# พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมาเร็วหรือไม่ ว่า ตนคาดหวังไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการทางการเมือง อย่างวันนี้ที่เดินมาได้แล้วตนก็ทำหน้าที่ของตนจนกระทั่งถึงวันที่ 3 ก.ค.ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสมัยประชุมรัฐสภา จากนั้นเป็นการหารือร่วมกันในการคัดเลือกประธานสภาฯ ภายในกี่วันตามที่มีกฎหมาย และมีกรอบอยู่แล้ว ซึ่งตนก็ยินดีกับทุกคน ทุกพรรค
ส่วนภายหลังพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา วันที่ 3 ก.ค.พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ตนเองจะต้องทำงานไปถึงวันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ มีกำหนดอยู่แล้ว " ถ้าอะไรมันเลื่อนไปเรื่อยๆ ตนก็ยังคงรักษาอาการอยู่ เข้าใจไหมในระหว่างนี้ถ้ามันเรียบร้อย ผมก็ไปตามโน้น มันมีกำหนดอยู่แล้วว่าจะไปเมื่อไหร่ จะคิดเอาเองได้อย่างไร แล้วใครจะรักษาการ ใครจะรับผิดชอบ"
# นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามในหนังสือแจ้งสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ขอเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดประชุมรัฐสภาวันที่ 3 ก.ค.เวลา 17.00 น. ณ ห้องโถง พิธีชั้น 11 อาคารรัฐสภา ซึ่งตามกำหนดการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประชุมรัฐสภา
ส่วนวันที่ 4 ก.ค.เดิมที่วางไว้เป็นกำหนดวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คน จนถึงขณะนี้ทางสำนักงานเลขาฯ ยังไม่มีการทำหนังสือเชิญสมาชิกเข้าร่วมประชุม โดยมีรายงานว่า สภาฯ จะขอประเมินสถานการณ์ความพร้อมในการเลือกประธานสภาฯ อีกครั้งก่อน
# นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 2 ก.ค.นี้ ว่า ทางพรรคก้าวไกลนัดหารือเป็นทางการวันที่ 2 ก.ค. และชัดเจนว่าไม่เลื่อนอีก โดยในช่วงเช้าจะมีการหารือระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรค พท. จากนั้นจะประชุมหัวหน้าพรรค 8 พรรคร่วม หลังจากนั้นเรามีความชัดเจนในการพูดคุยกัน
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ในฐานะพรรคเพื่อไทยเป็นอันดับสอง จึงได้เสนอไปยังพรรคก้าวไกลว่าขอประมุขฝ่ายนิติบัญญัติได้หรือไม่ หากไม่ได้ ก็ต้องกลับมาพิจารณากันใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร และยืนยันว่าพรรคไม่ได้เอาชื่อใครมาประกบเพราะจะกลายเป็นการแข่ง แต่เราขอ ส่วนเรื่องการสลับขั้วการเมืองนั้นยืนยันเสียงประชาชน 25ล้านเสียงให้เรามาทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลแล้ว
# นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่ก่อนหน้านี้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นไม่รับคำร้องยุบพรรคก้าวไกล จากเหตุมีนโยบายหาเสียงแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับสั่งอัยการสูงสุดชี้แจงว่ารับหรือไม่รับคำร้องของผู้ที่ยื่นร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ในชั้นของกฎหมายพรรคการเมือง เราจะพิจารณาว่าการกระทำนั้นมีอำนาจให้พรรคกระทำหรือไม่ และกระทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
ซึ่งเขียนต่างจากรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ามีผู้เห็นว่าการกระทำนั้นใช้สิทธิเสรีภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทำให้เป็นการล้มล้างระบบการปกครอง ต้องไปร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน