ธปท.เผยเงินบาทอ่อนค่าจากปัจจัยภายนอก หนุนใช้ระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ ใช้สกุลเงินท้องถิ่นชำระเงินการค้า การลงทุน กับประเทศคู่ค้า หวังให้เอกชนไทยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยเฉพาะในประเทศ  ​จากการปรับขึ้นตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศหลัก จากความไม่แน่นอนสูง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงมุ่งเน้นผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (New FX ecosystem) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคเอกชนมีความพร้อมในการรับมือความผันผวนจากค่าเงินได้อย่างยั่งยืน จึงอยากให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง 

โดย ธปท.มีแผนสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างประเทศ เช่น สกุลเงินหยวน เยน มาเลเซียริงกิต และอินโดนีเซียรูเปียให้เป็นอีกทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยขณะนี้เงินหยวน ถูกนำมาใช้ชำระเงินมากขึ้นร้อยละ 6.6 ในปี 2565 และมีแนวโน้มสูงขึ้น ธปท. เตรียมหารือกับธนาคารกลางจีน ผ่อนปรนเงื่อนไข และให้ธนาคารพาณิชย์จีนอำนวยความสะดวกมากขึ้น ขณะที่สกุลเยนของญี่ปุ่น เทียบกับเงินบาทของไทย ใช้ชำระสินค้าในการค้าขายกับญี่ปุ่นมากขึ้น โดยใช้เงินบาทชำระเงินร้อยละ 18.3 เงินเยน ร้อยละ 28.7 สกุลดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 52.6 คาดว่าการใช้เงินบาทจะเริ่มสูงขึ้นการค้ากับญี่ปุ่น

น.ส.พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า เงินบาทอ่อนค่าจากปัจจัยภายนอก และยังมีความผันผวนต่อไปอีก ช่วงที่ผ่านเงินบาทอ่อนค่าร้อยละ 1.6 นับว่าดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ อ่อนค่าร้อยละ 3,จีน หยวนอ่อนค่าร้อยละ 3.5,มาเลเซีย ริงกิตอ่อนค่าร้อยละ 5.9,ญี่ปุ่น เยนอ่อนค่าร้อยละ 7.8 ยังไม่เห็นสัญญาณผิดปกติรุนแรง 

น.ส.ชนานันท์ สุภาดุลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและกำกับแลกเปลี่ยนเงิน ธปท. กล่าวว่า หลังจากครบ 1 ปี ในการผ่อนปรนการโอนเงินไปต่างประเทศ โดยขยายเงินโอนจาก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนไม่มีธุรกรรมรองรับซับซ้อน นับว่ามีนักลงทุนรายย่อยมีธุรกรรมเพิ่มขึ้น มีการเรียกเอกสารน้อยลงจากธุรกิจปลายทาง นอกจากนี้ยังขยายเงินลงทุนในหุ้นต่างประเทศของรายย่อยโดยไม่ผ่านตัวกลางจาก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลดภาระค่าธรรมเนียมให้กับรายย่อย