วันที่ 21 มิ.ย.66 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก "Anan Jongkaewwattana" ระบุว่า...
งานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ออกมาในวารสาร JBC อธิบายบทบาทของไขมันคลอเลสเตอรอลต่อความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสโรคโควิดได้น่าสนใจมากครับ และ อาจสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมโควิดจึงรุนแรงในผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวกลุ่ม 608 ทีมวิจัยพบว่าการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ของไวรัส SARS-CoV-2 ไม่ใช่เพียงแค่ไวรัสไปจับกับโปรตีนตัวรับ ACE2 แล้วจะเข้าสู่เซลล์ได้ทันที ตำแหน่งของ ACE2 บนเซลล์มีความสำคัญ ถ้า ACE2 ไปอยู่บนตำแหน่งบนผิวเซลล์ที่มีชนิดหรือองค์ประกอบของไขมันไม่เหมาะสมการเข้าสู่เซลล์เกิดขึ้นยาก ตำแหน่งบริเวณนั้นเรียกว่า PIP2 cluster แต่ไขมันในกลุ่มคลอเลสเตอรอล (LDL/HDL) ที่อยู่ในกระแสเลือดสามารถเคลื่อนย้ายเปลียนตำแหน่งของ ACE2 บนเซลล์ไปอยู่จุดที่เรียกว่า GM1 cluster ตามภาพจะเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะเกิดการนำอนุภาคไวรัสเข้าสู่เซลล์
คลอเลสเตอรอลมีบทบาทในการย้าย ACE2 ไปอยู่ที่ GM1 เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะหลังการติดเชื้อ แต่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในผู้สูงอายุ และ ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและมีการสะสมของไขมันในเลือด ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสได้ดีกว่า ผู้มีไขมันในเลือดในเกณฑ์ปกติ
ที่น่าสนใจคือ ทีมวิจัยพบว่ายาที่ลดการส่งคลอเลสเตอรอลเข้าเซลล์ หรือ การลดการสร้าง GM1 cluster อาจมีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรงได้