ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดชัยนาท มุ่งมั่นสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอุทัยธานีในการลดต้นทุนการผลิตข้าว ตามนโยบายของกรมการข้าว ในเรื่องของโครงการลดต้นทุนการผลิตข้าวได้มีการสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตในปี 2565  ในรูปแบบโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรกสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด (งบโควิด) และในปีงบประมาณ 2566 กรมการข้าวได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีและมีคุณภาพตรงความต้องการของตลาด สอดคล้องกับโครงการ BCG Model ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรและเป็นการปลูกข้าวแบบประณีตและเป็นข้าวรักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม

นายสุวิทย์ เผือกจีน ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท เปิดเผยว่า โครงการลดต้นทุนการผลิตข้าว ทางกรมการข้าวได้มีการสนับสนุนงบประมาณในการลดต้นทุนในปี 2565 เรื่องของโครงการนาแปลงใหญ่ ซึ่งช่วยในการซื้อเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ในการทำการเกษตร และในปีงบประมาณ 2566 กรมการข้าว ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี คุณภาพตรงความต้องการของตลาดและโครงการ BCG Model ในปี 2566 โดยวัตถุประสงค์ของโครงการมุ่งมั่นในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเพิ่มคุณภาพข้าวเพื่อเป็นมาตรฐานในการส่งออก สำหรับการถ่ายทอดความรู้การต้นทุนการผลิตข้าว ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดชัยนาทได้จัดการอบรมเกษตรกร เรื่องวิธีการลดต้นทุน ดังที่กรมการข้าวได้ให้คำแนะนำไว้ คือ 3 ต้องทำ 3 ต้องลด เป็นปัจจัยสำคัญในการลดต้นทุน “3 ต้องทำ” ได้แก่ 1.ต้องปลูกข้าวไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี 2.ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีและ3.ต้องทำบัญชีฟาร์ม “3 ต้องลด” คือ 1.ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 2.ลดการใช้ปุ๋ยเคมีให้เหมาะสมและ 3.ลดการใช้สารเคมี

นางวลัยลักษณ์ กะการดี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการส่งเสริมเกษตรกรเรื่องการลดต้นทุนการผลิตข้าว สิ่งที่ต้องทำคือ จะต้องสำรวจโรคแมลงและจดบันทึกทำบัญชีฟาร์ม เพื่อให้รู้ต้นทุนว่าเกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารป้องกันกำจัดโรคกำจัดแมลงมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้ทราบว่าสามารถลดต้นทุนในส่วนไหนได้บ้าง และนอกจากนี้ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดชัยนาท ยังได้จัดอบรมและให้ความรู้แก่เกษตรกรอยู่เสมอ ทั้งยังให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตในโครงการต่างๆที่มีการสนับสนุนและ อำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ด้านข้าวหรือปรึกษาเรื่องโรคและแมลง เพื่อให้การทำการเกษตร ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสะดวกสบายและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นางออมสิน กุลรัตน์ ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ตำบลน้ำตาลเล่าว่า พื้นนาแปลงที่ทำนั้น เป็นต้นแบบของการทำนาระบบ BCG Modelโดยมีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ 3 งาน ซึ่งในการทำนารูปแบบ BCG ในฤดูกาลที่ผ่านมาเห็นถึงความแตกต่างจากการทำนาในรูปแบบปกติได้อย่างชัดเจน จากเดิมเคยใช้ปุ๋ยเคมี 4 กระสอบ ปัจจุบันเหลือ 2 กระสอบลดลง 2 กระสอบ ต้นทุนรวมทั้งค่าปักดำนาอยู่ที่ประมาณ 2,700 บาทซึ่งลดลงจากเดิมประมาณ 1,000 กว่าบาท จากเดิมเคยลงทุน 4,000 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าสามารถลดต้นทุนได้จริง 

การเข้าร่วมโครงการลดต้นทุน เกษตรกรที่อยู่ในโครงการต่างๆของกรมการข้าว ไม่ว่าจะเป็นโครงการนาแปลงใหญ่หรือโครงการศูนย์ข้าวชุมชนสามารถเข้าร่วมโครงการสนับสนุนลดต้นทุนในการผลิตข้าวได้เนื่องจากศูนย์ข้าวชุมชนและโครงการนาแปลงใหญ่สามารถลดต้นทุนได้ในทันที เพราะได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตคือเมล็ดพันธุ์ข้าว ก็ทำให้ลดต้นทุนการผลิตข้าวแล้ว และหลังจากที่เกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์ที่ดีจากกรมการข้าว ก็สามารถเก็บไว้ทำเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูกครั้งถัดไปได้