ปัจจุบันเรื่องของการ "ท่องเที่ยว" แบบท้าทายระทึกใจ! มีหลายแพ็กเกจให้ได้ลองสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการ "เดินป่า" หรือการ "ปีนภูเขาสูง" แม้กระทั้งการ "ท่องอวกาศ" ก็มีไว้ให้ลูกค้าได้ใช้บริการ และการท่องเที่ยวแบบดำดิ่งสู่ห่วง "ทะเลลึก" กำลังได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวที่มีเงินถุงเงินถัง  

 

- เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น...!

เป็นข่าวดังไปทั่วโลก! เมื่อเรือดำน้ำขนาดเล็ก ชื่อว่า "ไททัน" ของ "บริษัท โอเชียนเกต เอกซ์เพดิชันส์" ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่จัดบริการนำเที่ยวใต้ทะเลลึก โดยมีแพ็กเกจให้บรรดาลูกค้าซึ่งสาวนใหญ่เป็น "มหาเศรษฐี" ลงเรือดำดิ่งลงไปชมซาก "เรือไททานิก" ที่อัปปางจมอยู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก ที่ความลึก 3,800 เมตร 

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2566 (ตามเวลาท้องถิ่น) เมื่อเรือดำน้ำ "ไททัน" ที่ลงไปสำรวจใต้ทะเล ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที ก็ขาดการติดต่อ และสูญหายไปพร้อมกับลูกเรือและนักท่องเที่ยวมหาเศรษฐี รวม 5 คน

 

โดยการทัวร์ครั้งนี้ มีผู้โดยสารร่วมคณะไปด้วย จำนวน 5 คน ได้แก่ 

1."นายฮามิช ฮาร์ดิง" นักธุรกิจพันล้าน และยังเป็นนักสำรวจชาวสหราชอาณาจักร และประธานบริษัทด้านอากาศยาน แอ็กชัน เอวิเอชัน 

2."นายชาห์ซาดา ดาวูด" นักธุรกิจชาวปากีสถาน 

3. "นายสุเลมาน ดาวูด" บุตรชายของ "นายชาห์ซาดา ดาวูด" 

4. "นายปอล อองรี นาโชเลต์" นักสำรวจชาวฝรั่งเศส 

5. "นายสต็อกตัน รัช" ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ( ซีอีโอ ) บริษัท โอเชียนเกต เอ็กซ์เพดิชันส์ เจ้าของเรือดำน้ำไททัน

 

- ปฎิบัติการ "ค้นหา" เริ่มต้นขึ้น...!  

ทางการสหรัฐฯ แคนาดา และฝรั่งเศส ระดมทั้งเรือ และเครื่องบิน ออกค้นหาเรือรอบพื้นที่ประมาณ 1,450 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเคปคอด (Cape Cod) บางลำทิ้งทุ่นโซนาร์ ที่สามารถตรวจสอบได้ลึกเกือบ 4,000 เมตร แต่การค้นหาซับซ้อน เนื่องจากไม่ทราบว่าเรือยังดำน้ำอยู่ หรือโผล่ขึ้นผิวน้ำมาแล้ว นั่นหมายความว่าทีมค้นหาต้องค้นหาทั้งผิวน้ำ และใต้มหาสมุทร ที่มีความลึกเกือบ 4,000 เมตร และมีแรงกดดันมหาศาลมากถึง 400 เท่าของระดับผิวน้ำทะเล 

 

- "ฝรั่งเศส"ส่งหุ่นยนต์ช่วยค้นหา...!

"นายเอ็มมานูเอล มาครง" ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ได้สั่งให้เรือวิจัย Atalante ของฝรั่งเศสได้เข้าร่วมในปฏิบัติการค้นหาด้วย เนื่องจากบนเรือมีหุ่นยนต์อัตโนมัติ Victor 6000 ซึ่งสามารถลงไปใต้น้ำได้ลึกถึง 4,000 เมตร ซึ่งมากกว่าตำแหน่งที่ซากเรือไททานิกจมอยู่ 

 

- "แคนาดา"ส่งเรือร่วมปฎิบัติการณ์...!

"กระทรวงกลาโหมแคนาดา" ได้ระดมเรือหลายลำไปช่วยปฏิบัติการดังกล่าว โดยมีเรือลำสำคัญ คือ เรือ HMCS Glace Bay ซึ่งมีทั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การดำน้ำ ที่ติดตั้งห้องอัดความดันอากาศที่จะช่วยรักษาหรือป้องกันอาการป่วยของผู้ที่เผชิญกับความดันที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

 

- แข่งกับเวลา...!

"เรือดำน้ำไททัน" มีออกซิเจนใช้ได้เพียง 96 ชั่วโมง หรือ 4 วัน นับจากวันที่เรือได้สูญหาย คาดว่าน่าจะหมดลงในเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 22 มิ.ย. (ตามเวลาในไทย) ซึ่งก็จะมีเวลาแค่ 4 วันในการค้นหาช่วยเหลือ

นอกจากนี้ เรือดำน้ำไททัน มีขนาดเล็กและแคบมาก โดยมีขนาดเพียง 670 ซม. x 280 ซม. x 250 ซม. (ยาว 22 ฟุต กว้าง 9.2 ฟุต สูง 8.3 ฟุต) และสามารถบรรทุกลูกเรือได้เพียง 5 คน เป็นกัปตัน 1 คนและผู้โดยสาร 4 คนต้องนั่งบนพื้น และมีพื้นที่จำกัดในการขยับตัว 

 

-ทีมค้นหาเริ่มมีความหวัง...!

หลังจาก 3 วันที่เรือดำน้ำไททันสูญหาย หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ยืนยันว่า ทีมค้นหาได้ยินเสียงใต้น้ำ ซึ่งดังขึ้นทุกๆ 30 นาที แต่ไม่ได้ให้คำอธิบายว่าเป็นเสียงของการกระแทก ยังคงได้ยินเสียงตอบรับเพิ่มเติม ซึ่งช่วยในการกำหนดพื้นที่เหนือพื้นผิวทะเล และยังเป็นสิ่งบ่งชี้ด้วยว่ายังมีความหวังว่าจะมีผู้รอดชีวิต

 

- ถึงกำหนดเส้นตายในการค้นหา...!

ภายหลังปฎิบัติการณ์ค้นหาเรือดำน้ำไททัน ล่วงเลยมาถึงวันที่ 22 มิ.ย.66 (ตามเวลาในประเทศไทย) ซึ่งเป็นวันที่ 5 และเป็นวันสุดท้าย เนื่องจากออกซิเจน ที่มีอยู่ในเรือจะหมดลง นั้นหมายถึงลูกเรือทั้งหมดจะอยู่ในอันตราย

 

- ไม่มี"ปาฏิหาริย์"...!

เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 23 มิ.ย.66 (ตามเวลาในประเทศไทย) หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ได้แถลงว่า พบเศษชิ้นส่วนที่อยู่ใกล้กับซากเรือไททานิก ที่จมอยู่ใต้ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก บ่งชี้ว่า เป็นเรือดำน้ำท่องเที่ยวขนาดเล็ก "ไททัน" ที่ขาดการติดต่อ ระหว่างการดำสำรวจซากเรือไททานิก พร้อมด้วยผู้โดยสาร 5 คน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่า เรือดำน้ำลำดังกล่าว เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง จากแรงกดดันมหาศาลใต้ทะเลลึก และทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตทั้งหมด

 

- เสร็จสิ้นภาระกิจค้นหา...!

 "พลเรือตรี จอห์น มอเกอร์" ผู้บัญชาการยามฝั่งสหรัฐฯ เขตที่ 1 ผู้นำปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำ “ไททัน” ระบุว่า จากข้อสรุปดังกล่าว หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ได้แจ้งให้ครอบครัวของผู้โดยสารทั้ง 5 คน ทราบโดยทันที และในนามของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำ “ไททัน” ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง กับครอบครัวของผู้โดยสารทุกคน