วันที่ 27 มิถุนายน 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการประชุมเรื่อง สภาวะการศึกษาไทย ปี 2565 และทิศทางการศึกษาไทยในอนาคต : สภาวะการฟื้นฟูการเรียนรู้และเร่งรัดประสิทธิผลการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ปีการศึกษา 2565โดยมี ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุม นางคยองซอน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวต้อนรับ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่จัดการศึกษาทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม และภาคเอกชน พร้อมด้วย นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา นางนันทิชา ไวยนพ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร ผู้บริหาร และข้าราชการ สกศ. เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ

ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า โลกเปลี่ยนจากยุค VUCA World เข้าสู่ยุค BANI World ซึ่งเป็นโลกที่เปราะบางมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ข้อมูลในอดีตไม่สาารถทำนายอนาคตได้ การศึกษาสามารถดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยการกำหนดนโยบายทางการศึกษาที่มีคุณภาพ รองรับ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากการติดตามประเมินผลทางการศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นถึงผลสำเร็จของการศึกษาในช่วงเวลาที่ผ่านมา และแนวทางที่จะดำเนินต่อไปในอนาคต รวมทั้งวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาที่ถูกต้องและแม่นยำ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายทางการศึกษา ทั้งนี้ สกศ. พยายามยกระดับคุณภาพการจัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทยทุกปี เพื่อให้ได้รับการยอมรับ และมีมาตรฐานในระดับสากล และได้ข้อมูลที่สามารถสะท้อนสภาพความเป็นจริงของการศึกษาไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายการศึกษาต่อไป

นางคยองซอน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า การวิเคราะห์สถานการณ์การศึกษาของประเทศไทยมีความสําคัญมากเพราะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ยูนิเซฟพร้อมสนับสนุนภาคการศึกษาที่นําโดยกระทรวงศึกษาธิการอย่างเต็มที่เพื่อดําเนินการตามข้อเสนอแนะจากการวิเคราะห์สถานการณ์การศึกษา เพื่อช่วยให้ประเทศไทยนำเอาพันธสัญญาระหว่างประเทศในการปฏิรูปการศึกษา โดยต้องการให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเรียนรู้สิ่งที่พวกเขาต้องการเพื่อขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศสู่ความรุ่งเรืองต่อไป

นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ในฐานะองค์กรหลักในการจัดทำนโยบายและแผนการศึกษา มีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือการจัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทย ซึ่งได้มีการพัฒนาให้มีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ การประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และ สกศ. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของสภาวะการศึกษาไทย และรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาไทยในปัจจุบัน และทิศทางการศึกษาไทยในอนาคต อันจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของชาติให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อไป

รศ.ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ กล่าวถึงชีพจรการศึกษา 2565 สภาพการสะท้อนมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งผลการวิเคราะห์ปรากฎประเด็นบ่งชี้สำคัญ ดังนี้ 1) การปรับตัวของผู้ปกครองและนักเรียนให้เท่าทันต่อสภาวะความผันผวน 2) การเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้แบบดิจิทัล 3) ความเหลื่อมล้ำของครอบครัวที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน 4) ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้และสุขภาวะ 5) การหลุดออกจากระบบการศึกษา 6) การฟื้นการเรียนรู้ ประเด็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบ มีดังนี้ 1) ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ส่งผลต่อระดับมหภาคและจุลภาค 2) ความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา 3) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร 4) วัฒนธรรมและค่านิยมทางสังคม 5) ทักษะที่จำเป็นเพื่อการเรียน การทำงานและการดำรงชีวิต 6) ทักษะการรู้คิดดิจิทัล 7) สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน 8) การเชื่อมต่อโลกแห่งการเรียนรู้สู่โลกแห่งการทำงาน 9) ภาวะความเป็นผู้ปกครอง ประเด็นปัญหาการจัดการศึกษา ดังนี้ 1) ความสอดคล้องของเป้าหมาย นโยบาย โครงสร้าง ค่านิยม และการปฏิบัติ 2) การใช้ Big Data เพื่อบริหารจัดการศึกษา 3) การคัดเลือกและพัฒนาผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา 4) การคัดเลือก การพัฒนา และการกำหนดภาระงานครู 5) ความทันสมัย ยืดหยุ่นและตอบสนองของหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ 6) ระบบประเมินที่เชื่อมโยงกับผลลัพธ์การเรียนรู้ทุกระดับและทั้งระบบ 7) การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล 8) คุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และ 9) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน

ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นำเสนอการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น Padlet Responding from the Floor โดยมีประเด็นและข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น 1) ทิศทางการศึกษาในอนาคตต้องกล้าตัด ปรับ เปลี่ยนสาระการเรียนรู้เฉพาะที่จำเป็นตอบโจทย์การสร้างทักษะผู้เรียนสู่การมีงานทำได้อย่างแท้จริง 2) รูปแบบการเรียนรู้ การประเมิน ต้องเปลี่ยนแปลง สมารถใช้ platform เพื่อการเรียนรู้และประเมินผลได้นอกเหนือจากในห้องเรียน 3) การจัดการเรียนรู้ ควรปรับเปลี่ยนจากเรียนรู้เพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยสู่การเรียนรู้ทักษะอาชีพเพื่อการมีงานทำ 4) การจัดการศึกษาควรเปิดกว้าง มีความยืดหยุ่น ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ในหลายรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา 5) การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลทุกภาคส่วนและสามารถใช้ข้อมูลพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของประเทศไทย 6) เด็กและเยาวชนสามารถเข้ามามีบาทบาทในการร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดการศึกษา เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการเสวนาเรื่อง Moving Forward : Disruptive Education Transformation in the Next 5 Years โดย ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มเซ็นทรัล ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางสาวมนปริยา ลบหนองบัว เยาวชนที่ปรึกษา งานสนับสนุนเชิงนโยบายว่าด้วยเรื่องการพลิกโฉมการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นางสาวณัฏฐณิชา ขัติยะวรา นักศึกษา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สาขานโยบายสังคมและการพัฒนา หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับทิศทางการศึกษาในอนาคต อาทิ 1) โลกเปลี่ยนเร็วมาก ทำให้อาชีพไม่มีอยู่จริง เพราะจะมีการเปลี่ยนงานทุก 5 ปี เปลี่ยนอาชีพทุก 8 ปี ดังนั้น จึงต้องใช้ความกลัวเพื่อเปลี่ยนเราให้ไปกับโลกให้ทัน 2) วิธีการจัดการศึกษาไม่ควรจัดเด็กตามคะแนนสอบ แต่จะจัดตาม Learning Style ซึ่งจะทำให้เกิดการถ่ายโอนความรู้ 3) ถ้า Learning style ต่างกัน การออกข้อสอบไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแต่จะเป็นการวัดเรื่องเดียวกัน 4) ควรเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็น Learning Center ใช้ประโยชน์ให้สูงสุด 5) ถ้ามองในแง่การพัฒนาทุนมนุษย์ ควรใช้หลัก 7 ตาม โดยให้คนเป็นตัวตั้ง ดังนี้ ตามสะดวก ตามสบาย ตามอัธยาศัย ตามทันโลก ตามอยู่เรื่อย ๆ ตามช่วงวัย และตามบริบทของพื้น 

สำหรับ การจัดประชุมครั้งนี้ จัดโดยสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อมูล ข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะทุกประเด็นที่ได้รับเพื่อนำไปวิเคราะห์ และใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการศึกษาไทยในอนาคตต่อไป