นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียว่า ภายในเดือนก.ค.นี้ กทม.เตรียมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับการประปานครหลวง (กปน.) ในการนำข้อมูลผู้ใช้น้ำจาก กปน. ไปคำนวนค่าจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย กทม.ต้องขออนุญาตจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประกอบด้วย เพื่อรับรองว่า กทม.จะรักษาข้อมูลของผู้ใช้น้ำที่การประปานครหลวงเปิดเผยให้

 

เมื่อกทม.ลงนามร่วมกับกปน.เรียบร้อยแล้ว ผู้ว่าฯกทม.จึงจะลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดประเภทแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ถูกจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย โดยจะคิดจากปริมาณน้ำเสียที่ร้อยละ 80 ของปริมาณการใช้น้ำประปา คูณด้วยอัตราค่าธรรมเนียม ตามประเภทของแหล่งกำเนิดน้ำเสีย

ในประเภทที่ 3 โรงแรม โรงงาน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และสถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ในอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 8 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และประเภทที่ 2 เฉพาะ อาคารสำนักงานหน่วยงานรัฐ เอกชน องค์กร และสถานประกอบการที่มีการใช้น้ำไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร ในอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร คาดว่ากทม.จะมีรายได้เพิ่มจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย 223 ล้านบาท

 

จากนั้นจึงจะขยายจัดเก็บประเภท 1 ตามลำดับ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้กทม.ยืนยันว่าการเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียไม่ได้ไปสร้างภาระกับประชาชน แต่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียของกทม.และทำให้การบำบัดน้ำเสียมีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียแบบเต็มรูปแบบ เหลือแค่บำบัดน้ำเสียบางส่วน ขณะเดียวกันกทม.จะลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียอีกทางหนึ่งด้วย โดยการติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เพื่อเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายพลังงาน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลัก รวมทั้งลดความถี่การทดสอบคุณภาพน้ำที่ไม่จำเป็น ตลอดจนเพิ่มปริมาณน้ำเสียเข้าโรงบำบัด เพราะปัจจุบันน้ำเสียที่เข้าโรงบำบัดจริงยังต่ำกว่าขีดความสามารถในการบำบัดของโรงบำบัดน้ำเสีย เกือบ 50%

 

ส่วนวิธีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย กทม.จะส่งใบแจ้งชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียผ่านทางไปรษณีย์ โดยผู้รับบริการ สามารถชําระค่าธรรมเนียมบําบัดน้ําเสีย ที่จุดบริการรับชําระเงินของกรุงเทพมหานคร ที่สำนักงานเขต 50 เขต หรือฝ่ายการคลัง สํานักงานเลขานุการ สํานักการระบายน้ํา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง จุดบริการรับชําระเงินของธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ ธนาคารที่ให้บริการชําระบิลข้ามธนาคาร (Cross-bank BillPayment)ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ บริการธนาคารบนอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) บริการธนาคารบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Banking) และ เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine : ATM) โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการชําระบิล ข้ามธนาคารได้จากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งค่าธรรมเนียมเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกําหนดของแต่ละธนาคารหรือผู้ให้บริการ กรณีชําระค่าธรรมเนียมบําบัดน้ําเสียที่เกินกําหนดหรือค้างชําระจะไม่สามารถชําระเงินผ่านช่องทางธนาคารได้ โดยให้ชําระ ได้ที่จุดบริการชําระเงินของกรุงเทพมหานคร

 

อย่างไรก็ตามหากผู้รับบริการ ไม่ชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย กทม.จะทำหนังสือแจ้งให้ผู้รับบริการไปชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว หากพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือ จะระงับการให้บริการบำบัดน้ำเสียชั่วคราวจนกว่าผู้รับบริการจะชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียค้างชำระ หากยังไม่ชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียอีก จะดำเนินการฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อให้ศาลสั่งชำระหนี้ต่อไป