วันที่ 28 มิ.ย.66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการปันน้ำใจให้น้องได้เรียนรู้ และโครงการห้องเรียนดิจิทัล Active Learning โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. รศ.ดร.ประกอบ กรณีกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารสำนักงานเขต 11 เขต ผู้บริหาร 11 โรงเรียนนำร่อง และภาคีเครือข่ายในโครงการเข้าร่วม ณโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ สำนักงานเขตบางเขน
นายศานนท์ กล่าวว่า นโยบาย ดิจิทัล คลาสรูม ปัจจุบันมี 11 โรงเรียนนำร่อง โดยร่วมกับภาคเอกชนในการจัดหาคอมพิวเตอร์พกพารุ่นเก่า(โน้ตบุ๊ก) จากเดิมคิดว่าโน้ตบุ๊กสามารถตอบโจทย์นักเรียนได้ แต่เมื่อได้ทดลอง พบว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะสามารถสร้างการเรียนรู้และความสนใจแก่นักเรียนได้มากกว่า สะดวกต่อการทำงาน เป็นที่มาของการรับบริจาคคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีนโยบายพัฒนาโรงเรียนสองภาษา หลักสูตร และเทคโนโลยี
สำหรับการเปิดรับบริจาค มองว่า นักเรียนสังกัด กทม.มีประมาณ 250,000 คน ระดับชั้น ป.4-ม.3 มีนักเรียนประมาณ130,000 คน เป็นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ (ช่วงสำคัญมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่) จากนักเรียนชั้น ป.6 ทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร ครึ่งหนึ่งเป็นนักเรียนสังกัด กทม. ดังนี้ กทม.จึงต้องการส่งเสริมนักเรียนชั้นประถมศึกษาให้ได้ใช้คอมพิวเตอร์ โดยร่วมกับภาคเอกชน ในปี 2566 ต้องการรับบริจาคคอมพิวเตอร์ 2,200 เครื่อง เพื่อขยายไปยังโรงเรียนนำร่องทั้ง 11 แห่งต่อไป
รศ.ดร.ประกอบ กล่าวถึงผลการทดลองนำร่องว่า จากการทดลองนำร่องกับนักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ จำนวน 1 ห้องเรียน(นักเรียน 29 คน ครู 7 คน) ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทำการพัฒนาครูรูปแบบ 1 ต่อ 1 กลุ่มเล็ก และการระดมสมองในกลุ่มใหญ่ โดยให้ครูเรียนเฉพาะแอพพลิเคชั่นที่ต้องการใช้ มุ่งเน้นการสอนแบบร่วมกัน บูรณาการการเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกสำหรับนักเรียน พบว่า นักเรียนในการทดลองห้องเรียนดิจิทัล มีผลการเรียนแตกต่างจากห้องเรียนปกติ เช่น มีทักษะ และมีความสุขในการเรียนมากขึ้น รวมถึงทักษะด้านดิจิทัลของครูเพิ่มสูงขึ้นจากขั้นพื้นฐานเป็นระดับชำนาญ สามารถจักการการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีหลักสูตรเท่าทันสถานการณ์บนโลกอินเตอร์เน็ต ส่วนอุปกรณ์สามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เก่าในการเรียนการสอนได้ เพราะใช้ระบบคลาวด์เป็นหน่วยจัดเก็บข้อมูล จึงไม่ต้องอาศัยความจุของคอมพิวเตอร์มากนัก ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนหาความรู้ สร้างสรรค์ผลงาน และลงมือทำ โดยแนวทางการเรียนดังกล่าวแพร่หลายอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา สวีเดนสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
นายชัชชาติ กล่าวว่า โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เป็นโรงเรียนต้นแบบ และเป็นความหวังของ กทม.ในการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษา นอกจากการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในกทม. สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำคือเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศ หากเด็กได้รับการศึกษาที่ดี จะมีโอกาสหลุดพ้นความจนได้ แต่ยอมรับว่าไม่ง่าย การพัฒนาการศึกษาไม่ได้ใช้เงินอย่างเดียวแล้วสำเร็จ มีปัจจัยละเอียดอ่อนหลายอย่าง เช่น อุปกรณ์ เทคโนโลยีโดยเฉพาะครู เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในระบบการศึกษา
สำหรับโครงการ ดิจิทัล คลาสรูม เป็นต้นแบบที่ดี สามารถขยายผลได้ง่าย โดยในปี 2567 กทม.จะเน้นการขยายผลโครงการต่าง ๆ มากขึ้น ส่วนเรื่องการรับบริจาคคอมพิวเตอร์ อาจมีข้อสงสัยว่าทำไมไม่จัดซื้อ ตนมองว่า การรับบริจาคคือการหาแนวร่วม เช่น หลายคนบอกว่า อยากให้การศึกษาพัฒนาขึ้น แต่ไม่เคยมีส่วนร่วมในการผลักดันการพัฒนาเลย โครงการนี้จึงต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมด้านการพัฒนาการศึกษา แนวคิดดังกล่าวนี้ เชื่อว่าทุกคน ทุกองค์กร มีโน้ตบุ๊กเก่าล้าสมัยอยู่แล้ว สามารถนำมาบริจาคให้เป็นประโยชน์แก่นักเรียนได้ ส่วนเหตุผลการเปิดรับบริจาคอีกข้อ คือ ช่วยด้านสิ่งแวดล้อม นำของเก่ามาใช้ใหม่ให้มีประโยชน์โดยไม่ต้องทิ้งให้เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์เชื่อว่าการเปิดรับบริจาคโน๊ตบุ๊กเก่า 130,000 เครื่อง ภายในปี 2569 สามารถเป็นไปได้ถ้าทุกคน ทุกหน่วยงาน หันมาสนใจพัฒนาการศึกษาร่วมกัน