บมจ.ยัสปาล หรือ JPC ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น และสินค้าไลฟ์สไตล์ รวมถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายที่นอน เครื่องนอน ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 156 ล้านหุ้น เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน พร้อมระดมทุนก้าวสู่หนึ่งในผู้นำธุรกิจแฟชั่นไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับสากลที่นำความสุขที่ยิ่งใหญ่มาสู่ผู้คนนับล้านทั่วโลก ยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก
นายจรัญ สิงห์สัจจเทศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยัสปาล จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ” หรือ “JPC”) เปิดเผยว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย (รวมเรียกว่า กลุ่มบริษัทฯ) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิต จัดหาและจัดจำหน่ายเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ (กลุ่มธุรกิจสินค้าแฟชั่น) ภายใต้แบรนด์ที่กลุ่มบริษัทฯ เป็นเจ้าของ (Inhouse Brand) และแบรนด์ที่กลุ่มบริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนจำหน่าย และ/หรือ ให้จัดจำหน่าย และ/หรือ ให้ผลิตและเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย และ/หรือ ได้รับสัญญาแฟรนไชส์ และ/หรือ ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Import Brand) ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก รวมกันกว่า 19 แบรนด์ เช่น Jaspal (ยัสปาล), ) Misty Mynx (มิสตี้ มิงซ์), CC Double O (ซีซี ดับเบิ้ลโอ), CPS CHAPS (ซีพีเอส แชปส์), Lyn (ลิน), Lyn Around (ลิน อะราวนด์), Fred Perry (เฟร็ด เพอร์รี่), Diesel (ดีเซล), Superdry (ซุปเปอร์ดราย) เป็นต้น โดยเป็นสินค้าแฟชั่นที่มีการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสม มีความทันสมัยและหลากหลายมากกว่า 113,000 SKUs ครอบคลุมสินค้าตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอางและแว่นตา เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังเป็นผู้ผลิต จัดหาและจำหน่ายที่นอนและเครื่องนอน ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ (กลุ่มธุรกิจที่นอนและเครื่องนอน) ภายใต้ Inhouse Brand และ Import Brand รวม 6 แบรนด์ มีสินค้ามากกว่า 21,500 SKUs ภายใต้แบรนด์ SANTAS, SANTAS Home, Stevens, Sealy, Tempur, และ Ethan Allen เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล
โดยกลุ่มบริษัทฯ ถือเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจสินค้าแฟชั่นของภูมิภาคอาเซียนและเป็นบริษัทสัญชาติไทยที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและรองเท้าเฉพาะอย่างของประเทศไทย (อ้างอิงข้อมูลรายงานภาวะอุตสาหกรรมของ Euromonitor International) ที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจสินค้าแฟชั่นตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมายาวนานกว่า 70 ปี และมีบุคลากรที่มีความสามารถเข้าใจในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มองเห็นเทรนด์การเปลี่ยนของธุรกิจและอุตสาหกรรม สามารถใช้ความเชี่ยวชาญการออกแบบ จัดหาสินค้า เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านแบรนด์พอร์ตโฟลิโอที่หลากหลาย ตอบสนองไลฟ์สไตล์ด้านแฟชั่นของผู้บริโภคที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ควบคู่กับการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้า ผ่านช่องทางสาขาและจุดจำหน่ายในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รวมทั้งสิ้น 462 สาขา ครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์บริษัทฯ และแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ต่างๆ (Marketplace) ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่นอนและเครื่องนอน มีช่องทางจำหน่ายผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ (1) สาขาหน้าร้านและจุดจำหน่ายในศูนย์การค้ามากกว่า 508 แห่ง (2) การขายงานโครงการ และ (3) การส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ
ทั้งนี้ บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์ ‘การจะเป็นผู้นำในธุรกิจแฟชั่นไลฟ์สไตล์ เพื่อนำความสุขที่ยิ่งใหญ่มาสู่ผู้คนนับล้านทั่วโลก’ โดยมุ่งมั่นนำสร้างสรรค์สินค้าแฟชั่นและบริการ ผ่านกระบวนการคิด ออกแบบและผลิตอย่างพิถีพิถัน นำเสนอสินค้าที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคทุกกลุ่มเป้าหมายและสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่จดจำและให้ทุกคนทั่วโลกเข้าถึงได้ เพื่อก้าวสู่หนึ่งในผู้นำธุรกิจแฟชั่นไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับสากลที่นำความสุขที่ยิ่งใหญ่มาสู่ผู้คนนับล้านทั่วโลก สร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในวงการแฟชั่นระดับโลก
นายทินพันธุ์ หวั่งหลี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 บมจ.ยัสปาล หรือ JPC ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 156 ล้านหุ้น คิดสัดส่วนไม่เกิน 26% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน แบบคำขออนุญาตและร่างหนังสือชี้ชวนอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ