บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. โดยบริษัทชี้แจงว่า ตามที่บริษัทได้นำส่งงบการเงินสำหรับปี 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและรับรองงบการเงิน โดยไม่แสดงความเห็น ด้วยเหตุที่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง (Going Concern) ของกลุ่มบริษัทฯ

โดยจากรายงานพบว่า บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 25,213 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากปี 2564 และมีรายได้รวม 25,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็น 34.57% เปรียบเทียบกับปี 2564 โดยกลุ่มบริษัทฯ มีขาดทุนสำหรับปี 2565 จำนวน 6,651.1 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 11.04% ขาดทุนต่อหุ้น 0.5393 บาท เทียบกับปี 2564 ที่ขาดทุนสุทธิ 5,965.43 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.501 บาท

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการขาดทุนมาจากการปรับตัวขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบหลักที่ราคาผันผวนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ต้นทุนที่เพิ่มจากราคาซื้อวัตถุดิบที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ไม่สามารถถูกส่งผ่านไปสู่ลูกค้าได้ทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อเป็นสินค้าคงคลัง (made to stock) ประกอบกับ บริษัทไม่ได้ทำสัญญาลดภาระความผันผวนของราคาวัตถุดิบ (hedging contract) เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงราคาซื้อวัตถุดิบหลักที่ส่งผลกระทบต่อผลกำไรของแต่ละคำสั่งซื้อจากลูกค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากแนวปฏิบัติทั่วไปของธุรกิจผลิตสายไฟฟ้า ดังนั้น เมื่อราคาวัตถุดิบหลักมีความผันผวนหรือปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลทำให้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนของการซื้อวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนก่อให้เกิดผลขาดทุนจากการดำเนินการในที่สุด

โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 กลุ่มบริษัทฯ มีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมจำนวน 6,628 ล้านบาท และมีส่วนของเจ้าของติดลบ จำนวน 4,404 ล้านบาทโดยหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้การค้า เงินกู้ยืมระยะสั้น เงินกู้ยืมระยะยาวและหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี ซึ่งหนี้สินระยะสั้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดประเภทเงินกู้ยืมระยะยาวเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น เนื่องจากอัตราส่วนทางการเงินบางรายการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ระยะยาวและหนังสือชี้ชวนหุ้นกู้

นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2566 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ หมายเลข STARK239A และ STARK249A ซึ่งมีเงินต้นคงค้างรวมเป็นจำนวน 944 ล้านบาท มีมติอนุมัติเรียกให้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้หุ้นกู้ทั้งหมดถึงกำหนดโดยพลัน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้วงเงินทุนหมุนเวียน และ จัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน ทางกลุ่มบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มบริษัทฯ จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่แน่นอนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยต่อความสามารถในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทฯ

โดยกลุ่มบริษัทฯ ตระหนักถึงความกังวลของนักลงทุนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อความล่าช้าในการจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 ของกลุ่มบริษัทฯ และการเลื่อนกำหนดการส่งงบการเงินจำนวนหลายครั้ง ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำรายงานทางการเงินที่สะท้อนฐานะการเงิน และ ผลดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงการปรับปรุงรายการบัญชีการเงิน ที่เกี่ยวข้องให้สะท้อนความเป็นจริง และ ให้ความร่วมมือแก่ผู้สอบบัญชีฯ ให้สามารถดำเนินการตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินอย่างอิสระ กลุ่มบริษัทฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและคณะกรรมการของกลุ่มบริษัทฯในเดือนเมษายน 2566 โดยผู้บริหารและคณะกรรมการชุดใหม่ ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ในการตรวจสอบบัญชีและการตรวจสอบพิเศษ (special audit) เพื่อแก้ไขการจัดส่งงบการเงินล่าช้า และพยายามปฏิบัติตามกำหนดการส่งงบการเงินประจำปี 2565

ทั้งนี้ในระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2566 ตามที่กลุ่มบริษัทฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2566 กลุ่มบริษัทฯ แจ้งว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับผู้ตรวจสอบบัญชีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ( special audit) รวมถึงการขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เพิ่มเติม อันเป็นการปฏิบัติตามหนังสือของ กลต. ฉบับ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ และผลของการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษดังกล่าวอาจจะเกิดการปรับปรุงข้อมูลในงบการเงินของบริษัทฯ ได้ จากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตรวจสอบพิเศษ (special audit) ต่องบการเงินของบริษัทฯ โดยเฉพาะรายการในงบกระแสเงินสดได้ ดังนั้นหากตรวจพบรายการปรับปรุงเพิ่มเติม กลุ่มบริษัทฯ จะดำเนินการแก้ไขตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา

สำหรับในการจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 ผู้บริหารชุดใหม่ของบริษัท ตรวจพบข้อผิดพลาดหลายประการ ในงบการเงินปี พ.ศ.2564 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายบัญชีในงบการเงินและเป็นจำนวนเงินที่เป็นสาระสำคัญ รวมถึงรายได้จาก การขายและต้นทุนขาย รายได้จากการให้บริการและต้นทุนให้บริการ สินค้าคงเหลือ ลูกหนี้และค่าเผื่อขาดทุนด้านเครดิต และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง รายการดังกล่าวข้างต้นถือเป็นรายการที่ผิดปกติ และทำให้ผู้บริหารของบริษัททำการปรับตัวเลขเปรียบเทียบย้อนหลังสำหรับปี พ.ศ.2564 สำหรับงบการเงินรวมที่จะออกสำหรับปี พ.ศ.2565 ให้ถูกต้องตามข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน