กรมบัญชีกลางกำหนดแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงผ่านแอปพลิเคชัน ครอบคลุมการให้บริการ Telemedicine
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้กำหนดแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตังให้ครอบคลุมการให้บริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อรองรับกับระบบบริการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด 19 โดยระบบดังกล่าวเป็นการพัฒนาต่อยอดภายหลังจากที่กรมบัญชีกลางได้เพิ่มช่องทางการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตัง สำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาล (Onsite) ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2565 เป็นต้นมา
ทั้งนี้กรมบัญชีกลางได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น เพื่อสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการ รวมถึงข้อเสนอแนะต่อการดำเนินโครงการดังกล่าว พบว่า แอปพลิเคชันเป๋าตังสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิ อีกทั้งยังช่วยลดความแออัดเมื่อทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรง ณ จุดชำระเงินของสถานพยาบาลได้ โดยตั้งแต่วันเริ่มต้นโครงการจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2566 มีผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง รวมจำนวนทั้งสิ้น 10,548 รายการ คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิ รวมจำนวนทั้งสิ้น 17,045,500 บาท
โดยการเบิกจ่ายตรงผ่านแอปพลิเคชัน สำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาล (Onsite) และการเข้ารับบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) สถานพยาบาลต้องพัฒนาระบบการให้บริการของสถานพยาบาลให้มีการเชื่อมต่อข้อมูลกับกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตังตามแนวทางที่กรมบัญชีกลางกำหนด ดังนั้น สถานพยาบาลที่ประสงค์จะดำเนินการดังกล่าวจะต้องประสานกับธนาคารกรุงไทย เพื่อประเมินความพร้อมทางระบบสารสนเทศของสถานพยาบาลและเชื่อมต่อระบบกับกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตังก่อน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ให้แจ้งมายังกรมบัญชีกลางเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ส่วนราชการและผู้มีสิทธิทราบผ่านทางเว็บไซต์ต่อไป
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า สำหรับการเข้ารับบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวจะต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ผู้ทำการรักษาพยาบาลก่อนภายใต้เงื่อนไข ดังนี้ (1) ผู้ป่วยสมัครใจและมีความพร้อมในการเข้ารับบริการการแพทย์ทางไกล (2) เป็นผู้ป่วยเก่าของสถานพยาบาลที่มีการติดตามการรักษาต่อเนื่อง (3) ผู้ป่วยต้องมีอาการคงที่และควบคุมโรคได้ดี (4) ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน และ (5) กรณีอื่นตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด โดยเมื่อถึงวันนัดหมายให้บริการการแพทย์ทางไกลผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวจะต้องยืนยันการทำธุรกรรมผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ก่อนเข้ารับบริการการแพทย์ทางไกล (Check-in) และหลังเข้ารับบริการทางการแพทย์ทางไกล (Check-out) ทุกครั้ง ทั้งนี้สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงผ่านแอปพลิเคชันได้ ผ่านทางเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th หัวข้อ รักษาพยาบาล/ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล