นับเป็นเรื่องกระทบรายได้หลักของ กทม.เป็นอย่างยิ่ง สำหรับการเปลี่ยนรูปแบบการเก็บภาษีของรัฐบาล จากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งคำนวณจากรายได้ผลประกอบการเป็นหลัก มาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คำนวณจากมูลค่าที่ดินและสภาพอาคารเป็นหลัก กอปรกับการออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท ปี 2564 อัตราร้อยละ 90 และ อัตราร้อยละ 15 ในปี 2566 เพื่อบรรเทาสถานการณ์โควิดและหวังฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งผลให้รายได้ของ กทม.หายไป 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้รัฐนำไปใช้ในนโยบายดังกล่าว แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีชดเชยรายได้คืนแก่ กทม. เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 จำนวน แล้ว 1,245.75 ล้านบาท แต่ก็ยังขาดอีก 24,698.56 ล้านบาท
งานนี้ร้อนถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะผู้ว่าฯกทม. ออกมาเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนหลายครั้ง เพื่อให้รัฐทบทวนแนวทางเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งกระทบภาคท้องถิ่นและประชาชนเข้าอย่างจัง ล่าสุดมีการจัดเวทีสาธารณะ เรื่อง ‘ชำแหละกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและผลกระทบต่อรายได้ท้องถิ่น’ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่พบจากการลงพื้นที่และช่องว่างทางกฎหมาย โดยภาพรวมผู้ประกอบการรายใหญ่ถือครองที่ดินมาก กลับเสียภาษีน้อยลง ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็ก ถือครองที่ดินน้อย กลับเสียภาษีมากขึ้น
นายชัชชาติ กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจคือแนวทางการเก็บภาษีดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ บรรเทาสถานการณ์โควิด และลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่ เช่น หอพักต่างๆ ควรจัดเก็บภาษีเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เพราะวัตถุประสงค์คือให้เช่า จากการลงพื้นที่ พบว่า หอพักเสียภาษีลดลง จากเดิมเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินปีละ 1 ล้านบาท เปลี่ยนมาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลงเหลือปีละ 2 แสนบาท หรือห้างสรรพสินค้าจากเดิมเก็บภาษีได้ปีละ 10 ล้านบาท ลดเหลือปีละ 1 ล้านบาท ขณะที่เจ้าของที่ดินว่างเปล่าอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายหลบเลี่ยงภาษีโดยการทำการเกษตรจำแลง ซึ่งในปี 65-66 มีแปลงเกษตรจำแลงเพิ่มขึ้นจำนวนมาก 20,000 แปลง กทม.ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มจำนวน เช่น แปลงเกษตรในพื้นที่เมือง(สีแดง) ซึ่งไม่ใช่พื้นที่เพาะปลูก(สีเขียว) แสดงให้เห็นว่ามีการทำเกษตรให้เข้าเกณฑ์เลี่ยงภาษีเท่านั้น ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง ซึ่งตนอยากเสนอว่า หากจะเลี่ยงภาษี มอบให้ กทม.ใช้เป็นพื้นที่เป็นสาธารณประโยชน์ 7 ปี สามารถเว้นภาษีได้ จะมีประโยชน์มากกว่า
โดยภาพรวม กทม.เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น แต่มีที่มาของรายได้ต่างกัน เช่น เดิมผู้ประกอบการจ่ายภาษีมากกว่าผู้ถือครองที่ดิน แต่ปัจจุบันผู้ถือครองที่ดินจ่ายภาษีมากกว่า ยกตัวอย่าง ตามการประเมินและปรับเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ปี 2565-2566 พบว่า ปี 2565 เขตหลักสี่เก็บภาษีศูนย์ราชการได้ 56 ล้านบาท ส่วนปี 2566 เก็บได้ลดลงเหลือ 25 ล้านบาท ขณะที่พื้นที่ขนาด 1 ไร่ ปี 2565 ถูกประเมินภาษี 2.6 ล้านบาท ส่วนปี 2566 ถูกประเมินเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30,000 บาท หรือพื้นที่ขนาดประมาณ 1 ไร่อื่นๆ ถูกประเมินปี 2565 ประมาณ 9 แสนบาท ปี 2566 เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท
“ตามหลักการ ราคาประเมินแต่ละปีเพิ่มขึ้น แต่ไปเพิ่มในที่ดินขนาดเล็ก ขณะที่ที่ดินขนาดใหญ่กลับเสียภาษีน้อยลง ทั้งที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน จึงขอฝากรัฐบาลทบทวนเรื่องวิธีคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมายหรือไม่” นายชัชชาติ กล่าว
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เดิมในปี พ.ศ. 2562 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ มีรายได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ เท่ากับ 36,527.36 ล้านบาท แต่ในปี 2565 ซึ่งผ่านช่วงเวลาของสถานการณ์โควิดไปแล้ว การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ อปท. ทั่วประเทศเท่ากับ 35,439.04 ล้านบาท จากเดิมประมาณร้อยละ 3.0 ในส่วนของกรุงเทพมหานคร เดิมจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ได้ 15,227.58 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562 แต่ในปี พ.ศ. 2565 จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้จำนวน 13,057,94 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 14.2 ข้อมูลนี้สะท้อนนัยว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ลดลงของ อปท. ในเขตเมืองหรือพื้นที่เศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้อำนวยการฝ่ายท้องถิ่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) วิเคราะห์สาเหตุสำคัญที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทำให้รายได้ของท้องถิ่นลดลง เป็นเพราะการกำหนดคำนิยามสิ่งปลูกสร้างที่แคบลงกว่าเดิม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากที่เคยเสียภาษีท้องถิ่น ได้รับการยกเว้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ และภาคอุตสาหกรรมการผลิต การยกเว้นภาษีให้กับกิจการหลายประเภท ที่ควรต้องจ่ายภาษีจากการประกอบธุรกิจห้องเช่า/หอพัก หรือกรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยอนุญาติให้ปรับเปลี่ยนแบบชั่วคราวไปทำการเกษตร และเสียภาษีลดลง และการที่กฎหมายกำหนดวิธีประเมินมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแนวทางบริหารจัดเก็บภาษีที่ยุ่งยาก ทำให้ อปท. มีข้อจำกัดในการบริหารจัดเก็บภาษีให้ครบถ้วนในกำหนดเวลา
ดังนี้ กทม.และหน่วย บพท. จึงขอนำเสนอข้อมูลและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยอุดช่องว่างที่ทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีอย่างไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะ ดังนี้ 1.ทบทวนคำนิยามสิ่งปลูกสร้างให้ครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดิมที่เคยจ่ายภาษีให้ท้องถิ่น เช่น เสาสัญญาณโทรศัพท์ สาธารณูปโภคต่าง ๆ 2.ยกเลิกการอนุญาตให้นำที่ดินรกร้างมาปรับเปลี่ยนเป็นการเกษตรแบบเฉพาะกิจ 3.ยกเลิกการอนุญาตให้หอพักหรือกิจการห้องเช่า/บ้านเช่าจ่ายภาษีในอัตราของที่อยู่อาศัย และ 4. ทบทวนการประเมินมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจ และการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดการกระจายภาระภาษีอย่างเป็นธรรม และไม่ส่งผลทำให้รายได้ของ อปท. ลดลงอย่างไม่สมควร