ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
"ชีวิตของคนเราทุกคนในทุกวันนี้ มีความหมายปรวนแฝดแปรที่ต้องค้นหานัย อันจริงแท้กันอยู่ในแทบจะทุกเสี้ยววินาที..แท้จริงในความเป็นจริงนั้น..เราคือใคร? หรือ เป็นใครกันแน่?..คำตอบในข้อวินิจฉัยอันยากลำบากนี้ ได้กลายเป็นความหมายที่เชื่อมโยงและผูกติดกับชีวิต ดั่งตราประทับของจิตวิญญาณที่เต็มไปด้วยแง่มุมอันสลับซับซ้อน..ที่ยากจะตีความและเข้าใจ.. มันคือ ฉากทัศน์ของตัวตน ที่ต้องถูกจำกัดความขึ้นด้วยการครุ่นคิด ตรึกตรอง และ ต้องทดลองใช้ชีวิตผ่านกระบวนการอันผาดโผน และ ซึมเซา ของชีวิตแห่งชีวิต ด้วยเนื้อในของการปฏิบัติ และ สำนึกคิด อันชัดเจนและ..ถ่องแท้..อยู่เสมอ"
นี่คือต้นรากของวิถีทัศน์ ที่ได้รับจากหนังสืออันมีค่าต่อการดำรงอยู่ในโลกของวันนี้อย่างมั่นคงและเข้าใจ...
"สบายดี อินโทรเวิร์ท"(The Happy Introvert)..ผลงานเขียนอันทรงภูมิรู้และมีค่าของ.. “อลิซาเบธ เวกลี” นักเขียน นักวิชาการชาวอเมริกัน...ผู้สนใจบุคลิกภาพของผู้คนมาตั้งแต่เด็กๆ..เธอคือผู้เชี่ยวชาญทางด้าน “นพลักษณ” (Enegram)..และ เป็นนักดนตรี..ที่เล่นเพลงโซนาตาของ “เบโธเฟน” พร้อมทั้งพูดถึง “บุคลิกภาพกับความเป็นดนตรีของเขา"
..เธอเป็น "อินโทรเวิร์ท"..ที่ได้นำเราดำดิ่งสู่โลกสภาวะภายในของคนที่อยู่ในโลกเช่นนี้ ด้วยคำถามที่กระตุ้นให้ต้องใช้ความคิด เรื่องราวแห่งภาพแสดง ตลอดจน คำคมที่สะดุดใจ..
แท้จริงแล้ว..คนที่เป็น “อินโทรเวิร์ท” จัดเป็นคนประเภทไหนกันแน่?...เป็นคนซึมเศร้าเหงาหงอย/เป็นคนขาดความเชื่อมั่น/เช่นนั้นหรือ!..
ข้อสันนิษฐานเหล่านี้ล้วนคือ..มายาคติจากสังคม "เอ็กซ์โทรเวิร์ท" เเต่..ในความเป็นจริงแล้วคน "อินโทรเวิร์ท" ก็มีความสุขและสบายดีอยู่..!
ในทางจิตวิทยา.. "อินโทรเวิร์ท" หมายถึง ลักษณะ ความใส่ใจ ที่มุ่งเข้าสู่ด้านในของตนเองมากกว่าโลกภายนอก..แสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่มีแนวโน้มชอบเก็บตัว พูดน้อย ช่างคิดฝัน และ อยู่กับตนเองได้..ซึ่งตรงกันข้ามกับ "เอ็กซ์โทรเวิร์ธ" ที่หมายถึง ลักษณะความใส่ใจที่มุ่งสู่โลกภายนอก มากกว่าด้านในตนเอง โดยจะแสดงออกถึงพฤติกรรมที่มีแนวโน้มชอบสังคม ชอบทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น..ช่างพูด..และ ไม่ค่อยชอบอยู่คนเดียว..
ร.จันเสน นักแปลมากฝีมือคนสำคัญ ผู้แปลหนังสือเล่มนี้..ได้แสดงทัศนะต่อเรื่องนี้..อย่างน่าสนใจว่า..
"คนเราทุกคน มีลักษณะสองด้านนี้อยู่ในตัว ด้านใดเด่นชัดก็จัดเป็นคนประเภทนั้น..คนอินโทรเวิร์ท จึงหมายถึงคน ที่จิตในระดับรู้สำนึกของเขาคลุกอยู่กับภายในตนเอง จะโดดเด่น ในทางสร้างสรรค์ แนวคิดใหม่ๆ..มีบางคน ที่พยายามเปลี่ยนตัวเองให้เป็น"เอ็กซ์โทรเวิร์ท" เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสสังคม แต่ลึกๆแล้วก็ทำไม่ได้ และยิ่งทำให้ตนเอง ขาดความสุข.."
ในวิถีแห่งสัจจะ... "อลิซาเบธ เวกลี" ..ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า..คนเรานั้นเป็นอินโทรเวิร์ทและเอ็กซ์โทรเวิร์ท..มาตั้งแต่เกิด..ด้วยโครงสร้างสมองที่แตกต่างกัน รวมทั้ง รสนิยมและการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ก็แตกต่างกันไปด้วย...คนอินโทรเวิร์ท มีความสุขได้ในแบบของตนเอง..สิ่งสำคัญก็คือ "การเข้าใจตนเองและผู้อื่นอย่างถูกต้อง..รู้จักข้อดีและยอมรับข้อด้อยของตนเอง..และผู้อื่น ตามความเป็นจริง ."
ว่ากันว่า...พ่อแม่หรือครูอาจารย์ สามารถนำความรู้เรื่องข้อต่างบุคคลิก..มาใช้ในการอบรมลูกหลานหรือลูกศิษย์ เพื่อให้เหมาะกับแนวทางเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน และเอื้อให้บุคลิกภาพที่งดงามของพวกเขาได้งอกงามขึ้นมา..เป็นอย่างนี้..นายจ้างจะได้งานที่มีประสิทธิภาพขึ้น ถ้าให้"ลูกน้อยอินโทรเวิร์ทมีความเป็นส่วนตัว วัยรุ่นจะพัฒนาความรู้สึกนับถือศรัทธาได้ดีขึ้น เมื่อเรียนรู้ว่าแนวโน้มแบบอินโทรเวอร์ทและเอ็กซ์โทรเวิร์ท ซึ่งมีค่าเทียมกันของมนุษย์..
สำหรับปัจเจกชนแต่ละคน..การเข้าใจแนวโน้มของตนเอง ว่าเป็นคนประเภทใดนั้น..จะช่วยให้เราเห็นคุณค่าและจุดเด่นของตัวเอง..อีกทั้งจะทำให้รู้ข้อจำกัดของตนเองตามความเป็นจริงมากขึ้น...คนทั่วไปมักเชื่อกันว่า..การอยู่ในทำนองคลองธรรม คือการทำตัวให้สอดคล้องกับกลุ่ม โดยเราจะถูกสงสัยถ้าไม่เป็นไปตามพรรคพวก..ประเด็นความเชื่อเช่นนี้..มีส่วนส่งผลกระทบทางอารมณ์ต่อชาวอินโทรเวิร์มมาก จนทำให้หลายคนหลอกตัวเองว่า... เราเป็น “เอ็กซ์โทรเวิร์ท" เหมือนคนอื่นเขา..
แต่การไม่ยอมรับธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง..นี่เเหละคือ..สิ่งที่สร้างความเครียด.. ข้อสังเกตว่าเราเป็นคนอินโทรเวิร์ทหรือเปล่า..ให้ดูได้จากประเด็นสำคัญอันน่าสนใจต่างๆต่อไปนี้ ..
"เราชอบตำหนิความผิวเผิน/เวลาทำอะไรชอบคิดให้ลึกๆ/มักพอใจที่จะอยู่ตามลำพังกับควาคิด ความรู้สึก และ กิจกรรมของตัวเอง/มีแนวโน้มที่จะชอบในการเรียนรู้ หรือการพัฒนาทักษะในตัวเองมากกว่า จะมองหาแรงกระตุ้นจากภายนอก/ชอบผัดผ่อนซื้อเวลาไปเรื่อยไป เมื่อต้องการหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน/เวลาอยู่ในสังคม บางครั้งชอบถอยออกมาเป็นคนดูมากกว่า จะเข้าไปคลุกวงใน/ความสามารถในการจำชื่อคน อยู่ในขั้นปานกลางจนถึงต่ำ/เวลาคุยกันเป็นกลุ่ม กว่าจะคัดสรรกลั่นกรองความคิดของตัวเอง จนพร้อมที่จะพูด บางครั้งประเด็นที่คนอื่นเขาคุยกัน ก็เปลี่ยนไปเสียแล้ว/จะเป็นตัวเองได้ง่ายขึ้น ถ้ารู้สึกสบายๆกับใครสักคน/ไม่ชอบถูกถามคำถาม คลุมๆกว้างๆ โดยเฉพาะจากคนแปลกหน้า../บางครั้ง ใครๆก็เพิ่งมาตระหนักว่า เราเป็นคนน่าสนใจ..หลังจากที่เขารู้จักมักคุ้นแล้ว../และที่น่าสังเกต ลีลาการพูดของคนอินโทรเวิร์ทจะเป็นไปในแนวทางสงบและเยือกเย็นเสมอ"
ตามสถิติ..ที่น่าใคร่ครวญก็คือว่า..คนที่เป็นอินโทรเวิร์ท มีเพียงร้อยละ 25-30 ของประชากรสหรัฐอเมริกา เหตุนี้คนอินโทรเวิร์ทจึงรู้สึกแปลกแยก จากคนเอ็กซ์โทรเวิร์ทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ และอยู่ในวัฒนธรรมกระเเสหลัก../ดังนั้นพวกอินโทรเวิร์ท จึงมีแนวโน้มที่จมีความเป็นปัจเจกอยู่กับตัวเอง รู้สึกเหินห่างแม้แต่กับคนที่เป็นอินโทรเวิร์ทด้วยกัน กระทั่งบางคน เมื่ออยู่ท่ามกลางผู้คน .ก็ถึงกับถือเป็นประสบการณ์เชิงลบของชีวิตเลยทีเดียว..ดังทัศนะของ"ฟรีดริช นิทเช"ที่ดูเหมือนได้เน้นย้ำเอาไว้ว่า..
"ข้าปลีกตัวสู่ความวิเวก เพื่อจะได้ไม่ต้องร่วมดื่มน้ำกับใครๆ เมื่ออยู่ท่ามกลางพหุชน ข้าใช้ชีวิตเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่และไม่ได้คิดอะไรจริงๆเลย..การอยู่ในหมู่ชนนานๆ มักให้ความรู้สึกคล้ายพวกเขา อยากลบข้าไปเสียจากตัวข้า และขโมยข้าไปเสีย จากจิตวิญญาณของข้าเอง.."
ในช่วงปฐมวัย..นับจากวันทารก..อินโทรเวิร์ทส่วนใหญ่อ่อนไหวเปราะบางต่อข้อมูล ที่เข้ามาทางประสาทสัมผัสทั้งหลาย เด็กอินโทรเวิร์ท จีงค่อนข้างสบายใจกว่า เมื่อแยกตัวเป็นคนดูอยู่ห่างๆ เมื่อโตขึ้น พวกเขาอาจต้องการมีปฏิสัมพันธ์ แต่ต้องฝ่าอุปสรรคบ้าง เพราะไม่ได้ฝึกเข้ากลุ่ม และพูดคุยต่อเนื่อง เหมือนเด็กอื่นๆ....พวกเขาชอบเล่นคนเดียว เพราะการอยู่คนเดียว พวกเขาจะสบายใจกว่าเยอะ แม้บางคนจะเข้ากลุ่มได้อย่างไม่มีปัญหา แต่โดยเนื้อแท้ก็ยังอยากอยู่คนเดียว..
"เมื่อเกิดปัญหาปลีกย่อยขึ้นในชีวิต ฉันมักย้อนมองด้านในตนเองเพื่อหาคำตอบ ฉันไม่เคยออกไปถามใครๆว่า..ตัวเองควรหรือไม่ควรทำอะไร.."
ในกระบวนการทางจิตใจ พวกอินโทรเวิร์ท จะเข้าใจเรื่องราวหรือสถานการณ์ต่างไป ก็ต่อเมื่อได้นำข้อมูลเหล่านั้น มาย่อยและคลุกเคล้าเข้ากับตัวตนทางจิตวิทยาของตัวพวกเขาเอง พวกเขามักไม่รู้ถึงกระบวนการนี้ แต่ระหว่างที่มันยังดำเนินไปไม่เสร็จสิ้น..พวกเขาก็อาจไม่รู้ว่า..ตัวเองรู้สึกอย่างไรหรือต้องการอะไร อีกทั้งพฤติกรรมก็อาจดูลังเลและเฉื่อยเฉย
"บางครั้ง การใช้เวลาคิดไม่มากของเอ็กซ์โทรเวิร์ท ก็ส่งผลเป็นพฤติกรรมที่หุนหัน แตกแยกวุ่นวาย..ตรงกันข้ามกับคนอินโทรเวิร์ท ที่มักเก็บอารมณ์ ขณะที่คิดใคร่ครวญเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง ซ้ำยังใคร่ครวญซ้อนใคร่ครวญเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง...ตราบใดที่ประสบการณ์หนึ่งยังไม่เข้ากันสนิทกับความรู้สึกนึกคิดและภาพจำ จากประสบการณ์อื่นๆ อินโทรเวิร์ทอาจรู้สึกไม่แน่ใจ..สับสน..และไม่ค่อยแสดงออก...
"อินโทรเวิร์ทใคร่ครวญข้อมูลใหม่ๆ อย่างละเอียดเและมีปฏิกิริยาค่อนข้างช้า... เอ็กซ์โทรเวิร์ทชอบกระทำมากกว่า..พวกเขารับข้อมูลมาคิดและมีปฏิกิริยาตอบกลับ แทบจะทันที"
ในท้ายที่สุด..ชาวอินโทรเวิร์ทถือว่า..มีแนวโน้มที่จะอยู่กับโลกภายในของตัวเองได้อย่างสบาย..ไม่ว่าจะเป็นในการคิด การรู้สึก หรือ ห้วงเวลาที่สัมผัสกับความว่าง ...โลกส่วนตัวนั้น อาจเป็นที่มาแห่งความสุข ความประโลมใจ ความหมองเศร้า หรือความบันเทิงก็ได้
ซึ่งก็คงพอสรุปได้กว้างๆว่า..คนที่ใชัเวลาอยู่ตามลำพังมากๆ คือ "อินโทรเวิร์ท"...ส่วนพวกเอ็กซโทรเวิร์ท คือ พวกที่มุ่งคิด และฝันถึงการสร้างผลกระทบต่อโลกภายนอก..
การที่จะระบุว่า...ใครที่เป็นอินโทรเวิร์ท อาจทำได้ยาก ในขณะที่พวกเขากำลังเล่นบทบาทตามสายงานอยู่..เช่นเป็น พิธีกร มัคคุเทศก์ ครู หรือ นักแสดง..ดาวตลกที่เป็นอินโทรเวิร์ทอย่าง สตีฟ มาร์ติน /โรแวน แอทกินส์("มิสเตอร์บีน")มักมีมุกเด็ดเป็นเอกลักษณ์ และซ่อนตัวไว้เบื้องหลังหรือบทบาทเว่อร์ๆ
"อินโทรเวิร์ท" อาจหลีกเลี่ยงสิ่งใหม่ๆ ประสบการณ์ที่เหล่าพวกเขาถนอมไว้ มักหยั่งลึกในใจด้วยการเสพซ้ำๆ เช่นดูหนังเรื่องโปรดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้จะตรงข้ามกับพวกเอ็กซโทรเวิร์ท ที่มักจะสุขใจและสนุกอยู่กับความหลากหลายและการมีกิจกรรมร่วมกับคนอื่น
"อินโทรเวิร์ท..จะกลายเป็นคนเอาจริงเอาจัง และมีพลังโน้มน้าว เมื่อค่านิยมลึกๆของเขาถูกคุกคาม เมื่อหมองเศร้า สับสน หรืออารมณ์เสีย "อินโทรเวิร์ท" มีแนวโน้มที่จะรู้สึก ว่า..ตัวเองพร่อง ไม่ดีพอ กระวนกระวาย หรือมีความรู้สึกเฉื่อยไปเลย..ผิดกับเอ็กซ์โทรเวิร์ท เมื่อตกอยู่ในภาวะอารมณ์แบบเดียวกัน ที่จะรู้สึกคึกคัก แบบหุนหันและอารมณ์ร้าย ติดจะโวยวาย...แต่ก็มีอินโทรเวิร์ทบางคนที่จะแสดงออก โดยการพูดคุยไม่หยุด เมื่ออยู่กับผู้คน ทั้งนี้ก็เพราะว่า..เขารู้สึกวิตกกังวล เมื่อเข้าสังคม"
นี่คือหนังสือ..สุดวิเศษแห่งการเรียนรู้ที่ขุดลึกลงไปในใจ ...ด้วยการพาเราสำรวจโลกภายในของคนอินโทรเวิร์ท ด้วยเรื่องราวและเหล่าคำถามแห่งปริศนาที่กระตุ้นแง่คิดให้ได้ขบคิด..จนสามารถได้พบเห็นและสัมผัสได้ถึง พลังแห่งการสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิดใหม่ๆ ในตัวตนของคนเราได้มากขึ้น..อีกทั้งยังจะเข้าใจพวกเอ็กซ์โทรเวิร์ทได้..โดยไม่เสียความเป็นตัวของตัวเอง...ในขณะที่โลกได้ก้าวหน้ามาและจะก้าวหน้าไปด้วยคนทั้งสองแบบ...ชาวเอ็กซ์โทรเวิร์ทจะเข้าใจตัวเอง และชีวิตของชาวอินโทรเวิร์ทในชีวิตของเขาได้ดีขึ้น...
"อินโทรเวิร์ท ไม่แน่ใจว่า..โลกจะเข้าใจเขา ด้วยเหตุนี้และเหตุอื่นๆ เขาจึงมักดำเนินการต่างๆไปช้าๆ และ ระมัดระวัง จนบางครั้ง พฤติการณ์ของเขา จึงถูกเข้าใจผิดว่า เป็นความลังเล เฉื่อยเฉย หรือมองโลกในแง่ร้าย..."