เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.66 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมผลสำเร็จของโครงการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานในผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ปี 2564 ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10,247 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ช่วยผู้ประกอบการขนส่งประหยัดพลังงาน มูลค่ารวม 50.7 ล้านบาทต่อปี พร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงาน รับมือภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน แถลงผลสำเร็จโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารปี 2564 ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นโครงการสนับสนุนทางด้านการเงินในการดำเนินมาตรการด้านอนุรักษ์พลังงานของผู้ประกอบการขนส่ง โดยมาตรการที่ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ จะต้องมีผลประหยัดพลังงานและมีระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 7 ปี ซึ่งผู้ประกอบการที่ผ่านหลักเกณฑ์และได้เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินร้อยละ 30 ของค่าอุปกรณ์และการติดตั้ง สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อแห่ง โดยผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการปีนี้ มีจำนวนรวม 12 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าจำนวน 10 ราย และผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสาร จำนวน 2 ราย ซึ่งผลการดำเนินมาตรการพบว่า สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10,247 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี คิดเป็นพลังงานที่ประหยัดได้ 2.084 พันตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี และคิดเป็นมูลค่าผลประหยัดพลังงานรวม 50.7 ล้านบาทต่อปี จากเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 31.3 ล้านบาท โดยคิดเป็นผลประหยัดพลังงานเฉลี่ยร้อยละ 25 และมีระยะเวลาคืนทุนเฉลี่ย 0.62 ปี จากรถที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดจำนวน 469 คัน
โดยผลการดำเนินโครงการภายใต้โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร มีการเผยแพร่เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ ตลอดจนความเข้าใจในเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงานที่มีความน่าสนใจ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานในการลดการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้นำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป
“นายกรัฐมนตรีชื่นชมความสำเร็จในการดำเนินโครงการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและการลดคาร์บอน ซึ่งเป็นความร่วมมือของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีภาครัฐสนับสนุนทางด้านการเงิน สร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องตามเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน” นายอนุชาฯ กล่าว