คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดห้อง Law Chula Wellness Hub สำหรับเป็นที่พักกายพักใจ และบริการให้คำปรึกษาแก่นิสิตโดยนักจิตวิทยา ดูแลสุขภาพองค์รวมทั้งกายและใจให้นิสิตรวมถึงบุคลากรของคณะให้มีสุขภาพดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ สามารถเรียนและทำงานได้อย่างมีความสุข
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการเปิดห้อง Law Chula Wellness Hub ว่า เนื่องจากการเรียนทางด้านกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็น ที่ผ่านมาพบว่านิสิตคณะนิติศาสตร์เกิดความเครียดจากการเรียนและอ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก จึงอยากทำให้นิสิตคณะนิติศาสตร์เป็นนักกฎหมายที่สมบูรณ์ มีความพร้อมทั้งทางด้านทักษะความรู้และด้านจิตใจ
ที่ผ่านมามีนิสิตจุฬาฯ มาใช้บริการขอคำปรึกษาที่ฝ่ายส่งเสริมสุขภาวะนิสิต จุฬาฯ (Chula Student Wellness) เป็นจำนวนมาก ทำให้นิสิตในคณะนิติศาสตร์ไม่สามารถเข้าใช้บริการได้ทันท่วงที เมื่อนิสิตมีปัญหาแล้วไม่ได้รับคำปรึกษาตั้งแต่ต้น อาจจะทำให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ในขณะที่ฝ่ายกิจการนิสิตของคณะ และอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งดูแลให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ แก่นิสิต อาจไม่ได้เป็นผู้ที่เรียนเฉพาะทางมาโดยตรง การเปิดห้อง Law Chula Wellness Hub จะสามารถช่วยนิสิตในการจัดการความเครียดได้
การสร้างห้อง Law Chula Wellness Hub ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า เดิมพื้นที่นี้เป็นห้องพยาบาลที่ดูแลเรื่องการเจ็บป่วยทางกายของนิสิต อยู่ติดกับห้องฝ่ายกิจการนิสิต การเปลี่ยนมาเป็นห้อง Law Chula Wellness Hub จะสามารถดูแลนิสิตครอบคลุมทั้งกายและใจ
“ทางศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ได้เข้ามาดูแลและให้คำปรึกษา และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้เข้ามาช่วยออกแบบห้อง โดยยังคงเป็นห้องพยาบาลที่มีที่พักสำหรับนิสิต เพื่อดูแลสุขภาพกายเบื้องต้น ถ้าอาการหนักก็สามารถส่งต่อไปยังศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ หรือโรงพยาบาลจุฬาฯ รวมทั้งยังมีการดูแลด้านสุขภาพใจให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาโดยนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญที่คณะรับเข้ามาทำหน้าที่ประจำที่ Law Chula Wellness Hub อีกด้วย” ผศ.ดร.ปารีณา กล่าว
นอกจากกลุ่มเป้าหมายหลักคือนิสิตปริญญาตรีที่มีความกังวลและความเครียดแล้ว นิสิตปริญญาโท อาจารย์และบุคลากรก็สามารถมาใช้บริการที่ห้อง Law Chula Wellness Hub ได้ โดยภายในห้องยังมีพื้นที่ให้นิสิตที่มาใช้บริการได้นั่งผ่อนคลาย พูดคุย เล่นบอร์ดเกม ร้อยลูกปัด อีกทั้งทางคณะมีการจัดอบรมให้ความรู้เพื่อเป็นการป้องกันความเครียดอีกด้วย
“สังคมไทยยังมองว่าการเข้ามารับความช่วยเหลือด้านจิตวิทยาเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ จริงๆ แล้วทุกเรื่องมีความสำคัญถ้าเข้ามากระทบกับใจเรา ซึ่งปัญหาเรื่องใหญ่หรือเล็กของแต่ละคนไม่เท่ากัน ปัญหาของทุกคนล้วนมีความสำคัญ ถ้าได้รับการจัดการช่วยเหลือ หรือได้รับการชี้แนะทิศทางได้ถูกต้องก็อาจจะทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขหรือทุเลาลงได้ Law Chula Wellness Hub จะเป็นโมเดลที่น่าสนใจสำหรับสถานศึกษาอื่นๆ ด้วย” คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
ด้านคุณณสรวง นเรนทรเสนี นักจิตวิทยาประจำ Law Chula Wellness Hub ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษา อธิบายถึงการบริการให้คำปรึกษาทางด้านจิตวิทยาแก่นิสิตว่า “นิสิตที่เข้ามาปรึกษาจะได้รับการเยียวยาเบื้องต้น โดยจะเป็นการรับฟังแบบเชิงลึกถึงเรื่องราวในใจทั้งหมดที่นิสิตอยากจะสื่อออกมา เพื่อเข้าใจความต้องการลึกๆ ในใจที่ปรารถนา และสะท้อนสิ่งที่เราได้รับรู้กลับไปยังนิสิต ซึ่งจะช่วยรักษาใจของผู้การรับบริการได้”
นิสิตที่เข้ามารับบริการมีหลากหลาย ตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 ไปจนถึงนิสิตปริญญาโท ส่วนใหญ่เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 – 4 เรื่องที่มารับคำปรึกษามักเป็นเรื่องไม่สบายใจทั้งเรื่องเรียนและเรื่องส่วนตัว ช่วงเวลาที่มารับบริการมักเป็นหลังเลิกเรียน สำหรับนิสิตบางคนที่มีความเครียดและไม่สะดวกเดินทางมาที่ห้องนี้ก็สามารถปรึกษาผ่านทางไลน์ได้ โดยนักจิตวิทยาก็จะมาพูดคุยให้คำปรึกษาเช่นเดียวกัน
“นักจิตวิทยาเปรียบเสมือนร่มในยามฝนตกที่พร้อมจะคอยรับฟัง ร่วมคลี่คลายสิ่งที่อยู่ในใจ โดยจะไม่มีการประเมิน ชี้แนะ หรือตัดสิน จะไม่บอกว่าต้องทำอย่างไร ผู้นั้นต้องเป็นคนตัดสินใจเอง แต่นักจิตวิทยาจะอยู่ข้างๆ เมื่อถึงจุดหมายแล้วก็วางเราได้ แต่เมื่อพบปัญหาก็กลับมาหาเราใหม่ได้” คุณณสรวง กล่าวทิ้งท้าย