วันที่ 26 มิ.ย.2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานเปิดโครงการ Bangkok Area Traffic Control Project (BATCP) ที่ห้องพญาไท 4 ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. ตัวแทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นประวัติศาสตร์สำคัญในการปรับปรุงสภาพการจราจร ปัจจุบัน กทม. ติดตั้งระบบสัญญาณไฟจราจรอัตโนมัติ (Area Traffic Control) โดยนำร่อง จำนวน 13 แยก 4 ถนน ประกอบด้วย 1.ถนนพระราม6 2.ถนนราชวิถี 3.ถนนพหลโยธิน 4.ถนนประดิพัทธ์ และมีเป้าหมายติดตั้ง 500 จุดภายในปี 2569 เนื่องจากที่ผ่านมา มีการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเกือบ 1,000 คน ในการควบคุมสัญญาณไฟจราจร แบ่งเป็นผู้กดสัญญาณไฟทางแยกกว่า500 คน ซึ่งการเชื่อมต่อข้อมูลสัญญาณไฟจราจรแต่ละทางแยกทำได้ไม่คล่องตัว การนำเทคโนโลยีมาช่วยจะทำให้การประเมินสัญญาณไฟจราจรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่ โดยในอนาคต อาจมีการเชื่อมต่อข้อมูลจราจรผ่านระบบมือถือ เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้มากขึ้น

 

โดยเทคโนโลยีดังกล่าวทำหน้าที่เก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ความหนาแน่นของรถบนถนน ระยะเวลารอสัญญาณไฟจราจรความยาวขบวนแถวรถติด เพื่อเป็นข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรภายในศูนย์ควบคุมสัญญาณไฟจราจรตัดสินใจปล่อยสัญญาณไฟจราจรตามแยกต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ

 

นายวิศณุ กล่าวว่า กทม. นำระบบ Area Traffic Control หรือกล้องมุมสูงตรวจนับปริมาณรถบนถนนระยะไกล มาติดตั้งตามสี่แยกต่างๆ พร้อมเชื่อมต่อกับสัญญาณไฟจราจร วัตถุประสงค์เพื่อให้การควบคุมจังหวะสัญญาณไฟจราจรแต่ละย่าน แต่ละทิศทาง มีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับปริมาณการจราจรที่แท้จริง เทคโนโลยีนี้มีคุณสมบัติในการประมวลผล และสามารถสั่งการควบคุมสัญญาณไฟจราจรทางแยกจากส่วนกลางได้ พร้อมกันนี้ ยังติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับปริมาณรถติดถึงปลายแถว เพื่อนำค่ามาคำนวณให้สัมพันธ์กับจังหวะสัญญาณไฟจราจรทางแยกบนถนนสายหลักผ่านการสั่งการจากศูนย์ควบคุมกลางด้วยระบบอัตโนมัติ รวมถึงติดตั้งโปรแกรมประมวลผลปริมาณจราจรที่ผ่านทางแยก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรนำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเปลี่ยนจังหวะสัญญาณไฟจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ

 

จากการติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าว พบว่า ช่วงจราจรไม่หนาแน่นทำให้รถวิ่งคล่องตัวขึ้น 30% ส่วนช่วงการจราจรหนาแน่นรถวิ่งคล่องตัวขึ้น 10% โดยในปริมาณการจราจรเท่ากัน ช่วยลดระยะแถวคอยของรถรอสัญญาณไฟจราจรได้30%

 

สำหรับการติดตั้งเทคโนโลยีครั้งนี้ กทม.ได้รับความร่วมมือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า เป็นหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น คอยให้คำปรึกษาตลอดจนความช่วยเหลือด้านการพัฒนาประเทศอย่างเป็นทางการในนามของรัฐบาลญี่ปุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนา ทั้งการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงส่งเสริมการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ