วันนี้ (19 มิ.ย.2566) ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางถึงศูนย์ซ่อมบำรุง เยี่ยมชมนิทรรศการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่ศูนย์ซ่อมบำรุง ถนนศรีนครินทร์ ใกล้กับสถานีศรีเอี่ยม โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอธิรัตน์ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด พร้อมทั้งได้ร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ในช่วงสถานีศรีอุดม (YL16) ถึง สถานีลาดพร้าว (YL01)
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง เป็นโครงการฯ ที่คณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดย รฟม. เป็นผู้กำกับการดำเนินงานโครงการฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 รฟม. จึงได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน และได้เริ่มงานในระยะที่ 1 การดำเนินงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา รฟม. ได้กำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัมปทานอย่างใกล้ชิด รวมถึงการทดสอบการเดินรถในแต่ละระยะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ Trial Run ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ทั้งนี้ สถานีลาดพร้าว นับเป็นสถานีลำดับสุดท้ายของโครงการฯ ที่พร้อมให้ประชาชนเข้าร่วม Trial Run ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยสถานีนี้ตั้งอยู่บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว และเป็นสถานีเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง กับ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก และจังหวัดสมุทรปราการ สามารถเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักที่วิ่งให้บริการในพื้นที่ใจกลางเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ รฟม. ตั้งเป้าหมายว่า รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง จะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ โดยยึดถือหลักความพร้อมของงานและความปลอดภัยต่อผู้โดยสารที่จะเข้ามาใช้บริการในระบบรถไฟฟ้าเป็นหัวใจสำคัญสูงสุด
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ในฐานะผู้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง กล่าวว่า รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายแรกของประเทศไทย ให้เป็นทางเลือกที่สะดวกสบาย ปลอดภัย และรวดเร็วในการเดินทางสำหรับประชาชนในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ บริษัทฯ ได้ใช้ประสบการณ์ และความทุ่มเทของผู้ร่วมทุนดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อนกำหนด แม้ว่าจะต้องฝ่าฟันอุปสรรค และความยากลำบากในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และยังถูกซ้ำเติมด้วยสภาวะสงครามในยุโรป ระหว่างประเทศรัสเซีย และยูเครน อย่างไรก็ตามด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ ก็สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จ และจะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เลือกใช้ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลที่มีความทันสมัย และสวยงามที่สุด สามารถรองรับความต้องการในการเดินทางของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์ โดยมีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อสร้างงานโยธา และบริษัท Alstom เป็นผู้รับผิดชอบงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมถึงขบวนรถไฟฟ้า บริษัทฯ พยายามผลักดันให้มีการใช้วัสดุ หรือ การดำเนินงานในประเทศไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ เพื่อสร้างงานและประสบการณ์ให้กับบริษัทฯ และบุคลากรไทย
สำหรับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง มีระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 23 สถานี ประกอบด้วย สถานีลาดพร้าว สถานีภาวนา สถานีโชคชัย 4 สถานีลาดพร้าว 71 สถานีลาดพร้าว 83 สถานีมหาดไทย สถานีลาดพร้าว 101 สถานีบางกะปิ สถานีแยกลำสาลี สถานีศรีกรีฑา สถานีหัวหมาก สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์ 38 สถานีสวนหลวง ร.9 สถานีศรีอุดม สถานีศรีเอี่ยม สถานีศรีลาซาล สถานีศรีแบริ่ง สถานีศรีด่าน สถานีศรีเทพา สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และผู้ใช้รถยนต์สามารถนำรถมาจอดได้ที่อาคารจอดแล้วจรสถานีศรีเอี่ยม และที่อาคารจอดแล้วจรสถานีลาดพร้าว เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริงตลอดสายว่า ยินดีที่สามารถเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในเวลานี้ ขอให้ทุกคนปลอดภัยในการใช้บริการรถไฟฟ้า และวันหน้าเราได้วางแผนเรื่องการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้าในลักษณะใยแมงมุม รวมถึงการพิจารณาใช้ตั๋วร่วมตลอดการเดินทาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ให้ลดลงได้บ้าง ส่วนค่าตั๋วเริ่มที่ 15 บาท แพงสุด 45 บาท ซึ่งเราจะต้องมีการพูดคุยต่อในเรื่องค่าแรกเข้าต่างๆอีกยังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ สำหรับอาคารจอดรถกว้างขวาง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเพียงพอหรือไม่ ตรงนี้อาจจะพอแต่บางครั้ง ประชาชนผู้ใช้บริการใช้ระยะทางสั้น อาจจะมาจอดรถก็ไม่รู้จะทำอย่างไร วันหน้าก็ให้รัฐบาลหน้ามาทำต่อก็แล้วกันในหลายเรื่อง
เมื่อถามว่าจะต้องนำเรื่องการใช้ตั๋วร่วมเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมครม. โดยกระทรวงคมนาคมได้รายงานมาแล้ว
และถามว่าเริ่มเก็บค่าโดยสารในวันที่ 3 ก.ค.นี้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องนำเข้าในที่ประชุมครม.หมดทุกเรื่อง เพื่อให้ครม. เห็นชอบอนุมัติและรับทราบ มันหลายเรื่องก็ต้องเข้าครม.