วันที่ 26 มิ.ย. 66 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากขบวนการตรวจสภาพรถทิพย์ จ.สกลนคร นำเอกสารมาร้องเรียนให้ตรวจสอบ ว่า ตนขอเรียกร้องไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ในพื้นที่ จ.สกลนคร เนื่องจากพื้นที่นี้มีการร้องเรียนหลายครั้ง และเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยในภาพใหญ่ ทุกครั้งที่เราไปออกรถป้ายแดง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ทางดีลเลอร์รถจะบอกว่า เป็นค่าทะเบียน หรือค่าดำเนินการออกรถใหม่ แล้วคนที่ออกรถป้ายแดงก็จะรู้สึกดีใจ ถือเป็นความเฮงๆ เขาเรียกเท่าไร ก็เอาเงินไปจ่ายเท่านั้น แต่ปรากฎว่า บิลค่าใช้จ่ายที่ออกมา มีค่าใช้จ่ายไม่เท่าไร เช่น ภาษีรถยนต์มีค่าธรรมเนียมในการออกรถใหม่แค่ 55 บาท แต่ปรากฎว่าเก็บจริงไปหลายพันบาท เลยตั้งข้อสงสัยว่าเก็บไปให้ใคร เอาไปให้ช่างตรวจสภาพรถ เจ้าหน้าที่บางคนหรือไม่ เรื่องนี้พัวพันกับใครบ้าง มองว่าไม่ใช่ค่าบริการธรรมดามิหนำซ้ำเวลาที่ผ่อนหมดแล้ว จะต้องมีการโอนปิดบัญชี ทำให้ต้องมีการโอนชื่อจากไฟแนนซ์มาเป็นเจ้าของรถ ซึ่งตามจริงต้องจ่าย 105 บาท แต่ปรากฎว่าหลายคนจ่ายไปหลักพันบาท ขึ้นอยู่กับประเภทรถ ว่าหรูขนาดไหน เกรดอะไร หากเป็นรถหรูจะจ่ายแพง ซึ่งเมื่อสักครู่ ตนได้ตรวจสอบกับกลุ่มไรเดอร์ที่มาร้องเรียนกับพรรคก้าวไกล พบว่าเป็นเรื่องจริงซึ่งผู้เสียหายเข้าใจว่า ส่วนหนึ่งเป็นค่าบริการที่ให้ตัวแทนไปดำเนินการแทน ซึ่งหลายคนบอกว่า เป็นเรื่องพัวพันที่ต้องนำเงินไปให้เจ้าหน้าที่ทะเบียนบางคนด้วย หรือแม้กระทั่งช่างตรวจสภาพรถ 

นายวิโรจน์ ยังตั้งคำถามด้วยว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ กี่สิบปีแล้ว ขบวนการนี้ใหญ่ขนาดไหน ที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน รวมถึงรถป้ายแดงควรมีอีกหรือไม่ เนื่องจากหากปัจจุบันพัฒนาเป็นระบบออนไลน์แล้ว ควรจะเป็นรถป้ายดำโดยทันที “สมัยก่อนเรามีรถป้ายแดง เพื่อรอให้เดินงานธุรการ จึงให้สวมป้ายแดงไปก่อน แต่ในปัจจุบันไม่จำเป็นแล้ว ผมคิดว่าต้องทบทวนกฎระเบียบ ว่ารถที่เพิ่งออกจากโรงงาน จำเป็นต้องตรวจสภาพเพื่ออะไร ไม่จำเป็นต้องตรวจแล้วถูกหรือไม่ ให้ดีลเลอร์หรือศูนย์ขายรถคีย์เข้าระบบไปเลย ว่าเลขเครื่องเลขอะไร ตัวถังเป็นเลขอะไรกฎหมายตัวนี้ออกมาเพื่ออะไร ไม่มีใครที่อยากขับรถป้ายแดง ไปตรวจตามขนส่งอยู่แล้ว หรือขับรถลูกค้าไปตรวจนอกศูนย์รถ”

นายวิโรจน์ยังกล่าวต่อว่า สิ่งที่น่ากลัว คือรถสวมทะเบียน รถจดประกอบ และรถที่ไปซื้อซาก ที่เกิดอุบัติเหตุ แล้วเอาเลขคลัสซี ไปสวมรอย กับรถที่โจรกรรมมา ซึ่งตามระเบียบการซื้อรถมือสอง ต้องมีการตรวจสภาพเหมือนกัน แล้วมีระเบียบที่ให้ทางเจ้าหน้าที่ หรือช่างตรวจสภาพ มาตรวจนอกสถานที่ได้ แต่ข้อเท็จจริงที่สอบถามมาเบื้องต้น คือไม่ได้มาตรวจจริง เอาเอกสารพร้อมผลประโยชน์บางอย่างแล้วให้เซ็นชื่อ เหมือนกับตรวจแล้ว เรียกว่า “ตรวจทิพย์”

“แม้กระทั่งมาถ่ายรูปกับรถ ช่างยังไม่มาถ่ายเลย เอาเอกสารไปเซ็น พูดง่ายๆ คือขายลายเซ็น ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างไร ทำไมประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว ถึงไม่มีการโจรกรรมรถ เพราะเขารู้ว่ารถที่โจรกรรมมา จดทะเบียนไม่ได้ แต่หากยังมีการตรวจสภาพรถทิพย์อยู่ ก็จะเจอกับรถสวมทะเบียน”

นายวิโรจน์ ย้ำด้วยว่า คนทั่วไปก็เดือดร้อน เนื่องจากรถยนต์ รถจักรยานยนต์ถูกขโมย ตราบใดที่การจดทะเบียนรถมีความหละหลวม ปัญหารถหาย ก็ยังเกิดขึ้น การโจรกรรมรถ ก็จะเบ่งบาน ซึ่งตนจะเข้าไปตรวจสอบทั้งหมด พร้อมฝากไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้ช่วยขันน็อต และหวังว่าจะได้รับคำตอบ  เนื่องจากถูกกลั่นแกล้งมาเป็นปีแล้ว และหากยังไม่เชื่อ ตนจะเปิดไลน์ให้ดู ว่าทางกรมการขนส่งทางบกพูดคุยอะไรกับผู้เสียหายบ้าง ซึ่งตนเห็นแล้วตกใจมากเพราะการตรวจต้องพาช่างออกไปตรวจ ไม่ใช่พาคนเข้ามาให้เซ็นชื่อ มองว่าเป็นการรีดไถประชาชน  โดยที่ประชาชนไม่รู้เรื่อง 

เมื่อถามว่า ช่างที่ตรวจสภาพรถ เป็นช่างเอกชน หรือเจ้าหน้าที่รัฐ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนได้รับข้อมูลว่าเป็นช่างตรวจสภาพของรัฐบางคน ยังเหมารวมไม่ได้ ซึ่งจากที่ตรวจสอบ เจ้าหน้าที่บางคนมีเครื่องบินเล็กเป็นของตัวเอง จึงตั้งข้อสังเกตว่าช่างตรวจสภาพจะมีเครื่องบินเล็กของตัวเองได้อย่างไร มีอพาร์ทเม้นต์ มีรถยนต์หรู “โอ้ มีเงินเดือน 30,000-40,000 บาท ไม่น่าจะมีเครื่องบินเล็กได้ แปลกนะ มีอพาร์ทเม้นต์เช่า 3-4 ห้อง ควรจะเข้าไปตรวจสอบว่าท่านทำอะไรถึงรวยขนาดนี้”

เมื่อถามว่า คณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใกล้จะจบลงแล้ว หลังปิดตัวจะมีการสานต่องานอย่างไร นายวิโรจน์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีการหารือกัน ถึงการร่างนโยบายเพื่อแถลงต่อรัฐสภา จะได้เป็นเข็มทิศนำทางในการจัดการกับส่วยและคอร์รัปชัน ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เห็นตรงกัน คือการนำเทคโนโลยีมาให้ และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส