ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานคร มีบทบาทในการผลักดัน สนับสนุน เสนอแนวทาง เพื่อให้การแก้ปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามอำนาจหน้าที่รวมทั้งรับฟังปัญหาของประชาชนและได้นำเสนอต่อฝ่ายบริหารเพื่อให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและเป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นเกิดความเข้าใจที่ตรงกันจึงมีการจัดสัมมนาระหว่างสภากทม.กับฝ่ายบริหารกทม.เพื่อระดมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการร่วมกันแก้ปัญหาให้กับประชาชน
นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เพื่อให้การทำงานของสภากรุงเทพมหานครกับฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร เป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน จึงได้จัดการสัมมนาระหว่างสมาชิกสภากรุงทพมหานครทม.และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านการบริหารราชการ กรุงเทพมหานคร การประสานความร่วมมือร่วมกัน และการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-19 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร นำโดยผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ตลอดจนหัวหน้าหน่วยงานของกรุงทพมหานคร และสำนักและเขต เข้าร่วม ซึ่งเป็นการจัดสัมมนาในรูปแบบการเสวนาโต๊ะกลม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์การบริหารงานระหว่างสมาชิกสภากทม.และผู้บริหารกทม. และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (ADE)” โดยศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ)
“นับเป็นโอกาสอันดีที่สภากรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติของ กรุงเทพมหานคร และฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันหารือเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น บูรณาการความร่วมมือ และสร้างสรรค์แนวทางการพัฒนากรุงเทพมหานครร่วมกัน เพื่อการบริหารราชการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวกรุงเทพฯ การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างพื้นฐานการทำงานอย่างสร้างสรรค์ และสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของกรุงเทพมหานคร ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์การบริหารกิจการของกรุงเทพมหานครในแต่ละด้าน ซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนกลไกขนาดใหญ่ที่ชื่อว่ากรุงเทพหมานครไปด้วยกัน เพื่อการพัฒนากรุงเทพมหานครอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” ประธานสภากทม. กล่าว
นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานคร ได้ผลักดัน สนับสนุน เสนอแนวทาง รวมทั้งรับฟังปัญหาของประชาชนและได้นำเสนอต่อฝ่ายบริหารเพื่อให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและเป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เช่น การผลักดันกองทุนพัฒนาชุมชน 200,000 บาท เพื่อกระจายอำนาจและงบประมาณจากส่วนกลางสู่ชุมชนให้มากที่สุด ซึ่งหลายชุมชนก็ได้รับงบประมาณและดำเนินการตามนโนบายได้แล้ว นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power สนับสนุนให้ทุกคนสามารถเรียนรู้เพิ่มทักษะสร้างสรรค์ของตัวเองในทุกด้าน ไม่ว่าทักษะด้านการทำอาหาร ร้องเพลง ออกแบบ ศิลปะ กีฬา เพื่อต่อยอดเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
ผลักดันเรื่องการศึกษานอกเวลาเรียน หรือการเรียนในวันเสาร์ Saturday School ที่มีการเปิดสอนในวิชาอื่นๆ ที่โรงเรียนไม่ได้สอน เด็กสามารถเลือกเรียนตามความสนใจได้ รวมทั้งการแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับเด็กในพื้นที่มากที่สุด การหารือและผลักดันให้ศูนย์บริการสาธารณสุขยกระดับเป็นโรงพยาบาลเพื่อรองรับการให้บริการด้านสุขภาพกับประชาชนชาวกรุงเทพฯ และในเรื่องของ โครงการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทางสภาจะช่วยกันศึกษาและหาแนวทางแก้ปัญหาในอนาคต นอกจากนี้สภากรุงเทพมหานครยังมีหน้าที่ในการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ที่ได้ดำเนินการตามนโยบาย และมุ่งแก้ไขปัญหาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนต่อไป
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดีที่ฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานครได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารราชการร่วมกันกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และในโอกาสที่ทำงานร่วมกันมาครบ 1 ปีด้วย ทั้งการลงพื้นที่ร่วมกัน การบริหารงบประมาณ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวกรุงเทพฯ ซึ่งการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่เน้นการแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาท่อระบายน้ำอุดตัน ปัญหาคลองตื้นเขิน ปัญหาแสงสว่างในพื้นที่ ปัญหาเรื่องความสะอาด ปัญหาทางเท้า และได้มีการสานและต่อผลักดันโครงการขนาดใหญ่เชื่อมโยงการพัฒนาเส้นเลือดฝอย การเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูล การสร้างความโปร่งใสในการทำงาน และความร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเมือง เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน