วันที่ 19 มิ.ย.2566 ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี อนุคณะกรรมการด้านแผ่นดินไหวของวสท (วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย) / วิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรีอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัยด้านแผ่นดินไหว ร่วมกันแถลงภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาซึ่งส่งผลแรงสั่นสะเทือนถึงกรุงเทพมหานครเมื่อช่วงเช้า

นายชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้เกิดแผ่นดินไหวโดยมีจุดศูนย์กลางบริเวณอ่าวเบงกอลฝั่งตอนใต้ประเทศเมียนมาร์ ระดับ 6 ริกเตอร์ ความลึกประมาณ 10 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 500 กิโลเมตร รู้สึกได้ 11 เขตในกทม. เช่น บางรัก จตุจักร คลองเตย ลาดพร้าว บางเขน หลักสี่ ห้วยขวาง บางพลัด บางขุนเทียน หนองแขม เนื่องจากมีอาคารสูง ส่วนระดับพื้นราบไม่มีผลกระทบ ทั้งนี้ ไม่มีรายงานความเสียหาย

 

นายวิศณุ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องวัดความเร่งในแนวราบ(สั่นสะเทือน)จากแรงแผ่นดินไหว ที่ชั้น 36 ของอาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ได้ค่าความเร่ง อยู่ที่ 3.5 milli-g(มิลลิจี คือ ค่าแรงโน้มถ่วงของโลก) และที่ชั้น 4 ของอาคารภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ระดับ 1.5 มิลลิจี โดยค่าความแรงหรือการสั่นสะเทือนที่มนุษย์รู้สึกได้อยู่ที่ 1 มิลลิจี สอดคล้องกับค่าที่วัดได้ อยู่ที่ 1.5-3.5 มิลลิจี โดยค่าดังกล่าว สำหรับอาคารเก่าที่สร้างก่อนกฎกระทรวงปี 2550 ซึ่งไม่ได้ออกแบบให้สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้จะสามารถต้านทานได้ อยู่ที่ 50 มิลลิจี เมื่อวัดที่ฐานของโครงสร้าง และที่ 150 มิลลิจี เมื่อวัดที่ยอดของโครงสร้าง ส่วนอาคารที่ออกแบบให้สามารถต้านทานแรงจากแผ่นดินไหว ตามกฎกระทรวง ปี 2550 ได้นั้น จะสามารถรับค่าความเร่งได้ถึง 100 มิลลิจี เมื่อวัดที่ฐานของโครงสร้าง และสามารถรับค่าความเร่งได้ถึง 500 มิลลิจีเมื่อวัดที่ยอดของโครงสร้าง

 

นายวิศณุ กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะนี้กรุงเทพมหานครยังไม่ได้รับรายงานอาคารที่ได้รับผลกระทบ สรุปแล้ว แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นวันนี้ อยู่ในระดับที่ทำให้คนรู้สึกได้ชัดเจน และเกิดความวิตกต่อผู้ใช้อาคาร แต่ยังไม่รุนแรงเพียงพอที่จะส่งผลทำให้เกิดความเสียหายของโครงสร้างอาคารได้ อย่างไรก็ตาม  มีอาคารตามกฎกระทรวงแผ่นดินไหว ปี 2550 (ปี 51-64) จำนวน 2,887 อาคาร อาคารตามกฎกระทรวงแผ่นดินไหว ปี 2564 (เริ่มใช้ปี 65) จำนวน141 อาคาร รวม 3,028 อาคาร และอาคารก่อนกฎกระทรวงแผ่นดินไหว (ปี 31-50) จำนวน 11,482 อาคาร (จำนวนอาคารตั้งแต่ 6 ชั้นขึ้นไป)

รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่พบความเสียหายเพราะอยู่ไกลจากกรุงเทพมหานครประมาณ 500 กิโลเมตรเมื่อปี 2557 เคยเกิดแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายในลักษณะเดียวกัน ระดับ 6 ริกเตอร์ ซึ่งเกิดความเสียหาย จากการตรวจวัดพบความสะเทือน 1.5 มิลลิจี เป็นระดับต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ยิ่งวัดแรงสั่นสะเทือนที่ตึกสูงมากเท่าไร จะยิ่งรู้แรงสั่นได้มากขึ้น เนื่องจากตึกสูงมีการโยกตัว เป็นสาเหตุให้ประชาชนที่อยู่ตึกสูงรับรู้ได้ และอาจเกิดความตระหนกส่วนอาคารเตี้ยไม่รู้สึกถึงแรงสะเทือน สรุปคือ แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นมีน้อยมาก ไม่ส่งผลต่อการออกแบบอาคารในกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถต้านทานได้ ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ ในอนาคตแผ่นดินไหวอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ทราบว่าจะเกิดที่ใด ยังคำนวณไม่ได้ ต้องเตรียมความพร้อมรับมือ โดยประเทศไทย กรมโยธาและผังเมือง เป็นผู้กำหนดมาตรฐานอาคารในการออกแบบให้ปลอดภัย ซึ่งมีมาตรฐานทนแรงสะเทือนได้ถึง 50 มิลลิจี หากแรงกว่านี้อาจเกิดผนังอาคารแตกร้าว ไม่ถึงกับตึกถล่ม ส่วนครั้งนี้แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้จากโคมไฟแกว่ง จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีอันตราย ไม่มีผนังแตกร้าวถึงระดับคอนกรีต

ดร.อมรเทพ กล่าวว่า เมื่อเช้านี้รับรู้สัญญาณแผ่นดินไหวจากจุดติดตั้งที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม.ดินแดงความสะเทือนประมาณ 3.5 มิลลิจีโดยเฉลี่ย อาจทำให้คนในอาคารรู้สึกได้ ส่วนความสะเทือนที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารอยูที่ 10-20 มิลลิจี แต่ครั้งนี้ความสะเทือนต่ำมาก จึงไม่ส่งผลกระทบและไม่น่าวิตก ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในอาคารต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์การป้องกัน และการตรวจสอบมาตรฐานของอาคาร รวมถึงการแจ้งเตือนประชาชนหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น โดยครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการให้ความสำคัญกับอาคารสูงและอาคารในพื้นที่เมืองมากขึ้น ส่วนอาคารที่มีความเสี่ยงคืออาคารที่สร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม หรืออาคารที่สร้างโดยไม่มีการออกแบบอย่างถูกต้อง เช่น ในต่างประเทศอาคารเสี่ยงคือ อาคารที่ใช้อิฐ ดินโคลน ในการสร้าง รวมถึง อาคารที่ชั้นล่างเปิดโล่งเหลือแต่เสาคล้ายบ้านเรือนไทยส่วนอาคารที่สร้างด้วยคอนกรีตไม่น่าเป็นห่วง

ด้านน.ส.ทวิดา กล่าวถึงเรื่องแผนการรับมือภัยพิบัติของ กทม. ว่า กทม.ยังคงสำรวจอาคาร และทำแผนที่อาคารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะมีการสำรวจโครงสร้างเป็นระยะด้วย ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวยังไม่สามารถเตือนล่วงหน้าได้ เมื่อเกิดเหตุจึงต้องมีเครื่องมือวัดและสามารถแจ้งเตือนประชาขนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อม

 

ทั้งนี้ ระบบที่ประเทศไทยมีอยู่ในขณะนี้คือ Line Alert ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เชื่อมต่อในการแจ้งเตือนเรื่องฝุ่น PM2.5 โดยจากนี้ไปจะเชื่อมโยงข้อมูลเพิ่มเติมโดยให้เขตสำรวจพื้นที่สั่นไหวที่รู้สึกได้และรายงานเข้าสู่ระบบ นอกจากนี้ยังมีอีกส่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนคือเรื่องการปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในอาคาร การซักซ้อม ถึงแม้อัตราการเกิดเหตุในกรุงเทพฯจะน้อยแต่ในบางครั้งคนกรุงเทพฯเดินทางไปเที่ยวในจุดเสี่ยงจึงจำเป็นต้องให้ความรู้ด้วยเช่นกัน รวมถึงการทำผังอาคารและสัญลักษณ์ต่างๆให้ชัดเจน ที่ผ่านมากทม.ได้ตรวจสอบอาคารที่เป็นสถานประกอบการและอาคารที่ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงต่างๆ อยู่แล้ว โดยเดิมเน้นภัยประเภทไฟไหม้เนื่องจากมีความถี่ของการเกิดเหตุสูงสุด แต่ในขณะนี้ต้องเพิ่มเรื่องสารเคมีรั่วไหลและแผ่นดินไหวด้วย