วันที่ 22 มิ.ย.66 ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานสำนักงานประชาสัมพันธ์ ว่า สำนักงานประชาสัมพันธ์มีความสำคัญเรื่องการสื่อสารรับฟังความเห็นประชาชน และเผยแพร่ผลงาน กทม. ที่ผ่านมายอมรับว่า กทม.มีจุดอ่อนเรื่องการสื่อสาร เนื่องจากประชาชนอาจยังไม่เห็นว่า กทม.ทำอะไรบ้าง ปัจจุบันมีการปรับปรุง เช่น การแต่งตั้งทูตสื่อสาร กทม.(BMA PR Ambassador) 33 คน โดยรวมบุคลากรจากฝ่ายต่างๆ มาช่วยกันสื่อสาร เผยแพร่การทำงานของ กทม.ให้ครอบคลุมมากขึ้น เป็นหัวใจสำคัญ

 

ปัจจุบัน การสื่อสารมีหลายช่องทาง เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ติ๊กต็อก หนังสือพิมพ์ วิทยุ การดูแลประชาชนทุกกลุ่มจำเป็นต้องใช้สื่อให้ครอบคลุม โดย กทม.พยายามประชาสัมพันธ์นโยบายผ่านช่องทางต่างๆ ให้มีเนื้อหาคุณภาพ กระชับ น่าสนใจ นอกจากนี้ ได้ให้นโยบายว่า การประชาสัมพันธ์ต้องวัดผลได้ และถูกทาง เพื่อบริหารจัดการได้ เช่น แต่ละเขตมีการออกสื่อกี่ครั้งต่อวัน มีผู้ตอบรับแต่ละช่องทางมากน้อยเพียงใด เพื่อชี้วัดว่า ประชาชนเข้าใจสิ่งที่นำเสนอไปมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ต้องมีการสื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยวางแผนนำเสนอเนื้อหาล่วงหน้าให้ชัดเจน ขณะเดียวกัน ต้องสร้างเครือข่ายในการรับฟังและการกระจายข่าว

 

นายชัชชาติ มองว่า ในอนาคตผู้คนอาจไม่เชื่อเจ้าขององค์กรหรือเจ้าของสินค้า แต่ประชาชนจะเชื่อและรับฟังกันเองดังนี้ สิ่งที่มีประโยชน์มากของ กทม.คือ การประชาสัมพันธ์โดยไม่ต้องประชาสัมพันธ์ หรือการสื่อสารโดยไม่ต้องสื่อสาร หมายถึง หากประชาชนรู้สึกได้เองว่าชีวิตดีขึ้น จะช่วยขยายการประชาสัมพันธ์ออกไป เป็นเป้าหมายที่กทม.พยายามทำ

 

อย่างไรก็ตาม ตนพยายามทำตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ให้บุคลากร กทม.ได้เห็นผ่านการไลฟ์สด เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น อาจมีการตำหนิกันบ้าง แต่เป็นความจริงที่ไม่ปิดบัง ทำให้ทุกคนตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งการไลฟ์สดเป็นการสื่อสารถึงประชาชน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในการทำงาน เพราะไม่ทราบว่า ผู้ว่าฯกทม.จะลงพื้นที่จุดไหน เมื่อใด ถือว่ามีประสิทธิภาพพอสมควรในแง่การกระตุ้นการทำงาน

 

ยกตัวอย่าง กรณีไฟไหม้ที่กรุงเทพกรีฑา ตนลงพื้นที่เวลา 22.00 น. พบบุคลากร กทม.หลายภาคส่วนลงพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว เป็นสิ่งที่ตนอยากเห็นว่า กทม.ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาประชาชน โดยเฉพาะการลงพื้นที่ของผู้บริหาร ดังนั้น การไลฟ์สดถือว่าได้สื่อสารการทำงานให้ประชาชนเห็นว่า กทม.ให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันก็กระตุ้นการทำงานของบุคลากรทุกระดับ อย่างไรก็ตาม การไลฟ์สดของแต่ละหน่วยงาน แต่ละคน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม สภาพพื้นที่และความถนัด ตนไม่ได้ระบุให้แต่ละเขตต้องทำ เพียงแต่ให้มีการสื่อสารกับประชาชนว่า กทม.ทำงานอะไรบ้าง และรับฟังความเห็นประชาชน โดยเฉพาะ ระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ถือเป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่ง เพราะมีการรับปัญหาจากประชาชน และนำไปแก้ไขเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบและขยายผลต่อไป