วันที่ 23 มิ.ย.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...

อัพเดตโควิด-19

"สถานการณ์โลก"

เมื่อคืนนี้ องค์การอนามัยโลกเพิ่งออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update วันที่ 22 มิถุนายน 2566

ล่าสุด ได้มีการตัด Omicron สายพันธุ์ย่อย BQ.1 ออกจากรายชื่อของสายพันธุ์ที่ติดตามเฝ้าระวัง เพราะมีอัตราตรวจพบน้อยมากแล้ว

ทำให้เหลือ 8 สายพันธุ์ย่อยที่ยังคงเฝ้าระวังอยู่ ได้แก่ XBB.1.5, XBB.1.16, BA.2.75, CH.1.1, XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2, และ XBB.2.3 โดยสองตัวแรกเป็น Variants of Interest (VOI) และที่เหลือจัดเป็น Variants under Monitoring (VUM)

สำหรับภาพรวมการตรวจพบสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ของทั่วโลกจนถึง 4 มิถุนายน 2566 พบว่า XBB.1.5 ยังครองสัดส่วนสูงสุดที่ 23.31% โดยลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ XBB.1.16 พบเพิ่มเป็น 21.92% ตามมาด้วย XBB.1.9.1 พบ 17.81% และ XBB.1.9.2 พบ 12.05% ส่วน XBB.2.3 นั้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยพบอยู่ราว 5%

"สายพันธุ์ที่ระบาดในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น"

ข้อมูลจากรัฐบาลกรุงโตเกียว จนถึง 4 มิถุนายน 2566 ชี้ให้เห็นว่า XBB.1.16 นั้นพบมากที่สุด 29.5% โดยมีแนวโน้มลดลง

ตามมาด้วย XBB.1.5 และ XBB.1.9.1 พบ 17.9% เท่ากัน

ในขณะที่ XBB.2.3 ตรวจพบมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มจากสัปดาห์ก่อน 10.6% มาเป็น 16.1%

"การติดเชื้อซ้ำในยุค Omicron สูงกว่าสมัยเดลต้าหลายสิบเท่า"

รายงานการศึกษาจากทีมงาน US CDC เผยแพร่ในวารสาร MMWR วันที่ 23 มิถุนายน 2566

จากการติดตามจนถึงปลายปีที่แล้ว พบว่าอัตราการติดเชื้อซ้ำในยุค Omicron นั้นสูงกว่าสมัยสายพันธุ์เดลต้าอย่างมาก

โดยหากดูในบรรดาผู้ที่ติดเชื้อ จะพบว่าอัตราติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) ในยุค Omicron จะมากกว่าเดลต้าถึง 20-40 เท่า

ในขณะที่หากดูในผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่าเป็นการติดเชื้อซ้ำในยุค Omicron มากกว่าเดลต้าถึง 10-20 เท่า

ผลการศึกษานี้จึงเป็นหลักฐานที่จะกระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประมาทในการใช้ชีวิตประจำวัน

ระมัดระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี

เลี่ยงการกินดื่มร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน

หากไม่สบาย ควรรีบตรวจรักษา ถ้าตรวจพบว่าติดเชื้อ ควรแยกตัวอย่างน้อย 7-10 วันจนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำได้ผลลบ

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

ติดแต่ละครั้ง เสี่ยงป่วย ป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID ได้

อ้างอิง

1. WHO Weekly Epidemiological Update. WHO. 22 June 2023.

2. https://www.fukushihoken.metro.tokyo.lg.jp/.../0622.pdf

3. Trends in Laboratory-Confirmed SARS-CoV-2 Reinfections and Associated Hospitalizations and Deaths Among Adults Aged ≥18 Years — 18 U.S. Jurisdictions, September 2021–December 2022. MMWR. 23 June 2023.