เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.66 ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก “Pinkaew Laungaramsri” โดยระบุว่า

“มหาวิทยาลัยนั้นก็มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับเครื่องแบบนักศึกษา เรื่องนี้ทุกคนย่อมทราบดี แต่ในทางปฏิบัติ การใส่หรือไม่ใส่เครื่องแบบนักศึกษา อย่างน้อยในมหาวิทยาลัย และในคณะที่ดิฉันสอนอยู่ เป็นเรื่องของ choice มากกว่าการบังคับกันอย่างคอขาดบาดตาย สิ่งที่เกิดขึ้นในคลาสเรียนปกติของทุกวัน จึงมีทั้ง นักศึกษาที่เลือกที่จะใส่เครื่องแบบ กับนักศึกษาที่ใส่ชุดไปรเวท ที่เห็นจนชินตา คือ นักศึกษาหญิงบางคน เลือกที่จะใส่เสื้อที่เป็นเครื่องแบบร่วมกับกางเกงยีนส์  มีบางปี ที่นักศึกษาบางคนใส่กางเกงนอนมาเรียนตลอดเทอมก็มี นัยว่าอยู่หอใน ตื่นแล้วรีบมาเรียนเลย กลัวไม่ทันคลาส   ส่วนเรื่องทรงผมนั้น ไม่ต้องพูดถึง เพราะย้อมกันมาทุกสี

ข้ออ้างเรื่องเครื่องแบบเป็นสิ่งที่สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะหากระเบียบหมายถึงการจัดเรียงผู้คน สิ่งของ ให้เป็นไปตามลำดับและแบบแผนเดียวกันแล้ว คำถามสำคัญจึงได้แก่ อะไรล่ะ ควรเป็นสิ่งที่เรียกว่า "แบบแผน" ที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยควรยึดถือในเรื่องการแต่งกาย?  สำหรับดิฉันแล้ว หลักใหญ่ใจความของเครื่องแต่งกายในสถานการศึกษา ควรเป็นเรื่อง ความสุภาพ เหมาะสม และเป็นเครื่องแต่งกายที่ไม่นำไปสู่การรบกวนการเรียนของผู้อื่น หลักการของเครื่องแต่งกายนักเรียนประเภทนี้ เป็นหลักการที่ประเทศที่เจริญแล้วทั่วไปเขาใช้กัน ซึ่งเปิดให้กับทั้งโรงเรียนและนักเรียนใช้วิจารณญาณร่วมๆกัน ไม่ใช่ท็อปดาวน์โดยไม่เปิดให้มีการฟังเหตุผล

พ.ศ.นี้แล้ว เรายังมาพูดเรื่องเครื่องแบบกับความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยไม่เคยให้ถกเถียงกันว่า คำว่า "ระเบียบ" ควรจะมีความหมายอย่างไรที่มีเหตุมีผล แต่กลับเอาไปผูกติดกับเครื่องแบบบางประเภท มันช่างถอยหลังตกคลองเสียจริงๆ

กระทรวงศึกษาพูดกันมาก เรื่องแนวทาง Child-centered/student-centered education หรือการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหรือการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หลักการที่เขียนไว้มักจะสวยหรู ว่าเป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนมีความสำคัญสูงสุดในกระบวนการเรียนการสอน เป็นการศึกษาที่เคารพผู้เรียนแต่ละบุคคลและความแตกต่างของผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นการจัดบรรยากาศการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาและค้นพบความรู้ด้วยตนเอง เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งระหว่างผู้เรียนกับครูผู้สอนและระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง เปิดให้ผู้เรียนเลือกทำโครงงานตามความถนัดและความสนใจ ให้อิสระต่อการเรียนรู้  แนวทางการศึกษาดังกล่าว เชื่อว่า การย้ายความสำคัญจากครูผู้สอนมาที่ตัวนักเรียน ซึ่งครูผู้สอนต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ของตนเองให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียนการสอนดังกล่าวนั้น จะเป็นการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนที่ก้าวหน้าขึ้น คำนึงถึงผู้เรียนมากยิ่งขึ้น

กรณีหยกเป็นกรณีท้าทายและทดสอบแนวทางเรื่อง Child-centered education เป็นอย่างดี หยกปฏิเสธที่จะเข้าแถวเคารพธงชาติ เข้าเรียนวิชาจริยธรรม และกิจกรรมกลุ่ม คำถามคือ มีนักเรียนอีกกี่คนที่รู้สึกเช่นเดียวกับหยก? โรงเรียนเคยได้สอบถาม หรือเปิดให้มีการ voice ความเห็นต่อกิจกรรมและวิชาที่เป็นปัญหานี้ หรือไม่ อย่างไร ที่สำคัญโรงเรียนได้เคยรับฟังเหตุผลของหยกที่มีต่อวิชาที่เป็นปัญหานี้หรือไม่? 

ในระดับมหาวิทยาลัย กระบวนวิชาต่างๆที่มีการเรียนการสอน ในท้ายเทอม นักศึกษาจะสามารถประเมินกระบวนวิชาทุกวิชา การประเมินนั้น รวมไปถึงการประเมินตัวอาจารย์ผู้สอนด้วย ระบบการประเมินนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญในการรับฟังทรรศนะของผู้เรียน เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และเป็นหนึ่งในกระบวนการที่พยายามย้ายศูนย์กลางของการเรียนการสอนมายังตัวผู้เรียน และทำให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ระบบประเมินการเรียนการสอนโดยผู้เรียนที่ว่า เป็นส่วนสำคัญของการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

ดิฉันไม่แน่ใจว่า ปัจจุบันในระบบโรงเรียน เสียงของนักเรียน ถูกนับในการประเมินคุณภาพการเรียนการสอน หรือไม่ อย่างไร และมีช่องทางการ feed back แบบที่ว่าได้ที่ไหน แน่นอนที่ว่า ในยุคสมัยของดิฉันนั้น ไม่เคยมีกระบวนการอย่างที่ว่า การศึกษานั้นเป็นระบบ top down อย่างที่ทราบกัน บ่อยครั้งเราจึงต้องทนเรียนในวิชาที่ไม่ได้เรื่อง กับครูที่ยอดแย่ โดยไม่สามารถพูดอะไร กับใครที่ไหนได้ เสียเวลาชีวิตไปในแต่ละวันโดยไม่ได้อะไร ไม่ต้องพูดถึงช่วงเวลาหน้าเสาธง ที่มักเอามาใช้ตรวจจับคอซองที่สั้นเกิน หรือผมที่ยาวเกินต่ิงหู  พวกเราได้แต่ทนๆเรียนให้มันจบเทอม เพื่อรอไปเอนทรานซ์อย่างเดียว

น่าแปลกใจที่โลกของการศึกษาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ยังอยู่ดีไม่ขยับไปไหนในยุคดิจิทัล 5.0 ปัจจุบัน และเมื่อมีเยาวชนที่ไม่ทนกับระบบการศึกษาในโลกเก่า สิ่งที่เกิดขึ้นกลับได้แก่  การถูกปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา ยังมีอะไรที่น่าเศร้าใจมากไปกว่านี้อีกหรือสำหรับสังคมไทย”