วันที่ 21 มิ.ย.2566 ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวเรื่อง การนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ตรวจจับผู้ขับขี่บนทางเท้า และ ผู้จอดในที่ห้ามจอด โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตรสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. เข้าร่วม

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการทำผิด 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.การจอดในที่ห้ามจอด ซึ่งเป็นเรื่องของตำรวจจราจรเป็นผู้ดูแล 2.การขับขี่บนทางเท้าซึ่งเป็นเรื่องของ กทม.เป็นผู้ดูแล ภายใต้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยเฉพาะการขับขี่บนทางเท้า พบอุบัติเหตุแก่คนใช้ทางเท้าทั่วประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 2,900 ราย ในกทม.เฉลี่ยปีละ 900 ราย โดยความเสี่ยงภัย 1 ใน 3 เกิดขึ้นใน กทม. กอปรกับจำนวนคนในการปฏิบัติหน้าที่ของ กทม.ในการตรวจจับแต่ละจุดมีไม่เพียงพอ กทม.จึงนำเทคโนโลยีตรวจจับผู้ขับขี่บนทางเท้ามาช่วยโดยใช้กล้องวงจรปิดที่มีอยู่ พร้อมติดตั้งระบบวิเคราะห์ภาพเพื่อตรวจจับเพิ่มเติม สามารถบันทึกข้อมูลผู้ขับขี่ได้ เช่นป้ายทะเบียนรถ วันเวลากระทำผิด สามารถทำหน้าที่แทนคนได้ ลดการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้กระทำผิดลดความเสี่ยงในการทุจริตเรียกรับเงิน โดยตั้งแต่วันที่ 1-20 มิ.ย. ตรวจจับไปแล้ว 799 ราย เปรียบเทียบปรับแล้ว771 ราย ตักเตือน 28 ราย มีอัตราเทียบปรับ 2,000 บาท ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลจากกล้องวงจรปิดวันต่อวัน พร้อมนำส่งข้อมูลขอความร่วมมือกับต้นสังกัดผู้กระทำความผิด หวังกระตุ้นจิตสำนึก

 

สำหรับแนวทางจับปรับ ประกอบด้วย 1.ประมวลผลนำข้อมูลจากเทคโนโลยีตรวจจับ 2.เทศกิจทำหนังสือถึงผู้กระทำความผิดให้มาชำระค่าปรับ ภายใน 30 วัน หากยังไม่มาชำระค่าปรับ กทม.จะประสานกับกรมขนส่งทางบกเพื่อดำเนินการต่อไป

 

ปัจจุบัน กทม.เริ่มติดตั้งนำร่องแล้ว 5 จุด ประกอบด้วย 1. ปากซอยรัชดาภิเษก 36 (ซอยเสือใหญ่อุทิศ) สถิติขับขี่บนทางเท้า 2,921 ราย 2. ปากซอยเพชรเกษม 28 สถิติขับขี่บนทางเท้า 1,338 ราย 3. หน้าโรงเรียนนิเวศน์วารินทร์ สถิติขับขี่บนทางเท้า 619 ราย 4. ปากซอยเพชรบุรี 9 สถิติขับขี่บนทางเท้า 49 ราย 5. ปั้ม ปตท.เทพารักษ์ สถิติขับขี่บนทางเท้า 19 ราย เวลาส่วนใหญ่เกิดขึ้นช่วง 8.00 - 18.00 น. (ข้อมูลวันที่ 12-20 มิ.ย.) โดย กทม.ตั้งเป้าขยายเพิ่ม 100 จุดภายในเดือน ก.ย.นี้

 

สำหรับการจับปรับผู้ฝ่าฝืนจอดในที่ห้ามจอด กทม.ใช้เทคโนโลยีเดียวกัน แต่ส่งข้อมูลผู้กระทำผิดให้ตำรวจจราจรดำเนินการตามอำนาจที่มี โดยระบบจะจับเวลารถที่จอดในที่ห้ามจอดเกิน 5 นาที แล้วแจ้งเตือนไปยังไลน์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรพร้อมหลักฐาน เพื่อดำเนินการต่อไป โดยไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่คอยเฝ้าตามที่จุดต่างๆ โดยเริ่มนำร่องแล้ว เช่น บริเวณเซ็นทรัลเวิลด์ และกำลังขยายเพิ่มเติมภายในปีนี้

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.จะประสานกับกรมขนส่งทางบกมากขึ้น เพื่อดำเนินการกับผู้ไม่ชำระค่าปรับตามกำหนด ซึ่งจะมีมาตรการไม่ต่อภาษีป้ายทะเบียนรถผู้กระทำความผิดต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ กทม.ต้องคำนึงคือ สาเหตุของผู้ขับขี่บนทางเท้า เช่น อาจเป็นเพราะจุดกลับรถอยู่ไกลเกินไป มีการก่อสร้างปิดเส้นทาง หรือปัญหาโครงสร้างทางกายภาพ ซึ่งกทม.อาจต้องปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่อไป