วันที่ 27 มิ.ย.66 ที่สำนักงานตรวจสอบภายใน ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯกทม. ร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงานตรวจสอบภายใน ตามนโยบายผู้ว่าฯสัญจร โดยมี แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะรองปลัด กทม. บุคลากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า สำนักงานตรวจสอบภายใน เป็นหน่วยงานสำคัญในการตรวจสอบความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ สังกัด กทม. กว่า 750 หน่วยงาน รวมถึง ตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 60 คน ถือเป็นภาระงานหนัก เนื่องจากมีหน่วยงานต้องตรวจสอบจำนวนมาก ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายในการตรวจสอบให้มีความโปร่งใส ประกอบด้วย 1.เน้นการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การตรวจสอบและประเมินจากระบบทราบฟฟี่ ฟองดูว์ สามารถบอกได้ว่า แต่ละเขตมีประสิทธิภาพในการทำงานมากน้อยเพียงใด โดยไม่ต้องตรวจจากเอกสาร เพราะข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ สามารถประเมินผลได้ทันที 2.ความพร้อมด้านบุคลากรเพราะการตรวจสอบหลายเรื่องใน กทม.ต้องใช้เทคนิคสูง เช่น การตรวจสอบอุโมงค์ระบายน้ำ บุคลากรจำเป็นต้องเข้าใจพื้นฐานหลักวิศวกรรม จากการประชุมพบว่า สำนักงานตรวจสอบภายในยังมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญไม่เพียงพอกทม.จึงต้องหาทางเพิ่มบุคลากร

 

3.ฝ่ายรับตรวจต้องมีความเข้าใจเรื่องระบบบัญชี เช่น การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินต่าง ๆ ขณะเดียวกัน กทม.ต้องอบรมให้ความรู้ผู้ถูกตรวจสอบ เช่น สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา ให้เข้าใจการลงบัญชีทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 4.เน้นประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน การตอบสนองต่อความต้องการประชาชน เช่น ใช้เวลาตรวจสอบเกินความจำเป็นหรือไม่ ถือเป็นเรื่องความโปร่งใส และทำให้ประชาชนเสียเวลาเกินจำเป็น อย่างไรก็ตาม ส่วนกลางต้องสนับสนุนบุคลากรและเทคโนโลยีเพิ่มเติมด้วย เชื่อว่า ประชาชนให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใสและประสิทธิภาพการให้บริการอย่างยิ่ง ต้องสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าบุคลากร กทม.กว่า 8 หมื่นคน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

แพทย์หญิงวันทนีย์ กล่าวว่า สำนักงานตรวจสอบภายในไม่ใช่หน่วยงานคอยจับผิด แต่เป็นการตรวจเพื่อให้คำแนะนำป้องกัน ความร่วมมือระหว่างผู้ตรวจและผู้รับตรวจต้องมีความสัมพันธ์ตรงไปตรงมา ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติ โดยผู้ตรวจจะแจ้งสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงตามลำดับขั้น ผู้รับตรวจต้องไปศึกษาและดำเนินการแก้ไข เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า บุคลากรภายในสำนักงานตรวจสอบภายในจำนวน 60 คน ยังขาดอีก 8 อัตรา ถือว่าไม่เพียงพอต่อภาระหน้าที่ ต้องดำเนินการพิจารณาเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม บางส่วนอาจต้องจ้างหน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยด้านเทคนิคเฉพาะต่าง ๆ เช่น การตรวจโรงบำบัดน้ำเสีย จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการรวมถึง เร่งบรรจุอัตราที่ยังขาดอยู่ สิ่งสำคัญคือ ในอนาคตต้องอาศัยเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่นการบันทึกข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล เพื่อการตรวจสอบโดยง่าย หรือการใช้เทคโนโลยี (AI) ตรวจสอบเนื้อหาในเอกสารต่าง ๆ ช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่มากขึ้น

 

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว จำเป็นต้องเพิ่มเทคโนโลยีมากกว่ากำลังคน เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรับตรวจต้องบันทึกข้อมูลผ่านระบบดิจิทัลและนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่ไปด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ตรวจ สามารถดูตัวอย่างผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ซึ่งสะท้อนการทำงานผ่านเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ