คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร ไฟเขียวร่างมาตรฐานฟาร์มไหมอีรี พร้อมอภิธานศัพท์ด้านอาหาร-สุขอนามัยสัตว์บก
วันที่ 21 มิ.ย.66 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 2/2566 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ เป็นมาตรฐานบังคับ โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุเป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. ….
นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไหมอีรี 2.อภิธานศัพท์ด้านอาหาร เล่ม 1 : คุณภาพ ความปลอดภัย และการแสดงฉลาก 3.อภิธานศัพท์สุขอนามัยสัตว์บก และ4.ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมและแนวทางการนำไปใช้ (ฉบับที่ 2) เพื่อดำเนินการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป
ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน ทั้ง 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไหมอีรี การกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับฟาร์มไหมอีรี เพื่อให้ได้ผลิตผลจากไหมอีรีทั้งหนอนไหม ดักแด้ รังไหมที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตลอดจนสร้างศักยภาพในการผลิตและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงใหม่อีรีได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมาตรฐานนี้ครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไหมอีรี ตั้งแต่การจัดการสถานที่เลี้ยงหนอนไหมอีรี จนถึงการบรรจุเพื่อให้ได้หนอนไหมดักแด้มีชีวิต หรือรังไหมที่ปลอดภัยสำหรับนำไปแปรรูปเพื่อการบริโภค ใช้เป็นอาหารสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์อื่น หรือได้รังไหมอีรีที่มีคุณภาพสำหรับการนำไปผลิตเส้นไหม
2.อภิธานศัพท์ด้านอาหาร เล่ม 1 : คุณภาพ ความปลอดภัย และการแสดงฉลาก เนื่องจากคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารร่วม FAO/WHO (Codex Alimentarius Commission, Joint FAO/WHO Food Standards Programme) หรือที่เรียกกันว่า Codex และองค์กรระหว่างประเทศด้านอาหารอื่น ได้มีการกำหนดคำศัพท์และนิยามด้านอาหารเพื่อใช้อ้างอิงในการกำหนดเกณฑ์ด้านคุณภาพความปลอดภัยด้านอาหาร และด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศต่างๆได้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ดังนั้น คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร จึงเห็นสมควรให้จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อรวบรวมศัพท์และคำนิยามด้านอาหารดังกล่าวสำหรับใช้อ้างอิงในการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรให้มีความชัดเจนตามหลักวิชาการและสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน โดยขอบข่ายอภิธานศัพท์ด้านอาหาร เล่ม 1 นี้ ครอบคลุมศัพท์และนิยามด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหารและการแสดงฉลาก
3.อภิธานศัพท์สุขอนามัยสัตว์บก (World Organisation for Animal Health; WOAH) องค์การสุขภาพสัตว์โลก ซึ่งองค์การการค้าโลกให้การยอมรับและใช้อ้างอิงในการดำเนินการภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ได้จัดทำข้อกำหนดสุขภาพสัตว์บก (Terrestrial Code) ขึ้น เพื่อใช้เป็นมาตรฐานการในการค้าสัตว์ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโลกผ่านทางการค้า และเพื่อไม่ให้มีการนำหลักสุขภาพอนามัยสัตว์มาใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมกันนี้ได้บัญญัติคำศัพท์สำหรับให้ประเทศสมาชิกใช้อ้างอิงเพื่อให้เกิดความชัดเจนและความเข้าใจที่สอดคล้องกันเมื่อนำข้อกำหนดสุขภาพสัตว์บกไปใช้ปฏิบัติ ดังนั้น คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร จึงเห็นสมควรจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องอภิธานศัพท์ข้อกำหนดสุขภาพสัตว์บกสำหรับใช้อ้างอิงในการนำข้อกำหนดสุขภาพสัตว์ปกของ WOAH ไปใช้และใช้ในการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรให้มีความชัดเจนตามหลักวิชาการ และสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน โดยเป็นข้อมูลทางวิชาการสำหรับการกำหนดศัพท์และนิยามในมาตรฐานสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกัน
4.ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมและแนวทางการนำไปใช้ (ฉบับที่ 2) เป็นการปรับปรุงแก้ไข การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.9024-2564) ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยเป็นหลักการของระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Point (HACCP) System) ซึ่งสามารถนำไปพิจารณาใช้ได้ตลอดโซ่อาหารตั้งแต่การผลิตขั้นต้นจนถึงการบริโภคในขั้นตอนสุดท้าย และการนำหลักการ HACCP ไปใช้ ควรเป็นไปตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในด้านความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1) หลักการ 7 ข้อของระบบ HACCP 2) ข้อแนะนำทั่วไปสำหรับการนำระบบ HACCP ไปใช้ และ 3) ขั้นตอนการนำระบบ HACCP ไปใช้ 12 ขั้นตอน
และ 5. การจัดการสำหรับตลาดกลางสินค้าเกษตร ครอบคลุมข้อกำหนดการจัดการสำหรับตลาดกลางสินค้าเกษตรด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สำหรับสำหรับสินค้าเกษตรประเภทพืชอาหารและพืชสมุนไพร โดยมีข้อกำหนดได้แก่ 1) การจัดการระบบคุณภาพของตลาดกลางสินค้าเกษตร 2) ความมุ่งมั่นของฝ่ายบริหารต่อความปลอดภัยด้านอาหาร 3) การจัดการคุณภาพสินค้าเกษตร 4) การจัดการความปลอดภัยด้านอาหารของสินค้าเกษตรทั้งสินค้าเกษตรทั่วไปและที่ได้รับการรับรอง 5) การจัดการสินค้าเกษตรที่อยู่ภายใต้มาตรฐานบังคับ 6) สถานที่ 7) สิ่งอำนวยความสะดวก 8) การจัดการเครื่องมือ อุปกรณ์ 9) การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด 10) การควบคุมสัตว์พาหะนำเชื้อ 11) การจัดการของเสีย 12) สุขลักษณะส่วนบุคคล 13) การให้ข้อมูลผู้ซื้อ และ 14) บันทึกข้อมูล