ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การเติบโตอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้นำหลักการของ BCG Model ที่มีแนวทางให้นำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม และวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนประเทศ สอดคล้องกับการกำหนดแนวทางใหม่ในการพัฒนาชาวนา ภายใต้หลักคิด  “ปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน” กรมการข้าวจึงกำหนดเป้าหมาย ส่งเสริมการปลูกข้าวตามหลัก BCG Model ในศูนย์ข้าวชุมชน จำนวน 292 ศูนย์ พื้นที่ดำเนินการ 58,400 ไร่ พื้นที่ให้บริการ 62 ล้านไร่

นายคารมย์ ขุนหล้า ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร เปิดเผยว่า ตามที่กรมการข้าวมีการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตข้าว โดยการทำนาแบบประณีต หรือการใช้ระบบชีวมวล ชีวภาพ และจุลินทรีย์ ที่ลดละเลิกการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูข้าว และ ปุ๋ยเคมี รวมทั้งการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร ให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพข้าว ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถ พัฒนาและการยกระดับมาตรฐานข้าวไทยสู่เวทีการส่งออกในต่างประเทศ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร จึงสนับสนุนศูนย์ข้าวชุมชนไบโอชาร์บ้านนา  1 ใน 292 ให้ปลูกข้าวด้วยระบบ BCG Model  เน้นการใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว 

นายรังสิทธิ์ โสมเกียรติตระกูล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ เจ้าหน้าที่โครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในศูนย์ข้าวชุมชนไบโอชาร์บ้านนา และศูนย์ข้าวชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดนครพนม ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนครได้แนะนำให้ลดต้นทุนการทำนาโดยใช้หลักการ 3 ลด 1 เพิ่ม 2 ปฏิบัติ โดย ลดที่ 1 ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ ลดที่ 2 ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดที่ 3 ลดการใช้สารเคมี เพิ่ม 1 เพิ่ม คือเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ส่วน 2 ปฏิบัติก็คือ 1.ปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  2. ทำบัญชีครัวเรือน ปัจจุบันชาวนาจำนวนมากนำหลักการดังกล่าวมาผสมผสาน ประยุกต์ และนำสู่การปฏิบัติและเกิดผลที่สอดคล้องกับ BCG Model ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน สิ่งสำคัญที่ศูนย์ข้าวชุมชนไบโอชาร์บ้านนานำมาผสมผสาน และประยุกต์ใช้ คือ นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร 

นางสุดสดา ซองศิริ ประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ตำบลโพนทอง เล่าว่า ศูนย์ข้าวชุมชนไบโอชาร์บ้านนาทำนาโดยเน้นการลดต้นทุนด้วยหลักการ 3 ลด 1 เพิ่ม 2 ปฏิบัติมานานแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับการเกษตรระบบ BCG model ในปัจจุบัน  ข้าวที่ผลิตได้มีทั้งข้าวคุณภาพดี เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และข้าวอินทรีย์ โดยมีตลาดรับซื้อข้าวเปลือกในชุมชน มีเครือข่ายซื้อขายข้าวคุณภาพดีและข้าวอินทรีย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนไบโอชาร์บ้านนามีความภาคภูมิใจมากที่สามารถผลิตและจำหน่ายข้าวได้ตามนโยบายของกรมการข้าว และน่าจะเป็นศูนย์ข้าวชุมชนต้นแบบด้านการผลิตและการตลาดข้าวให้ชาวนาทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

โครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก เป็นแนวทางที่สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถบริหารความหลากหลายที่ตนเองมีอยู่ และมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการปลุกข้าว ส่งผลให้อาชีพทำนาเป็นอาชีพที่มีรายได้มั่นคง ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เศรษฐกิจไทย สังคมไทย เติบโต แช่งขันได้ในระดับโลก