ตามที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เปิดเผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2564 (รอบสำรวจปี 2565) ซึ่งเป็นช่วงที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับวิกฤตสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การสำรวจค่าใช้ด้านการวิจัยและพัฒนาเกิดการชะลอตัวลงเล็กน้อย 

พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GERD/GDP) ของประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 1.21 (จากเดิม 1.33) โดยมีค่าใช้จ่าย R&D ในภาพรวมอยู่ที่ 195,570 ล้านบาท (จากเดิม 208,010 ล้านบาท) มีอัตราเติบโตลดลงร้อยละ 5.98 เป็นค่าใช้จ่าย R&D ในภาคเอกชน 144,887 ล้านบาท (จากเดิม 141,706 ล้านบาท) และภาคอื่น ๆ (รัฐบาล, อุดมศึกษา, รัฐวิสาหกิจ และเอกชนไม่ค้ากำไร) 50,683 ล้านบาท (จากเดิม 66,304 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนภาคเอกชนต่อภาคอื่น ๆ อยู่ที่ร้อยละ 74 : 26 ซึ่งจะเห็นว่าการลงทุนด้าน R&D ในภาคเอกชนยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ดร.สิริพร ทิพยโสภณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า ตัวเลขค่าใช้จ่าย R&D มีการนำไปใช้อ้างอิงทั้งในประเทศ และต่างประเทศในการจัดอันดับขีดความสามารถของ IMD รวมถึงการตั้งกรอบเพื่อของบประมาณ การวางแผนยุทธศาสตร์ชาติก็ใช้เทียบเคียงตัวเลขดังกล่าว อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจพบว่า ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ อยู่ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ ส่วนภาครัฐก็มีหน้าที่อำนวยความสะดวกปลดล็อกกฎหมายต่าง ๆ กระตุ้นให้มีการลงทุน R&D ให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 2% ภายในปี 2570

ดร.สิริพร กล่าวถึงบทบาทภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้การลงทุน R&D เป็นไปตามเป้าหมายว่า ภาครัฐได้สร้างระบบนิเวศในมิติต่าง ๆ โดยการปลดล็อกข้อจำกัด อาทิ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 การเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้ง Holding company ในมหาวิทยาลัย เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยมีรัฐให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม และได้ปรับปรุงกฎหมายโดยมอบความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปยังผู้รับทุนโดยมีเงื่อนไขว่าต้องใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยนั้นภายใน 2 ปี หากไม่มีการดำเนินการใด สิทธิของงานวิจัยฯ จะเป็นของผู้ให้ทุน เพื่อหาผู้ร่วมทุนและต่อยอดงานวิจัยต่อไป อีกส่วนคือกลไกนวัตกรรม ผู้ประกอบการที่มีสินค้าสามารถไปขึ้นบัญชีนวัตกรรม และภาครัฐสามารถมาเลือกซื้อได้ 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม มีการพูดถึงการสร้าง Innovation manager เพื่อวางแผนบริหารจัดการ ทั้งการทำแผนธุรกิจ รวมถึงกฎหมาย การทำสัญญาต่าง ๆ เพื่อนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดสู่การเข้าสู่ตลาด ขณะนี้เรากำลังออกร่างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐเอกชน เฉพาะเรื่องของการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ อยู่ระหว่างเสนอ ครม.เป็นระเบียบแนวปฏิบัติ เพื่อเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องไปใช้กฎหมายร่วมลงทุน ระหว่างรัฐกับเอกชนที่ไปลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะ 

และยังมีนโยบาย Offset เป็นการกำหนดเงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐ ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้กับผู้รับซึ่งเป็นภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สอวช. ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ เชื่อว่าจะทำให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ ขณะเดียวกันประเทศไทยมีจุดแข็งที่มีอุทยานวิทยาศาสตร์และโรงงานต้นแบบ กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค และแต่ละจุดมีความเชี่ยวชาญ เฉพาะด้านที่ต่างกัน ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงกับกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ขณะนี้เราได้งบประมาณอยู่ที่ 15,000 – 20,000 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานให้ทุน 9 หน่วย ที่สามารถให้ทุนกับภาคเอกชน พัฒนาสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอีให้เกิดขึ้นมาได้

รอง ผอ.สอวช. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการ Thailand plus package ที่ให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทสามารถนำเงินเดือนพนักงานที่มีทักษะสูงด้าน STEM มาหักภาษีได้อย่างน้อย 150% และให้สิทธิกับบริษัทที่เข้าอบรมหลักสูตรพัฒนาบุคลากรด้าน STEM สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการอบรมไปยกเว้นภาษีได้ 250% นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถสูงของประเทศไทย ตามห่วงโซ่ของอุตสาหกรรม บีซีจี สามารถแยกได้ว่าคนที่มีความเชี่ยวชาญมีกี่คนและใครบ้าง จากนั้นรวบรวมเป็นถังข้อมูล เพื่อให้เอกชนเข้ามาดู และเลือกได้ว่าผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยคนไหน ตรงกับความต้องการของตนเอง

“จากตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นว่า หากเราสร้างระบบนิเวศและกลไกในลักษณะนี้ ตัวเลขค่าใช้จ่าย R&D ของเอกชนในปีถัดไป ก็เป็นความคาดหวังว่าจะเพิ่มสูงขึ้น” ดร.สิริพร กล่าว

และจากผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD ปี 2566 พบว่า ความสามารถในการแข่งขันโดยรวมดีขึ้น มาอยู่อันดับที่ 30 จาก 64 ประเทศ (ปีที่แล้วอันดับ 33) โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ตกลงมาอยู่อันดับที่ 39 (ปีที่แล้วอันดับ 38) โครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา ตกลงมาอยู่ อันดับที่ 54 (ปีที่แล้วอันดับที่ 53) สำหรับปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ที่ตกลง สาเหตุมาจาก ปีนี้เงินลงทุนวิจัยและพัฒนาลดลง (GERD) จาก 1.33% เหลือ 1.21% และจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (FTE) ลดลง จาก 25 ต่อ ประชากร 10,000 คนต่อปี เหลือ 24 ต่อ ประชากร 10,000 คนต่อปี

ทั้งนี้ สอวช. ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยของอันดับตัวเลขที่มีการเปลี่ยนแปลงว่า ในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ปัจจัยที่พัฒนาขึ้นคือ การถ่ายทอดความรู้ การบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา สภาพแวดล้อมทางกฎหมายเอื้อต่อการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ส่วนปัจจัยที่เป็นจุดอ่อน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศต่อจีดีพีที่ลดลง, จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาแบบทำงานเต็มเวลาของทั้งประเทศต่อประชากร 1,000 คนลดลง และนักวิจัยแบบทำงานเต็มเวลาต่อประชากร 1,000 คนลดลง ส่วนอันดับด้านการศึกษา มีปัจจัยที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ การจัดการศึกษาสาขาบริหารจัดการ ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ ทักษะทางภาษา ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ ส่วนปัจจัยที่เป็นจุดอ่อน คือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของทั้งประเทศต่อ GDP ลดลง