"บิ๊กตู่"ขออยู่รักษาการจนกว่าได้ครม.ชุดใหม่ หวังได้รัฐบาลดี ไม่อยากให้ตั้งล่าช้าอาจส่งผลเสีย ยันไม่เสนอชื่อตัวเองชิงนายกฯ "วิษณุ" เชื่อได้ตัวประธานสภาไม่เกิน 12 ก.ค.แน่  เลขาสภายังไม่แจ้งนัดประชุมเลือกประธานสภา หลัง2 พรรคใหญ่คุยกันไม่ลงตัว  แกนนำก้าวไกลย่องเข้าพรรค จับตาถกลับยุติศึกชิงประมุขนิติบัญญัติ

     ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.66 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมาเร็วหรือไม่ ว่า คาดหวังไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการทางการเมือง อย่างวันนี้ที่เดินมาได้แล้วตนก็ทำหน้าที่ของตนจนกระทั่งถึงวันที่ 3 ก.ค.ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสมัยประชุมรัฐสภา จากนั้นเป็นการหารือร่วมกันในการคัดเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรภายในกี่วันตามที่มีกฎหมายและมีกรอบอยู่แล้ว ซึ่งตนก็ยินดีกับทุกคน ทุกพรรคนั่นแหละ ก็ขอช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและปลอดภัยแล้วกัน ขอให้ยึดมั่นในหลักการของเราคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพราะเราคือประเทศไทย ซึ่งมีหลายอย่างที่แตกต่างจากต่างประเทศเขาอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นต้องทบทวนกันเอาเองแล้วกัน ตนไม่อยากให้เกิดปัญหา และไม่อยากให้ล่าช้าจนนานเกินไป เพราะมันก็มีผลเสีย เรากำลังมีโอกาสเราก็จะทำให้เกิดวิกฤต ซึ่งก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ดังนั้น ขอให้ปรึกษาหารือกันให้ดี และให้ได้รัฐบาลที่ดีมา
 

   ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาวันที่ 3 ก.ค. นายกฯจะไม่เข้าทำเนียบฯ แล้วหรือ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า พูดไปหลายครั้งแล้วว่าตนรักษาการจะต้องทำงานไปถึงเมื่อไหร่ ถึงวันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ เดือนหน้าโน้น  เขามีกำหนดอยู่แล้ว ถ้าอะไรๆ มันเลื่อนไปเรื่อยๆ ตนก็ยังคงรักษาอาการอยู่ เข้าใจไหมในระหว่างนี้ถ้ามันเรียบร้อย มันมีกำหนดอยู่แล้วว่าจะไปเมื่อไร จะคิดเอาเองได้อย่างไร แล้วใครจะรักษาการ ใครจะรับผิดชอบ
   

 เมื่อถามต่อว่า นายกฯ มองว่าในส่วนของพรรครัฐบาลเดิม หรือในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จะเสนอชื่อประธานสภาได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า "ไม่มอง ไม่มอง ไม่มอง ก็แล้วแต่พรรคเขา" เมื่อถามอีกว่า ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการพูดคุยถึงทิศทางการโหวตประธานสภาหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ก็เห็นยังไม่ได้คุยกันมั้ง ไม่รู้ ยังไม่ได้รับรายงาน ผมก็บอกแล้วว่าให้เป็นเรื่องของการเมือง ก็ว่ากันไปนะจ๊ะ โอเค" เมื่อถามอีกว่า หากมีการเสนอชื่อท่านเป็นนายกฯ และส.ว.ก็สนับสนุนด้วย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ไม่มี ไม่มีหรอกมั้ง มีที่ไหนเล่า"
 

   ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรอบเวลาการเลือกประธานสภา ว่า การเลือกประธานสภาต้องประชุมให้มีการเลือกได้ภายใน 10 วัน นับแต่วันเสด็จเปิดรัฐสภา ในวันที่ 3 ก.ค. หรือไม่เกินวันที่ 12 ก.ค.และไม่มีเหตุที่จะเลือกกันไม่ได้ เพราะไม่เหมือนการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องใช้คะแนนเสียงเกิน 376 ของ 2 สภา แต่การเลือกประธานสภาใช้สภาเดียว และใช้เสียงข้างมากของส.ส.ก็สามารถทำได้
   

 ผู้สื่อข่าวถามว่า การเสนอชื่อประธานสภาสามารถเสนอชื่อแข่งขันมากกว่า 2 คน ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า จะเสนอแข่ง 5 คนก็ได้ และใช้เสียงข้างมากของส.ส.ในการตัดสิน ตนจึงขอย้ำว่าโอกาสที่จะเลือกไม่ได้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น หาก 2 พรรคคะแนนเสียงต่างกันใครชนะก็ได้ เมื่อถามว่า หากพรรคอันดับหนึ่งและอันดับสองเสนอชื่อแข่งกัน และหากมีกลุ่มพรรคขั้วที่สามที่มี 188 เสียง เสนอแข่งมีโอกาสส้มหล่นได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่เห็นเหตุที่จะเกิดขึ้น เพราะตอนนั้นต้องเสนอไปพร้อมกัน พรรคหนึ่งก็เสนอ พรรคสองก็เสนอ และกลุ่มพรรคขั้วที่สามอยากจะเสนอก็เสนอไป 3 คนแล้วก็โหวตแข่งกัน เพราะอาจต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ หรือไม่ต้องก็ได้ขึ้นอยู่กับมติสภา แต่หากมีแล้วฟังไม่หมดก็เลื่อนไปโหวตต่อในวันถัดไปก็ได้
   

 ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามหลักการประธานสภาในฐานะประธานรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการเลือกนายกฯ หรือ เป็นเรื่องของมติที่ประชุมรัฐสภา นายวิษณุ กล่าวว่า ประธานสภามีหน้าที่กำหนดวันโหวตนายกฯ ถึงเวลาจะเลือกกันอย่างไร มีกี่ชื่อก็เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา เมื่อถามว่า หากการโหวตนายกฯ ไม่ถึง 376 เสียง จะต้องทำยังไง นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของประธานสภาที่ต้องดำเนินการ และไม่มีกรอบเวลา จะวันรุ่งขึ้น หรือ 7 วัน หรือ 15 วัน ก็ได้ โดยให้สมาชิกกลับไปคิด เมื่อถามว่า ดูจากสถานการณ์การเมืองขณะนี้มองว่าจะเลือกนายกฯ ได้ช้าหรือเร็ว นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ
 

   เมื่อถามว่า หากเกิดเหตุการณ์เลือกนายกฯ ไม่ได้ ประธานสภาสามารถเป็นผู้กำหนดพลิกเกมไปเลือกแคนดิเดตคนอื่นได้หรือไม่ หรือเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภา นายวิษณุ พยักหน้า พร้อมระบุว่า ตอนนั้นส.ส.ปฎิญาณตนเสร็จแล้ว จึงมีฐานะในการประชุมสภาปกติ ใครเสนอมาถ้าอีกฝ่ายไม่เห็นด้วยก็เสนอมาแข่ง ประธานสภาก็จะให้โหวตกันว่าจะเลือกแบบไหน เมื่อถามว่า หากเลือกนายกฯ ไม่ได้ แต่ต้องการเลือกต่อ เป็นอำนาจสมาชิกรัฐสภา หรือประธานรัฐสภา นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่ประธานรัฐสภาจะนัดวัน แต่ส่วนใหญ่ประธานรัฐสภาจะฟังเสียงสมาชิก
   

 เมื่อถามว่า ส่วนใหญ่หากนัดโหวตนายกฯ เพื่อเปิดทางมีการล็อบบี้กันใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องล็อบบี้สื่อเป็นคนพูด การนัดใหม่อาจจะมีเหตุหลายอย่างก็ได้เหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ไม่ให้ลงมติในวันเดียวกัน เพราะต้องการให้กลับไปคิดกันใหม่ เพราะอาจจะมาด้วยข้อเสนอที่ดีกว่าเดิมก็ได้ เช่น เปลี่ยน เมื่อถามย้ำว่า สุดท้ายคือใช้มติเสียงข้างมากในการตัดสินใช่หรือไม่ นายวิษณุ พยักหน้า 
   

 เมื่อถามว่าสุดท้ายแล้วอำนาจของประธานสภาแค่กำหนดวันในการเลือกนายกฯ ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับตอนช่วงเลือกนายกฯ แต่เขาไม่ได้แย่งตำแหน่งกันเกี่ยวกับการเรื่องนายกฯ  เขาต้องการเอาตำแหน่งประธานสภาเพื่อทำหน้าที่อื่นๆ ต่อไปด้วย ทั้งเรื่องกฎหมาย กระบวนการต่างๆ การนัดวันประชุม เพราะจบเรื่องการเลือกนายกฯ แล้ว ได้นายกฯ แล้วประธานก็ยังมีอำนาจ แต่ไม่ได้มีอำนาจยิ่งใหญ่ไพศาล อย่างที่นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา พูด ชี้เป็นชี้ตายอะไรไม่ได้ เพราะบางอย่างประธานสภาตัดสินใจเองได้ บางอย่างก็ต้องอยู่ภายใต้เสียงข้างมาก และอำนาจอีกอย่างของประธานสภาคือเปิดและปิดประชุม
   

 ผู้สื่อข่าวถามว่า ประธานสภามีอำนาจตัดตอนการนำเสนอกฎหมายได้หรือไม่ อย่างเช่นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ประธานชี้ขาดตอนแรกว่าจะรับหรือไม่รับ ที่ผ่านมาชี้ว่าไม่รับเพราะเป็นการเสนอกฎหมายที่ผิดกฎหมายก็ไม่รับ เมื่อถามต่อว่า จึงเป็นเหตุที่พรรคก้าวไกลอยากได้ตำแหน่งประธานสภาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนไม่ทราบว่าเขาอยากได้เพราะอะไร แต่แน่นอนถ้าใครได้ก็ดีทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วหากได้ตัวประธานสภาแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ขณะเดียวกันหากได้นายกฯ คนใหม่ ประธานสภาต้องเป็นผู้รับสนองฯ
   

 เมื่อถามว่า คนที่มีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ สามารถลาออกได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ แต่จะใช้วิธีว่าถ้าเขาเลือกแล้วคุณไม่ต้องรับ หรือไม่ก็ทำให้ตัวเองขาดคุณสมบัติ แต่จะไปลาออกไม่ได้ เพราะว่าตั้งแต่ตอนสมัครแล้วเขาระบุไว้แล้วว่าถอนตัวไม่ได้ ยกเว้นเสียชีวิต
   

 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกล(ก.ก.) ที่แม้จะมีรถยนต์ส่วนตัวของ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ขับเข้ามาจอดอยู่บริเวณลานจอดรถ แต่ทางแกนนำพรรคส่วนใหญ่หลบเข้าไปทางด้านหลังของตึก จึงเป็นที่น่าจับตาว่าพรรคก้าวไกลจะมีการประชุมลับเพื่อหาข้อสรุปสำหรับตำแหน่งเก้าอี้ประธานสภากับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เนื่องจากการหารือดังกล่าวถูกยกเลิกไปก่อนหน้า 
 

   นอกจากนี้การประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลในวันนี้ก็ได้ถูกเลื่อนไปเป็นช่วงเช้าของวันที่ 2 ก.ค. จึงทำให้เหลือเวลาอีกไม่ถึงสัปดาห์ ก่อนที่จะมีรัฐพิธีเปิดประชุมสภาในวันที่ 3 ก.ค. จากนั้นวันที่ 4 ก.ค. ก็จะโหวตเลือกประธานสภาเป็นลำดับต่อไป อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และน.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ได้เดินทางเข้ามายังที่ทำการพรรคร่วมด้วยเช่นกัน
 

   ส่วน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค เดินทางมาในเวลาประมาณ 10.00 น. แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน พร้อมกับปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่าวันนี้มีการประชุมอะไรหรือไม่ ตอบเพียงสั้นๆ ว่า มาทำงานเท่านั้น ก่อนจะเดินเข้าไปด้านในอาคาร
   

 ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เตรียมเดินทางลงพื้นที่จ.พิษณุโลกในวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งเป็นพื้นที่ของ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคเหนือและแคนดิเดตประธานสภา โดยพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง 2 เขต จาก 4 เขต โดยมีรายงานว่าแกนนำที่อยู่กทม.จะไปพูดคุยกันถึงแนวทางการโหวตประธานสภาของพรรคก้าวไกลและจะมีการพบหารือแกนนำพรรคเพื่อไทยด้วยที่กทม. แต่ยังไม่ระบุสถานที่ 
 

   จากนั้น วันที่ 1 ก.ค. นายพิธาและน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะไปขึ้นรถแห่ขอบคุณประชาชนด้วยกันที่จ.ขอนแก่น เพื่อยืนยันว่าทั้ง 2 พรรค จะจับมือกันตั้งรัฐบาลต่อไป ส่วนวันที่ 2 ก.ค. จะมีการประชุมหัวหน้าพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค เพื่อประกาศมติและท่าทีของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภา และจุดยืนอื่นๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ ก่อนเข้าร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภานัดแรกในวันที่ 3 ก.ค. และประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาคนใหม่ในวันถัดจากนั้น
 

   วันเดียวกัน ที่ห้องมิราเคิล แกรนด์เอบี ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง รายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งส.ส.รุ่นที่ 1 ถึงความคืบหน้าในการแจ้งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เข้าชี้แจงในกรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อน โดยเฉพาะตัวกฎหมาย เนื่องจากมีพื้นฐานมาจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครส.ส แต่เมื่อมาปรับใช้กับเหตุการณ์สามารถดำเนินการได้หลายวิธี โดยเงื่อนไขแรกห้วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ตามกระบวนการจะต้องส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา โดยจะเชิญผู้สมัครมาชี้แจงหรือไม่มาชี้แจงก็ได้ ซึ่งมี 37 คดีที่ศาลได้วินิจฉัยแล้ว 
   

 เงื่อนไขที่ 2 หลังการเลือกตั้ง กรณีที่เห็นว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามจะดำเนินการตามมาตรา 151 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งเป็นการดำเนินคดีอาญา ซึ่งจะต้องแจ้งให้กับผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจง โดยการดำเนินการจะต้องดูเอกสารหลักฐานอย่างครบถ้วนปราศจากข้อสงสัย แล้วดูเจตนาประกอบด้วย ส่วนเงื่อนไขหลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้งวิธีการคือตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งกรณีนี้จะเชิญผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามการเป็นส.ส.มาชี้แจงหรือไม่ก็ได้ หากกกต.มีหลักฐานหรือเห็นเป็นความปรากฏ ซึ่งในชั้นนี้ผู้ที่สามารถวินิจฉัยได้คือศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่กกต.
     ส่วนจะมีการเชิญนายพิธามาชี้แจงหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนที่กกต.ตั้งขึ้น ว่าจะพิจารณาให้มาชี้แจงให้ข้อมูลหรือไม่ แต่ถ้าดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเชิญหรือไม่เชิญมาก็ได้ หากมีหลักฐานเพียงพอที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ
     เมื่อถามว่า กกต.ได้มีการพิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 บ้างแล้วหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ก่อนที่กกต.จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ สิ่งสำคัญกกต.ต้องเห็นก่อนแต่ยังไม่ใช่การวินิจฉัย เพียงเห็นว่ามีข้อมูลเพียงพอเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งอาจใช้ข้อมูลจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนก็ได้ หรืออาจตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะก็ได้ แต่ให้แยกว่าเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ใช่การแจ้งข้อกล่าวหา เบื้องต้นขณะนี้มีผู้มายื่นร้องให้กกต.ดำเนินการตามมาตรา 82 แล้วดังนั้นต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมกกต.ว่าจะใช้วิธีการดำเนินการอย่างไรเพราะเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งจะแตกต่างจากระเบียบสืบสวนไต่สวน
     เมื่อถามจะต้องมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวก่อนการโหวตเลือกนายกฯหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า เมื่อกกต.เห็นจะต้องมีการประชุมอย่างแน่นอน แต่ท่านจะต้องดูว่ามีข้อมูลพยานหลักฐานแค่ไหน เพียงพอที่จะส่งให้ศาลวินิจฉัยได้หรือไม่ ต้องมีพยานหลักฐานและต้องเห็นด้วย ส่วนจะต้องยื่นให้ศาลพิจารณาก่อนการโหวตนายกฯนั้นไม่เกี่ยวกับประเด็นที่กกต.ที่จะต้องมาพิจารณา 
 

   ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวที่รัฐสภา ว่า นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงนามในหนังสือ แจ้งสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และส.ว. ขอเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดประชุมรัฐสภาวันที่ 3 ก.ค. เวลา 17.00 น ณ ห้องโถง พิธีชั้น 11 อาคารรัฐสภา ซึ่งตามกำหนดการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดประชุมรัฐสภา โดยจะมีนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูตประเทศต่างๆ ประธานศาลฎีกา และประธานองค์กรอิสระเข้าร่วมกว่า1,000 คน ทั้งนี้ได้แนบคำแนะนำสำหรับสมาชิกรัฐสภาในพิธีเปิดประชุม ทั้งขั้นตอน ต่างๆ และเครื่องแบบการแต่งกายด้วย
            

ส่วนในวันที่ 4 ก.ค.เดิมที่วางไว้เป็นกำหนดวันประชุมสภานัดแรก เพื่อเลือกประธานสภา และรองประธานสภา ทั้ง 2 คน จนถึงขณะนี้ทางสำนักงานเลขาฯ ยังไม่มีการทำหนังสือเชิญสมาชิกเข้าร่วมประชุม
   

 โดยมีรายงานว่า สภาจะขอประเมินสถานการณ์ความพร้อมในการเลือกประธานสภาอีกครั้งก่อน เนื่องจากขณะนี้ทั้ง 2 พรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยังไม่มีข้อสรุป คาดว่าต้องรอการหารือของ 8 พรรคการเมืองในวันที่ 2 ก.ค.ก่อน และตามขั้นตอนสภาจะต้องทำหนังสือแจ้งสมาชิกให้รับทราบล่วงหน้า 3 วันก่อนที่จะมีการประชุม และตามกรอบเวลาตามระเบียบ วันประชุมสภานัดแรกจะต้องเปิดประชุมภายใน 10 วัน นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ซึ่งจะตรงกับวันที่ 12 ก.ค.