ผ่านพ้นไปกับการเปิด “สภาเมืองคนรุ่นใหม่” ครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ 47 จาก 216 นโยบาย ที่กทม.มุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมพัฒนากรุงเทพมหานคร ผ่านการนำเสนอปัญหาและหาทางออก โดยเปิดอภิปรายในสภาฯทุก 3 เดือน เพื่อให้คนรุ่นใหม่จัดทีมในการนำเสนอปัญหา ผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการ ว่าปัญหาของทีมใดจะได้บรรจุวาระในการประชุมแต่ละครั้ง ซึ่งในครั้งนี้มีประเด็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่พักพิงชั่วคราวทางการแพทย์สำหรับคนไร้บ้าน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมาบางครั้งเราไม่ค่อยได้ฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ ทั้งที่พวกเราจะเป็นเจ้าของเมืองในอนาคต ถ้าเราฝึกคิดถึงปัญหามองทางออกรู้จักข้อจำกัดทั้งหลายเชื่อว่าต่อไปเราจะรับส่งต่อเมืองนี้ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับนโยบายทุกเรื่องที่เสนอมาเป็นเรื่องสำคัญทั้งหมด ขอบคุณน้อง ๆ ที่เห็นปัญหาทะลุ เชื่อว่าต่อไปจะขยายจำนวนการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น และสิ่งสำคัญคือนำ 4 นโยบายนี้ไปทำต่ออย่างไร จริง ๆ แล้วพวกเราคือ active citizen  การเลือกตั้งนั้นแค่ 4 ปีครั้ง แต่การมีส่วนร่วมทำได้ทุกวันทุกวินาที จะเปลี่ยนเมืองได้ต้องอาศัยพวกเราทุกคน และกทม.จะนำข้อเสนอทั้งหลายไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม กล้าคิดแล้วเรากล้าทำให้

นางสาวพิชญา ดังศิริแสงทอง นักดนตรีบำบัด สมาชิกทีมสุขภาวะข้างถนน เปิดเผยว่า ตนได้รับคัดเลือกให้นำเสนอนโยบาย “ที่พักพิงชั่วคราวทางการแพทย์สำหรับคนไร้บ้าน” ในสภาฯ โดยตนมองว่า พื้นที่สภาคนรุ่นใหม่เป็นกระบอกเสียงหนึ่ง สำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษาประเด็นปัญหาต่างๆ ในเมืองที่ตนอาศัย อาจมีมุมมองใหม่ๆ แจ้งให้ประชาชนรับทราบและร่วมกันหาทางออก เพราะปัจจุบันมีความก้าวหน้าในมิติต่างๆ มากมาย ขณะเดียวกันก็มีความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาซ่อนอยู่ เช่นเดียวกับนโยบายที่ทีมของตนนำมาเสนอ ผ่านการลงพื้นที่มาแล้ว 9 เดือน เพื่อให้คำปรึกษาทางการแพทย์แก่คนไร้บ้าน ทุกวันที่ 2 และ 4 ของเดือน บริเวณตรอกสาเก พร้อมนำดนตรีบำบัดมาช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจคนไร้บ้าน โดยเน้นการช่วยให้เข้าถึงสิทธิ์การรักษา และส่งต่อสถานพยาบาลใกล้เคียง

จากการลงพื้นที่ พบว่า สาเหตุสำคัญของผู้ไร้บ้าน คือ ความจากจน ความไม่มั่นคงในอาชีพ ถูกเอาเปรียบจากการจ้างาน ขาดรายได้จากปัญหาสุขภาพ ขาดการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม ปัญหาครอบครัว และปัญหาสุขภาพจิต โดยสาเหตุทั้งหมด มีพื้นฐานจากการเจ็บป่วยซึ่งไม่สามารถหนีพ้นสภาวะไร้บ้านได้ เช่น ผู้ไร้บ้านรายหนึ่ง มีแผลตะปูตำเท้าจากงานรับจ้าง เมื่อเข้ารักษาแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่สะอาดปลอดภัยได้ แผลจึงลุกลามไม่หาย ส่งผลให้ทำงานต่อไม่ได้ จึงต้องอาศัยข้างถนนอย่างผู้ไร้บ้าน

และจากปัญหาสุขภาพดังกล่าว นำไปสู่การนำเสนอนโยบายที่พักพิงชั่วคราวทางการแพทย์สำหรับคนไร้บ้าน โดยนำแนวคิดมาจากต่างประเทศ เพื่อให้บริการผู้ป่วยคนไร้บ้านในการดูแลอาการอย่างเหมาะสมในพื้นที่สะอาดปลอดภัย หรือดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล ซึ่งทีมของตนทดลองทำมาแล้ว 5 เดือน ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ให้บริการที่พักอาศัยและอาหาร 3 มื้อ ซึ่งตนมองว่าที่พักพิงทางการแพทย์สำหรับคนไร้บ้านเป็นเรื่องจำเป็น ควรมีการขยายผลต่อไป

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า การเปิดเวทีลักษณะนี้ ทำให้สามารถคิดต่อได้ เช่น จากประเด็นที่ทีมสุขภาวะข้างถนนนำเสนอมา สอดคล้องกับคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทย ต้องการให้มีศูนย์ฟื้นฟูสภาพกลับสู่สังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด กทม.จึงคิดว่าสามารถต่อยอดให้ผู้ที่ต้องการฝึกอาชีพหรือต้องการกำลังใจในการดำเนินชีวิตเข้าใช้บริการได้ ไม่จำเป็นว่า ผู้ที่เข้ารับการฟื้นฟูจะต้องเป็นผู้ป่วยหรือผิดปกติ จึงเป็นการต่อยอดที่สามารถเกิดได้จริง โดยเฉพาะสิ่งที่คนรุ่นใหม่นำเสนอ สามารถนำไปออกแบบเพิ่มเติมได้ เพื่อให้บริการสาธารณสุขหลายมิติมากขึ้น ไม่จำกัดคนกลุ่มใดเพียงกลุ่มเดียว

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ประเด็นที่ถูกบรรจุในสภาฯเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ลงพื้นที่จริง มีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา โดยสภาเมืองคนรุ่นใหม่มีคณะกรรมการโดยคนรุ่นใหม่ ในการบรรจุคัดเลือกประเด็นอย่างเข้มข้น ยกตัวอย่าง เรื่องคนไร้บ้านของทีมสุขภาวะข้างถนน ทำให้ทราบว่าปัญหาของคนไร้บ้านมีความละเอียดแตกต่างกัน สอดคล้องกับนโยบาย “ไร้บ้านต้องไม่ไร้สิทธิ์” ที่กทม.กำลังดำเนินการ ซึ่งกทม.มีเป้าหมายเดียวกันกับทีมสุขภาวะข้างถนน และกำลังเปิดบ้านอิ่มใจรองรับคนไร้บ้านเพื่อช่วยเหลือในมิติต่างๆ ถือว่ามีแนวคิดตรงกัน เชื่อว่าจะได้ร่วมมือกันต่อไป

นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า ปัจจุบันมีที่พักพิงชั่วคราวทางการแพทย์สำหรับคนไร้บ้านเปิดให้บริการ 2 ห้อง โดยช่วงก่อนโควิดคนไร้บ้านข้างถนนตายเฉลี่ยปีละ 20 คน ปัญหาคนไร้บ้านต้องการการเยียวยาหลายมิติ ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย หรือเรียกว่า ผู้ประสบปัญหาจากระบบสวัสดิการ โดยทีมสุขภาวะข้างถนน เข้ามาช่วยกรณีผู้ป่วยคนไร้บ้านที่สั่งจ่ายออกจากโรงพยาบาลแล้ว ไม่รู้จะไปไหน ญาติไม่ดูแล จึงต้องนอนเจ็บป่วยอยู่ข้างถนน บางรายเสียชีวิตข้างถนน จากการตรวจสอบ ยังมีอีกหลายโรงพยาบาลกำลังรอสั่งจ่ายผู้ป่วยไม่มีญาติออกจากโรงพยาบาลเพิ่มเติม เช่น โรงพยาบาลกลาง 25 คน โรงพยาบาลราชวิถี 15 คน ดังนั้น จึงเห็นด้วยกับกทม.ในการสร้างบ้านอิ่มใจ เพื่อดูแลคนไร้บ้านมิติต่างๆ เช่น ช่วยตามญาติ ตามสิทธิ์ หากกทม.เริ่มสร้างบ้านอิ่มใจ เชื่อว่าจะดูแลคนไร้บ้านในอนาคตได้มากขึ้น