจากหนังสือขายดีถึง หนึ่งแสนหกหมื่นเล่มในญี่ปุ่น/เเละขายดีอย่างต่อเนื่องในเอเชีย จนเป็นพื้นภูมิแห่งเรื่องราวอันเป็นอุทาหรณ์ให้ได้ขบคิด..ต่อการดำรงอยู่อย่างมีมิติที่สมเหตุสมผลต่อชีวิต"

"อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป"..เขียนโดย"ฟูมิโอะ ซะซะกิ"นักเขียนชาวญี่ปุ่น..ที่ระบุถึงความเป็นตัวตนว่า..

"อดีตมนุษย์ห่วยๆ ผู้เคยมีความสุข ด้วยข้าวของมากมาย ที่สามารถปฏิวัติแนวทางใหม่ ด้วยการ.."ทิ้ง"..."

ว่ากันว่า..หนังสือเล่มนี้สื่อแสดงถึงการดูแลสภาวะความเป็นอยู่ของตัวเองได้อย่างตรงไปตรงมา.ซึ่ง.จริๆแล้วคนเราทุกคนสมควรที่จะ.ต้อง.ดูแลตัวเอง ดูแลที่อยู่อาศัย รวมทั้ง การดูแลเวลาที่ต้องใช้ไปในชีวิตประจำวัน...ด้วยการมุ่งสู่วิธีการสำคัญคือ." Minimalist"

อันหมายถึงการลดจำนวนของสะสมแห่งชีวิต เพื่อก่อให้เกิดสัญญะและความสุขอันจริงแท้ขึ้นกับชีวิต.. ในมิติใหม่ของตัวตนอันน่าประทับใจและจดจำ..โดยมีข้อปฏิบัติเพื่อพิจารณาในการทิ้งดังต่อไปนี้...ทิ้งของที่ไม่จำเป็น โดยพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า จริงๆแล้วมันจำเป็นหรือไม่? โดยต้องลงมือทำในทันที....นั่นหมายถึงว่า..สิ่งของนั้นคืออะไร(what)/เก็บไว้ที่ไหน(where)/จะได้ใช้เมื่อไหร่(when)/ทำไมจำเป็นต้องใช้(why)/ มีเยอะเกินไปไหม(How Many)/และ...ขาย หรือ ส่งต่อให้คนอื่นได้หรือไม่..หากไม่ได้ก็ต้องทิ้งไป..(How)..

ต้องเริ่มกระทำในทันที..เพราะ "การทิ้งคือการเริ่มต้น" When..หมายถึง..ของที่ไม่ได้ใช้เกินหนึ่งปี มีฝุ่นเกาะ..(ยกเว้นของใช้ตามฤดูกาลอย่างเช่น..เสื้อกันหนาว../นอกจากนั้นก็คือ..ของจากอดีตที่เก็บสะสมไว้ และของในอนาคต ที่คิดเอาเองว่า..สักวันจะได้ใช้.. Why..หมายถึง..ของที่เก็บไว้เพื่อคนอื่น..หรือ ของที่คิดจะทิ้ง เกิน 5 ครั้ง.. HowMany..คือ..ของที่มีหลายชิ้น มีปริมาณมากเกินความจำเป็น

How..หมายถึง ของที่ ทิ้งหลอกดูก่อน หรือ อาจจะเป็น ของที่ ทิ้ง ขาย หรือ บริจาค..การทิ้งไม่ใช่การเสียไป..แต่ให้คิดอยู่เสมอว่า.."เราได้อะไรจากการทิ้ง.."

โดยเหตุและผลที่สมบูรณ์..เราได้อะไรจากการทิ้ง..  คำตอบที่น่าสนใจและชวนใคร่ครวญก็คือว่า..มีสิ่งใดที่เปลี่ยนไปบ้างหลังการทิ้ง..  คำตอบที่เป็นจริงที่สุดก็คือ..เราจะมีของน้อยลง และ จะนำไปสู่การมีความสุข..อันประกอบด้วย..ชีวิตของเราจะมีอิสระมากขึ้น/สุขภาพใจจะดีขึ้นรวมทั้งสุขภาพกาย/มีสมาธิมากขึ้น/สามารถโฟกัสจดจ่อต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้/มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมภายในบ้านและครอบครัวดีขึ้น../

นั่นเท่ากับว่า.."การลดข้าวของที่เกินความจำเป็น..คือการทบทวนความสุขอีกครั้ง"

วิธีการแบบ"Minimalist"..ที่ถูกนำมาใช้กับการณ์นี้..คือวิธีการแห่งการค้นพบของที่มีความสำคัญหรือให้ความสำคัญกับตัวเอง..ด้วยการลดจำนวนสิ่งต่างๆให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น..

"มินิมัลลิสต์...ย่อมเป็นคนที่มีความสุขในชีวิต จากความเรียบง่าย มีข้าวของที่จำเป็นเท่านั้น../นั่นคือสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้/หากต้องการความสุขจากการละวาง.."

"ฟูมิ.โอะ ซะซะกิ"ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้..เคยมีชีวิตที่วุ่นวาย/มีเวลาชีวิตที่ไม่เคยพอในวันหนึ่งๆ/..ที่พักอาศัยตกอยู่สภาพสกปรกรกรุงรัง..แต่แล้ว..ทุกสิ่งก็ได้เปลี่ยนไป..เพียงแค่เขา ได้ค้นพบสิ่งจำเป็นที่สำคัญสำหรับตัวตนของตนจริงๆ..เขาได้กลายเป็น"มินิมัลลิสต์"ที่เรียบง่าย..มีข้าวของเท่าที่จำเป็น มีเวลามากขึ้น ได้พักผ่อนมากขึ้น และ มีความสุขเพิ่มขึ้น..

วิธีการ..เก็บของจากหนังสือนี้..ให้ผลสรุปตรงที่ว่า...ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องทำตามอย่างเคร่งครัด..มันเป็นแค่แนวทางในเชิงปฏิบัติ..ซึ่งก็ให้ถือเป็นหลักคิดกันเพียงนี้ก็พอ..เนื่องเพราะ..หากถ้าเราทิ้งของที่ใจยังไม่พร้อมจะทิ้ง..หรือทิ้งไปแล้ว..ใจยังรู้สึกพะวักพะวง ยังรู้สึกเสียดาย...ภาวะความรู้สึกนี้กลับจะทำให้เราเกิดทุกข์แทนที่จะสบายใจหรือโล่งใจ..

เหตุนี้..ทัศนคติด้านในสาระของหนังสือเล่มนี้..จึงคือความคิดอันแหลมคมและตรงไปตรงมาในเชิงปฏิบัติแห่งความเป็น"มินิมอลลิสม์"ที่"ฟูมิโอะ"ได้ระบุไว้ทั้งด้านทัศนคติ ความคิด แรงจูงใจ...ที่เป็นส่วนผลักดันให้เราบางคนทุ่มเทในการซื้อของมากเกินความจำเป็น..จนเป็นให้ที่สุดแล้วก็ได้กลายสภาพเป็นคนที่เก็บของอันไม่ก่อความสุขและเกินความจำเป็นของชีวิตเอาไว้มากมากมาย../..

กระทั่งกลายเป็นความมืดหม่นแห่งความทุกข์ของชีวิตอย่างเลยตามเลย..เมื่ออ่านรายละเอียดของหนังสือเล่มนี้อย่างพินิจพิเคราะห์ เราก็จะประจักษ์ว่า..แนวทางการใช้ชีวิตแบบ"มินิมอลลิสม์"อย่างรื่นรมย์และเข้าใจนั้น จะยึดพยุงชีวิตให้เป็นสุขได้..ไม่ยาก..ขอเพียงแต่ให้ทบทวนตัวเองอย่างซ้ำๆ.เพื่อความกระจ่างในปริศนาแห่งข้อสงสัยในชีวิตอันอาจจะเกิดขึ้นได้..โดยไม่รู้เท่าทัน..เราเคยคิดในเชิงเปรียบเทียบว่า.."ข้าวของที่เรามีบางอย่าง..เป็นสิ่งบ่งบอกตัวตนของเราไหม../หรือ..เราเคยซื้อข้าวของบางอย่าง..ที่เราไม่ชอบเพื่อให้คนอื่นยอมรับ หรือ ชื่นชมบ้างไหม"

ถ้าเคย..นี่คือโศกนาฏกรรมแห่งการกระทำ..ที่เราไม่อาจรักษาสภาวะอันสมบูรณ์ที่ไม่สูญเสีย ความเป็นตัวตนไปได้เลย..

ผมถือเอาหนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องเตือนใจ../ด้วยตัวเองคือกลุ่มบุคคลที่นิยมสะสมสิ่งของ จนเป็น"สมบัติบ้า"/ความคุ้นชินด้วยระยะเวลาอันเนิ่นนาน .ทำให้คนรุ่นเก่าอย่างผมหวงสมบัติ/ด้วยกาลไพล่ไปคิดว่ามันมีคุณค่าต่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านความทรงจำ หรือ ความประทับใจ ใดๆก็ตาม..

มิจฉาทิฐิเช่นนี้..แท้จริงแล้วจึงคือสิ่งไม่จำเป็นที่ต้องโยนทิ้งไปก่อน..เพื่อจะเปิดทางให้ภาพรวมของชีวิต..ได้รู้จักเลือกสรร..ที่จะเก็บสิ่งใดไว้หรือจะทิ้งสิ่งใดออกไปจาก.."ความหมายอันคลุมเครือและหดหู่ของชีวิต.

"ชีวิตจะดีขึ้นง่ายๆ..เเค่ทิ้งสิ่งไม่สำคัญไปเสีย" นพัฒน์ หัถยานันท์ แปลและถอดความคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างน่าชื่นชม ด้วยภาษะแห่งความเข้าใจภาวะชีวิตที่รกเรื้อ..จนบรรลุสู่ความเข้าใจที่คลี่คลาย..

"ไม่ใช่การทำให้ของน้อยลง แต่เป็นทางในการหาความของของชิ้นต่างๆ ด้วยวิธีที่ต่างกันออกไป ลดปริมาณของลง เพื่อรักษาสิ่งสำคัญเอาไว้..รู้ว่าอะไรสำคัญจริงๆ..

“การมีของเกินความจำเป็น..ขโมยอิสระจากเราไป.."