"เลขาฯป.ป.ช." เผย "พิธา" ยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มปี 62 มีคำสั่งศาลแนบมาด้วยให้เป็นผู้จัดการมรดกหุ้น "ไอทีวี" พร้อมให้ข้อมูล กกต.หากร้องขอ ด้าน "แพทองธาร" ยันเพื่อไทยไม่พลิกขั้ว ย้ำหนุน "พิธา" นั่งนายกฯ ลั่นพร้อมเป็นนายกฯ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ยันครอบครัวชินวัตรไม่ได้เบรก "ทักษิณ" กลับไทย ขณะที่กกต.ไฟเขียวรับรอง 329 ส.ส. อีก 71 เขต 37 จังหวัด ยังต้องลุ้น พบภท.มากสุด 23 เขต
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.66 นายนิวัตไชย เกษมมงคล เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อปี 2562 แล้ว พบว่า กรณีการถือหุ้นไอทีวี นายพิธาแนบเอกสารคำสั่งศาลว่าเป็นผู้จัดการมรดกมาด้วย ซึ่งเป็นเอกสารประมาณปี 50 ทั้งนี้ จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารกับทางศาล แต่ยังไม่ได้ตรวจสอบว่ามีสถานะอื่นด้วยหรือไม่ ส่วนการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน หลังพ้นตำแหน่งส.ส.ตอนนี้ นายพิธายังไม่ได้มีการยื่นมาให้กับป.ป.ช. ยังคงเหลือกรอบเวลายื่นได้ถึงวันที่ 18 มิ.ย. นี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า คำสั่งศาลดังกล่าว จะทำให้มีน้ำหนักหรือไม่ว่านายพิธาเป็นผู้จัดการมรดกโดยศาลสั่ง ไม่ได้เป็นผู้ที่ตั้งใจจะถือหุ้นมาตั้งแต่ต้น นายนิวัตไชย กล่าวว่า เรื่องเจตนาก็ต้องไปดูกัน แต่ทรัพย์สินที่เขายื่นมาไม่ว่าจะยื่นในนามส่วนตัวหรือในนามผู้จัดการมรดกเขาก็ยื่นมา และเป็นการยื่นตามกฎหมาย ป.ป.ช. ไม่เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็นส.ส. ซึ่งตามกฎหมายป.ป.ช. เมื่อเขายื่นมาเราก็จะตรวจสอบตามประเด็นที่เขายื่น ส่วนจะเป็นผู้จัดการมรดกจริงหรือไม่ ก็ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมตามที่เขาได้ชี้แจงไว้
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ในการเปิดบัญชีทรัพย์สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งส.ส. หรือไม่ เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่าป.ป.ช. กำลังพิจารณาอยู่ และยืนยัน ว่าป.ป.ช. พร้อมให้ข้อมูลหากกกต. ขอข้อมูลหลักฐานส่วนนี้เข้ามา เพราะเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า เหตุใดยื่น 4 ปีแล้ว ยังสอบทานเอกสารกับศาลไม่เสร็จ เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่า ตอนนี้เอกสารที่ตรวจสอบกับศาล ทางศาลบอกว่าไม่ได้เก็บเอาไว้แล้ว เราต้องพยายามหาเอกสารตัวนี้มาเพื่อยืนยันว่าเป็นเอกสารที่ศาลรับรองถูกต้องใช่หรือไม่ ทั้งนี้เอกสารที่ผู้ยื่นมาทุกอย่างป.ป.ช.จะต้องมีการตรวจสอบซ้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เท่าที่รีเช็คไปต่างก็ยังอาจจะหาไม่เจอเพราะว่ามันนานแล้ว
เมื่อถามว่า ปกติเอกสารต่างๆที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ต้องตรวจสอบในข่วงเวลานั้นๆ โดยไม่ต้องรอให้เกิดประเด็น เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่า ปกติที่ยื่นมาเราจะตรวจสอบความถูกต้อง ความมีอยู่จริงเพราะฉะนั้นเราก็จะตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนเหตุที่ตรวจสอบล่าช้าเพราะเราจะต้องสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณียื่นว่ามีบัญชีกับธนาคารกสิกรไทยเท่านั่น เท่านี่ มีที่ดิน ก็ต้องรีเฟอร์ไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจริงหรือไม่ เพื่อให้ส่งสำเนาตอบกลับมาว่าจริง เมื่อศาลบอกว่าแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกกรณีนายพิธา ไม่ได้เก็บต้นเรื่องเอาไว้ คู่ฉบับก็ไม่มีแล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องให้นายพิธา แนบเอกสารเพิ่มเติมเข้ามา
เมื่อถามว่า หากยื่นภายในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ก็ต้องแจกแจงว่าโอนมรดกนี้ไปให้น้องชาย เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่า โดยหลักแล้วจะยื่น ณ วันที่พ้นแล้วว่ามีทรัพย์สินอะไร ถ้าไม่มีหุ้นไอทีวีอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องยื่น เพียงแต่ว่าอาจจะมีกรณีที่ป.ป.ช. อาจจะต้องสอบถามไปเพราะเป็นในกรณีประเด็นสำคัญว่าตกลงแล้วหุ้นไอทีวี ได้มีการจำหน่าย จ่ายโอนมั้ย จากกรณีปกติถ้าเขาไม่มี ณ วันที่พ้นก็ไม่ต้องยื่น
ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ว่า พรรคเพื่อไทยโดนกระบวนการยุบพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหนักแน่นในประชาธิปไตย เคารพเสียงของประชาชน เพราะในเมื่อประชาชนเลือกมาแล้วก็อยากจะตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหาประเทศต่อไป และขอให้กระบวนการยุติธรรมพิจารณากันตามข้อมูลหลักฐาน และขอส่งกำลังใจให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เพราะคิดว่าประชาชนและประเทศรอไม่ไหวในการที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า สิ่งที่พรรคเพื่อไทย และครอบครัวเจอมา อยากให้ยุติลง และอยากให้มีการเมืองสร้างสรรค์ที่พร้อมพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นโดยการเคารพเสียงประชาชน
น.ส.แพทองธาร กล่าวถึงกรณีหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ว่า ยังไม่เกิดขึ้น แต่โจทย์ขณะนี้คือการร่วมตั้งรัฐบาลกับก้าวไกล รวมถึงกรณีเกมหุ้นสื่อไอทีวีที่อาจทำให้นายพิธาไปไม่ถึงการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ฝ่ายประชาธิปไตยต้องจับมือกันให้แน่น ซึ่งพรรคเพื่อไทยพร้อมสนับสนุน และต้องเคารพเสียงของประชาชน และให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ
น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวปฏิเสธข่าวการพลิกขั้วทางการเมือง โดยยืนยันพรรคเพื่อไทยไม่มีแผนที่จะพลิกไปไหน ซึ่งงงกับข่าวที่ออกมา และไม่รู้เรื่องดีลลับ ไปดีลกันตอนไหน คงเป็นดีลที่ลับมากจนไม่รู้เรื่อง จึงอยากให้หนักแน่นว่าสิ่งที่พรรคเพื่อไทยคุยกับพรรคก้าวไกลยังคงเป็นแบบเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เสียงที่ขาดอยู่กว่า 60 เสียง จะทำอย่างไร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องคุยกับกรรมการบริหารพรรคที่ไปคุยกับพรรคก้าวไกลจะดีกว่า
ส่วนกระแสข่าวการจัดโผคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในโซเชียลมีเดียที่มีชื่อน.ส.แพทองธาร นั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีนั้น น.ส.แพทองธาร หัวเราะก่อนตอบว่า ตายแล้ว รู้ก่อนอีกแล้ว ซึ่งเห็นหลายทีแล้ว เขียนว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็มี และล่าสุดเป็นรองนายกรัฐมนตรี และขอขอบคุณสำหรับทุกตำแหน่ง แต่ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง
น.ส.แพทองธาร ยังได้กล่าวถึงกระแสข่าวครอบครัวชินวัตรเบรกไม่อยากให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับประเทศไทยในขณะนี้ ว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย มิติทางการเมืองไม่มีอะไร มีแต่มิติเรื่องครอบครัว หากเป็นเรื่องที่จริงจังขนาดนั้นก็คงไม่ต้องนัดกันกินข้าวนอกบ้าน เพราะคุยที่บ้านก็คงจบได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพูดจริงๆ เป็นเพียงแค่ความห่วงใยของคุณแม่ (คุณพจมาน ดามาพงศ์) ซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวที่ห่างกับนายทักษิณมา 17 ปี
แม่ก็เป็นห่วงทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องของตนเอง เวลาที่ท่านพูดก็พูดในฐานะแม่ของลูกสาว ไม่ได้พูดในฐานะแม่ของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นความเป็นห่วงเป็นใยคุณพ่อ ครอบครัวมีมาเสมอ ซึ่งไม่มีมิติทางการเมืองด้านอื่นจริงๆ ตนได้อ่านข่าวก็มีการวิเคราะห์กันไปมากมาย ตนก็อยากจะบอกว่ามันไม่มีอะไรเลย มีแค่ความเป็นห่วงเท่านั้น
สำหรับสถานการณ์การเมืองขณะนี้อยากให้นายทักษิณกลับมาอยู่อีกหรือไม่นั้น น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เรื่องให้กลับ อยากให้กลับอยู่แล้ว แต่อยากจะให้คุณพ่อเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะอยากกลับมาตอนไหน อยากจะกลับมาอย่างไร ส่วนตัวมองว่า คุณพ่อออกไปนานแล้วก็มีความตั้งใจอยากกลับมาหลายๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปีแรกๆ ปีกลางๆ หรือ 1-2 ปีที่ผ่านมา ท่านอยากกลับมาก อยากกลับมาเลี้ยงหลาน ยิ่งเฉพาะตอนนี้เพิ่งมีหลานคนที่ 7 ก็ยิ่งอยากกลับเลย
น.ส.แพทองธาร กล่าวยืนยันว่า ครอบครัวไม่ได้มีการเบรกคุณพ่ออย่างที่มีการเสนอข่าวมา เราพูดแค่ว่าเป็นห่วง ขอให้ดูข้อมูลให้ครบ อยากกลับมาเมื่อไหร่ก็ต้องดู นี่คือข้อความที่คุยกันเสมอว่าดูให้ดี ตัดสินใจให้ดี มันคือความเป็นห่วงของคนในครอบครัว ไม่ใช่การเบรกว่าอย่ากลับมานะ ตอนนี้ยังกลับไม่ได้
อิ๊งว่ามันไม่แฟร์กับตัวคุณพ่อด้วยที่ออกไปกว่า 17 ปี เพราะฉะนั้นท่านจะกลับมาเมื่อไหร่ให้เป็นเรื่องที่ท่านตัดสินใจเองจะดีกว่า ชีวิตก็เป็นของท่าน
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายทักษิณยังคงยืนยันจะกลับเดือนก.ค.นี้อยู่เหมือนเดิมหรือไม่นั้น น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ล่าสุดคุยกันก็ยังเป็นอย่างนั้น ส่วนกรณีที่ครอบครัวออกมาเบรกไม่อยากให้น.ส.แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่ทางครอบครัวเบรก เป็นเรื่องที่คุณแม่พูดคุยกับลูกสาวคนเล็ก ที่ในใจท่านก็มีความภูมิใจลูกสาวคนเล็กที่มายืนจุดนี้ แต่ลึกๆท่านก็ยังเห็นตนเป็นเด็ก แต่ในชีวิตจริงตนก็รู้ว่าตนเองไม่ใช่เด็ก การที่คุณแม่เป็นห่วงก็ไม่รู้สึกโกรธอะไรเลยด้วยซ้ำ เพราะเรารู้ว่าเราไม่ใช่เด็ก รู้สึกว่าเขาเป็นห่วง ทั้งตอนที่ท้องแล้วไปหาเสียงท่านก็เป็นห่วงมาก ตนก็ต้อง คอยพูดตลอดว่าตนยังโอเค หาหมอแล้ว ก็จะบอกแม่อยู่ทุกครั้ง เป็นแค่ความเป็นห่วงเท่านั้นไม่มีมิติอื่นจริงๆ
เมื่อถามอีกว่า ส่วนตัวพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ถ้าตนไม่พร้อมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก็คงจะไม่เป็น ถ้าไม่พร้อมก็คงไม่ให้ชื่อตนไปลง และคุยกันในพรรคถ้าตนไม่พร้อมก็คงไม่ก้าวเข้ามาตรงนี้ เพราะ ถ้าเราไม่พร้อมก็ต้องบอกคนในพรรคว่าเราไม่พร้อม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเอกสารข้อมูลที่นำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการพิจารณาประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต (ครั้งที่ 1) ที่มีการเสนอให้ที่ประชุมกกต.พิจารณาเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยรายละเอียดของเอกสารดังกล่าว เป็นการรวบรวมข้อมูลที่เสนอให้กกต.พิจารณาว่าผู้ชนะการเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตใดบ้างที่มีเรื่องร้องคัดค้าน โดยมี 71 เขต จาก 37 จังหวัด ที่มีผู้สมัครถูกร้องคัดค้าน ดังนี้ กรุงเทพมหานครมี 33 เขต มีความเห็นเสนอประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง 32 เขต ยกเว้นเขต 28 น.ส.รัชนก ศรีนอก พรรคก้าวไกล
จ.กาญจนบุรี 5 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต และเสนอประกาศไม่รับรอง 3 เขต ประกอบด้วย เขต 1 นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ พรรคเพื่อไทย เขต 3 นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน พรรคภูมิใจไทย และเขต 4 นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ พรรคเพื่อไทย, จ.กำแพงเพชร 4 เขต รับรอง 3 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นายไผ่ ลิกค์ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ, จ.ขอนแก่น 11 เขต รับรอง 9 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 4 นายเอกราช ช่างเหลา พรรคภูมิใจไทย และ เขต 11 นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ พรรคภูมิใจไทย
จ.ฉะเชิงเทรา 4 เขต รับรอง 3 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 3 นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ พรรคเพื่อไทย, จ.ชลบุรี 10 เขต รับรอง 7 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 8 นายจรัส คุ้มไข้น้ำ พรรคก้าวไกล เขต 9 นายยอดชาย พึ่งพร พรรคก้าวไกล และเขต 10 นายสะถิระ เผือกประพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ, จ.ชัยภูมิ 7 เขต รับรอง 4 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 3 นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ พรรคภูมิใจไทย เขต 5 นายศิวะ ธงศ์ธีระดุลย์ พรรคเพื่อไทย และเขต 7 นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ พรรคพลังประชารัฐ
จ.เชียงใหม่ 10 เขต รับรอง 8 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 1 น.ส.เพชรรัตน์ ใหม่ชมพูพรรคก้าวไกล และเขต 9 นายนเรศ ธำรงทิพยคุณ พรรคพลังประชารัฐ, จ.ตรัง มี 4 เขต รับรอง 3 เขต ไม่รับรอง 1 คือ เขต 2 นายทวี สุระบาล พรรคพลังประชารัฐ, จ.นครพนม มี 4 เขต รับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 1 นายภูมิพัฒน์ พัชรทรัพย์ พรรคเพื่อไทย เขต 2 นางมนพร เจริญศรี พรรคเพื่อไทย
จ.นครราชสีมา 16 เขต รับรอง 13 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 5 นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล พรรคเพื่อไทย เขต 10 นายอภิชา เลิศพัชรกมล พรรคเพื่อไทย และเขต 12 นายนรเสรฎฐ์ ศิริโรจนกุล พรรคเพื่อไทย, จ.นครศรีธรรมราช มี 10 เขต รับรอง 6 เขต ไม่รับรอง 4 เขต คือ เขต 7 นายษฐา ขาวขำ พรรคภูมิใจไทย เขต 8 นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล พรรคภูมิใจไทย เขต 9 นางอวยพรศรี เชาวลิต พรรคประชาธิปัตย์ และเขต 10 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล พรรครวมไทยสร้างชาติ
จ.บึงกาฬ มี 3 เขต รับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือเขต 2 นายสุวรรรณา กุมภิโร พรรคภูมิใจไทย, จ.บุรีรัมย์ มี 10 เขต รับรอง 6 เขต ไม่รับรอง 4 เขต คือ เขต 4 นางรังสิกร ทิมาตฤกะ พรรคภูมิใจไทย เขต 5 นายโสภณ ซารัมย์ พรรคภูมิใจไทย เขต 6 นายศักดิ์ ซารัมย์ พรรคภูมิใจไทย และ เขต7 นายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน พรรคภูมิใจไทย, จ.ประจวบคีรีขันธ์ มี 3 เขต รับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต1 นายสังคม แดงโชติ พรรคภูมิใจไทย
จ.พระนครศรีอยุธยา มี 5 เขต รับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 2 นายชริน วงศ์พันเที่ยง พรรคก้าวไกล เขต 3 น.ส.พิมพฤดา ตันจรารักษ์ พรรคภูมิใจไทย และ เขต 5 นายประดิษฐ์ สังขจาย พรรคภูมิใจไทย, จ.พังงา มี 2 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 1 นายอรรถพล ไตรศรี พรรคภูมิใจไทย และ เขต2 นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ พรรคพลังประชารัฐ, จ.พัทลุง มี 3 เขต รับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นางสุพัชรี ธรรมเพชร ประชาธิปัตย์
จ.พิจิตร มี 3 เขต รับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นายภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ พรรคภูมิใจไทย, จ.พิษณุโลก มี 5 เขต รับรอง 3 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 1 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล และ เขต3 นายพงษ์มนู ทองหนัก พรรครวมไทยสร้างชาติ, จ.เพชรบุรี มี 3 เขต รับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 2 นายฤกษ์ อยู่ดี ภูมิใจไทย
จ.เพชรบูรณ์ มี 6 เขต รับรอง 3 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 2 นายจักรัตน์ พั้วช่วย พรรคพลังประชารัฐ เขต 5 นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ พรรคพลังประชารัฐ และเขต 6 นายอัคร ทองใจสด พรรคพลังประชารัฐ, จ.ภูเก็ต มี 3 เขต รับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 ว่าที่ร้อยตรีสมชาติ เตชถวารเจริญ พรรคก้าวไกล, จ.มหาสารคาม มี 6 เขต รับรอง 5 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 2 นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ พรรคเพื่อไทย
จ.มุกดาหาร มี 2 เขต รับรอง 1 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นายวิริยะ ทองผา พรรคพลังประชารัฐ,จ.ยโสธร มี 3 เขต รับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นางสุภาพร สลับศรี พรรคไทยสร้างไทย, จ.ร้อยเอ็ด มี 8 เขต รับรอง 7 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 3 นางรัชนี พลซื่อ พรรคพลังประชารัฐ
จ.เลย มี 4 เขต รับรอง 1 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 1 นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล พรรคเพื่อไทยเขต 2 นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ พรรคเพื่อไทย และเขต 4 นายสมเจตน์ แสงเจริญรัตน์ พรรคเพื่อไทย , จ.ศรีสะเกษมี 9 เขต รับรอง 5 เขต ไม่รับรอง 4 เขต คือ เขต 1 นายธเนศ เครือรัตน์ พรรคเพื่อไทย เขต 2 นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ พรรคเพื่อไทย เขต 3 นายธนา กิจไพบูลย์ชัย พรรคภูมิใจไทย และเขต 8 นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ พรรคภูมิใจไทย
จ.กลนคร มี 7 เขต รับรอง 5 เขต ไม่รับรอง 2 เข คือ เขต 4 นายพัฒนา สัพโส พรรคเพื่อไทย และเขต 5 นายชัยมงคล ไชยรบ พรรคพลังประชารัฐ , จ.สงขลา มี 9 เขต รับรอง 8 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 5 นายเดชอิศม์ ขาวทอง พรรคประชาธิปัตย์ , จ.สระแก้ว มี 3 เขต รับรอง 1 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 1 นางขวัญเรือน เทียนทอง พรรคพลังประชารัฐ และเขต 3 นายสรวงศ์ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย
จ.สิงห์บุรี มี 1 เขต รับรอง 1 เขต คือ นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคพลังประชารัฐ, จ.สุราษฎร์ธานี มี 7 เขต รับรอง 6 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือเขต 2 นายพิพิธ รัตนรักษ์ รวมไทยสร้างชาติ , จ.อำนาจเจริญ มี 2 เขต ไม่รับรองทั้ง 2 เขต คือ เขต 1 นางสุขสมรวย วันทนียกุล พรรคภูมิใจไทย และเขต 2 นางญาณีนาถ เข็มนาค พรรคภูมิใจไทย , จ.อุดรธานี มี 10 เขต รับรอง 9 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ ส.ส.เขต 3 นายหรั่ง ธุระพล พรรคไทยสร้างไทย
จ.อุบลราชธานี มี 11 เขต รับรอง 7 เขต ไม่รับรอง 4 เขต คือ เขต 1 นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ เพื่อไทย เขต 4 นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี เพื่อไทย เขต 7 นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ เพื่อไทย และเขต 10 นายสมศักดิ์ บุญประชม พรรคเพื่อไทรวมพลัง
สำหรับจังหวัดที่เสนอให้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งมีจำนวน 329 เขต ใน 40 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่,กาฬสินธุ์ ,จันทบุรี ,ชัยนาท ,ชุมพร ,เชียงราย ,ตราด , ตาก ,นครนายก , นครปฐม, นครสวรรค์ , นนทบุรี , นราธิวาส , น่าน ,ปทุมธานี , ปราจีนบุรี ,ปัตตานี , พะเยา ,แพร่ ,แม่ฮ่องสอน , ยะลา ,ระนอง ,ระยอง ,ราชบุรี ,ลพบุรี ,ลำปาง,ลำพูน ,สตูล ,สมุทรปราการ ,สมุทรสงคราม ,สมุทรสาคร ,สระบุรี , สุโขทัย, สุพรรณบุรี , สุรินทร์ ,หนองคาย , หนองบัวลำภู , อ่างทอง ,อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี