วันหยุดสุดสัปดาห์  พาทุกท่านมาทำความเข้าใจกับเพชฌฆาตสารพิษ ไซยาไนด์ (Cyanide) มหันตภัยใกล้ตัว "ไซยาไนด์" (Cyanide) เป็นสารเคมี มีพิษสูงออกฤทธิ์อย่างรวดเร็วหลังได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาไซยาไนด์จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ ทำให้เซลล์นำออกซิเจนไปใช้ไม่ได้จนเป็นอันตรายถึงชีวิต ไซยาไนด์ มีกลิ่นเฉพาะตัวเรียกว่ากลิ่นอัลมอนด์ขม (Bitter almond)  พบได้หลายรูปแบบได้แก่ ภาวะก๊าซ Hydrogen cyanide เป็นแก๊สไม่มีสี อาจพบได้จากการเผาไหม้สารพลาสติก เมลามีน ขนสัตว์ และหนังเทียม มักพบในเหตุเพลิงไหม้

 ไซยาไนด์ เป็นก้อนผลึกหรือผงสีขาว เช่น Sodium cyanide และ Potassium cyanide มักนำไปใช้ในงานอุตสาหกรรม การชุบโลหะ การสังเคราะห์สารเคมี เช่น น้ำยาประสานทอง  สี และสารเคมีกำจัดแมลงบางชนิด และยังพบได้จากเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านบางชนิดเช่น น้ำยาล้างเล็บมี acetonitrile ปนอยู่ และน้ำยาล้างเครื่องเงิน

เมื่อร่างกายได้รับสารไซยาไนด์จะทำให้เซลล์เกิดภาวะขาดออกซิเจนเฉียบพลัน ความรุนแรงขึ้นกับปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับ คนไข้จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนแรงทั่วร่างกาย หายใจลำบาก ความดันเลือดตก หมดสติ ชัก ช็อค และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

การดูแลรักษาทำได้ดังนี้1.ถ้าเกิดจากการสัมผัส ให้รีบล้างบริเวณนั้นโดยเร็วที่สุดโดยใช้น้ำสบู่ ถ้ามีการปนเปื้อนเสื้อผ้าให้รีบถอดเสื้อผ้านั้นออก 2.ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้รีบทำปฏิบัติการกู้ชีวิต (CPR) แต่ห้ามเป่าปากเด็ดขาด 3. รีบนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว

ปัจจุบันกลุ่มงานยาเสพติด กองพิสูจน์หลักฐานตำรวจ มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจพิสูจน์ยาพิษหรือสารพิษจากอาหาร เครื่องดื่ม และจากวัตถุอื่นๆที่เกี่ยวข้องในคดีประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายมนุษย์  สามารถออกรายงานการตรวจพิสูจน์โดยมีผู้ชำนาญที่เป็นผู้ตรวจพิสูจน์ที่มีวุฒิเภสัชศาสตร์  

มีห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์ที่ได้รับรองมาตรฐาน iso  17025 : 2017    ​​​​​​​

ส่งตรวจพิสูจน์ได้ที่ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง  กลุ่มงานยาเสพติด  อาคาร 14-15 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังต์ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. 10330