นายวิลเฟร็ด ฟาน ประธานเจ้าหน้าที่การพาณิชย์ บริษัท Klook กล่าวว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้บนแพลตฟอร์มมีมูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาท โดยในปี 2566 เพียงช่วงไตรมาสแรกก็สร้างรายได้เพิ่มเป็น 2 เท่าของปีที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลาอันดียิ่งที่การท่องเที่ยวได้ฟื้นตัวกลับมา และนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกได้กลับมาเดินทางเพื่อค้นหาความสุขและแรงบันดาลใจอีกครั้ง โดยแนวโน้มของการฟื้นตัวในภูมิภาคเอเชียจะเร็ว หรือช้าขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1.สายการบิน และความถี่ของเที่ยวบินที่เชื่อมโยงระหว่างเมือง 2.ราคาค่าโดยสารของสายการบินที่มีราคาแพง และ 3.ความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมต่างๆ ในบางประเทศที่ยังไม่เปิดบริการเต็มที่จึงทำให้การฟื้นฟูไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้
อย่างไรก็ตาม นายวิลเฟร็ด กล่าวว่า จากการที่ Klook ได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดภายใต้แคมเปญ Let Your Journey be THAI ในการผลักดันส่งเสริมต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวไทย ด้วยการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตระหนักถึงความสวยงามและวัฒนธรรมของประเทศไทย ผ่าน 5F Soft Power ได้แก่ Food, Fight, Film, Festival, และ Fashion ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยว โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามียอดการจองกิจกรรมท่องเที่ยวไทยจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงเพิ่มขึ้น 1,200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565 โดย 5 ประเทศหลักที่จองกิจกรรมไทยบนแพลตฟอร์ม Klook ได้แก่ ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ และมาเลเซีย
สำหรับกิจกรรมยอดนิยมในเมืองไทย ได้แก่ ทัวร์แบบ Day trip อาทิ ทัวร์ทะเลใต้, ทัวร์ชมเมืองประวัติศาสตร์อยุธยา กิจกรรมยอดนิยมลำดับถัดมาคือ กิจกรรมชมความสวยงามของเมืองไทย ได้แก่ ล่องเรือชมแม่น้ำเจ้าพระยา, ชมวิวกรุงเทพมหานครที่มหานครสกายวอล์ค ส่วนกิจกรรมอีกประเภทที่ได้รับความนิยมคือ สปา โดยชาวต่างชาติให้ความนิยมในการมาผ่อนคลายและทำสปาทั้งในกรุงเทพ, เชียงใหม่ และภูเก็ต
ขณะที่ยอดการจองกิจกรรมท่องเที่ยวของชาวไทย ทั้งการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศและท่องเที่ยวภายในประเทศ ก็เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 700% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น, ยุโรป, สิงคโปร์, เที่ยวไทย และฮ่องกง ตามลำดับ ทั้งนี้กิจกรรมยอดนิยมของชาวไทย ได้แก่ การไปสวนสนุก, การซื้อบัตรโดยสารเดินทาง และการเข้าชมแหล่งท่องเที่ยว
ทั้งนี้ผลสำรวจของ Klook ยังเผยให้เห็นถึง 5 เทรนด์สำคัญของนักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียลและเจน Z ที่จะทำให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ ได้แก่ เทรนด์ 1 ผลวิจัยเผยให้เห็นว่า ได้หมดยุค Revenge travel แล้ว แต่กลายเป็นกลุ่มแรกๆ ที่พร้อมออกเดินทางนอกประเทศทันทีหลังจากที่นโยบายและข้อจำกัดของการเดินทางได้ผ่อนคลาย
ดังนั้นเทรนด์ Revenge travel หรือ ออกเที่ยวให้สะใจ หลังจากที่เปิดประเทศจึงได้ตกยุคไปเรียบร้อยแล้วสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เพราะทริปที่กำลังจะเกิดขึ้นนับจากนี้ไม่ใช่ทริปแรกหลังเปิดประเทศของพวกเขาอีกต่อไป จากผลสำรวจพบว่า ชาวมิลเลนเนียลและเจน Z ออกเดินทางในช่วงครึ่งปีหลังเพราะต้องการเติมเต็มความหมายของชีวิต และสร้างแรงบันดาลใจ โดยผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า 56% ของกลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทยกำลังวางแผนท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมนี้อีกด้วย
ส่วนเทรนด์ 2 เป็นในเรื่องแรงบันดาลใจ ที่กลายเป็นเหตุผลซึ่งทำให้ชาวมิลเลนเนียลออกเดินทาง โดยผลสำรวจเผยว่า 1 ใน 4 ของกลุ่มมิลเลนเนียลและเจน Z ในเอเชีย ออกเดินทางเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจ ด้วยข้อมูล 44% บอกว่าได้รับแรงบันดาลใจจากการออกไปสัมผัสกับธรรมชาติ และ 28% เผยว่าได้รับแรงบันดาลใจจากการเที่ยวชมเมือง ทั้งนี้กลุ่มมิลเลนเนียล 1 ใน 3 มีความสนใจที่จะทำกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรม อาทิ การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ หรือการเข้าร่วมเวิร์คช็อปงานศิลปะ เป็นต้น
โดย เทรนด์ 3 จากผลวิจัยชาวมิลเลนเนียลและเจน Z ที่ตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวนั้นได้ชี้ให้เห็นว่า 72% ของมิลเลนเนียลต้องการเดินทางเพื่อพักผ่อน โดยกิจกรรมที่เลือกก็จะเป็น ทำสปา, ขับรถเล่น, เดินเล่นชมธรรมชาติ หรือเรียนทำอาหารเป็นต้น ส่วน 59% ตอบว่า ต้องการเดินทางเพราะอยากสัมผัสกับอิสระ กิจกรรมที่กลุ่มนี้ชื่นชอบก็จะเป็น เที่ยวทะเล, เล่น Surf, พายคายัก, เล่นสกี เป็นต้น ส่วนอีก 47% ต้องการเดินทางเพื่อค้นหาความสนุก ผ่านกิจกรรมสวนน้ำสวนสนุก, ช้อปปิ้ง
สำหรับ เทรนด์ 4 เป็นการค้นหากิจกรรมท่องเที่ยวก่อนจองโรงแรม โดยเมื่อครั้งในอดีต ลำดับการเตรียมจองกิจกรรมและบริการท่องเที่ยวนั้น นักท่องเที่ยวมักจะจองตั๋วเครื่องบินเป็นลำดับแรก ตามด้วยจองโรงแรมที่พัก แล้วจึงวางแผนกิจกรรมท่องเที่ยว แต่จากข้อมูล SEM ของ Klook สะท้อนให้เห็นว่าในปัจจุบันนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 20% ได้ค้นหากิจกรรมท่องเที่ยวในเมืองนั้นๆ ก่อนที่จะจองโรงแรม และเทรนด์ 5 ผลวิจัยออกมาว่า นักท่องเที่ยวชอบความชัวร์ จองล่วงหน้าก่อนของหมด โดยปกติแล้ว เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทย พวกเขาจะมีช่วงเวลาการจองกิจกรรมท่องเที่ยวล่วงหน้าประมาณ 10-11 วัน ก่อนออกเดินทาง
แต่อย่างไรก็ตามจากข้อมูลภายในของ Klook ชี้ให้เห็นว่า สำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการการท่องเที่ยวที่มีจำกัด เช่นโรงแรมห้องพักและรถเช่า นักท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มที่จะเตรียมจองล่วงหน้านานถึง 20 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาการจองล่วงหน้านานกว่ากิจกรรมท่องเที่ยวถึงเท่าตัว
นายวิลเฟร็ด กล่าวว่า ด้วยผลวิจัยดังกล่าว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ Klook จึงได้เล็งเห็นและใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวมั่นใจว่า เมื่อจองการท่องเที่ยวผ่าน Klook จะได้รับสิ่งที่คุ้มค่าและตอบโจทย์ตรงใจมากที่สุด โดยผลิตภัณฑ์แรกได้แก่ Stay+ (สเตย์ พลัส) ซึ่งเป็นแพ็คเกจการจองโรงแรมที่พัก ที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกโรงแรมที่ตนชื่นชอบ จากนั้นสามารถผนวกกิจกรรมการท่องเที่ยว หรือบริการรับส่งสนามบิน หรือ Wifi/ ซิมการ์ด รวมเข้าไปในแพ็คเกจโรงแรม โดยราคารวมของแพ็คเกจจะเป็นราคาที่คุ้มค่า และดีที่สุดในตลาด นักท่องเที่ยวสามารถได้รับส่วนลดสูงสุดถึง 50% จากการจอง Stay+ บน Klook
"ในเวลานี้มีโรงแรมในเมืองไทยร่วมทำแพ็คเกจ Stay+ กับ Klook มากกว่า 150 โรงแรม ผนวกรวมกับกิจกรรมมากกว่า 1,000 ชนิด ทำให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเมืองไทยมีทางเลือกในการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ในราคาที่คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมคาร์ลตัน กรุงเทพ + บัตรเข้าชมมหานครสกายวอล์ค หรือโรงแรมภูเก็ตเกรซแลนด์ + บริการรถรับส่งสนามบิน ซึ่งลูกค้าสามารถได้รับส่วนลดคุ้มค่า และไม่ต้องเสียเวลาจองหลายรอบ โดย Stay+ นี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เรายินดีนำเสนอเป็นอย่างมาก เพราะผลิตภัณฑ์นี้จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้ออกไปทำกิจกรรมและได้ไปสัมผัสเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ มากยิ่งขึ้น” นายวิลเฟร็ด กล่าว
รวมไปถึงอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทาง Klook ได้พัฒนาขึ้นล่าสุดและได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากนักท่องเที่ยวคือ Klook Pass โดยคอนเซ็ปต์ของผลิตภัณฑ์นี้คือการรวบรวมเอากิจกรรมยอดฮิตมารวมไว้ในบัตรเดียว จากนั้นนักท่องเที่ยวสามารถเลือกจำนวนกิจกรรมที่ต้องการ และสามารถเข้าชมกิจกรรมเหล่านั้นได้ในราคาสุดคุ้ม โดย Klook Pass นี้นอกจากจะสร้างความคุ้มค่าให้นักท่องเที่ยวและเพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ลองทำกิจกรรมใหม่ๆ แล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถนำเสนอกิจกรรมและบริการท่องเที่ยวของตนได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสการขายได้เป็นอย่างดี โดย Klook ได้พัฒนา Klook Pass นำเสนอกิจกรรมประเทศไทยด้วยเช่นกัน อาทิ Klook Pass กรุงเทพ & พัทยา, Klook Pass กรุงเทพสปาทรีทเม้นต์, Klook Pass ภูเก็ต, และ Klook Pass เชียงใหม่สปาทรีทเม้นต์ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ นายวิลเฟร็ด กล่าวว่า จุดสำคัญที่ทำให้แพลตฟอร์มของ Klook แตกต่างจากแพลตฟอร์มด้านท่องเที่ยวรายอื่นๆ คือ 1.มีกิจกรรมที่หลากหลายนำเสนอลุกค้ามากที่สุดในแพลตฟอร์มเดียวกัน 2.ราคาที่นำเสนอคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับ และ 3.การให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้า ด้วยการตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด