คนหาเช้ากินค่ำอ่วม หลังไข่ไก่หน้าตลาดทุกแผงทยานแตะฟองละ 5 บาท ขณะผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่แจงสาเหตุจากต้นทุนปัจจัยการผลิตรอบด้านพุ่งสูงไม่หยุด แม้เกษตรกรรายย่อยเองยังอยู่กันลำบาก ล่าสุดฟาร์มไก่ที่ยังคงพอมีกำลังเหลืออยู่ในพื้นที่แปดริ้วแค่เพียง 10 ราย ส่วนแม่ไก่ไข่จำนวนมหาศาลในพื้นที่ถึงเกือบ 50 ล้านตัวนั้นอยู่ในอุ้งมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่
วันที่ 14 มิ.ย.66 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวได้เข้าพูดคุยสอบถามข้อมูลจาก นายชาณุวัฒณ์ สิวะโมกข์ อายุ 45 ปี ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงไก่ไข่ ในพื้นที่ ม.7 ต.บางกะไห อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่สุนทรฟาร์ม เพื่อสอบถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับราคาไข่ไก่ ที่ขยับตัวพุ่งสูงจนถึงราคาฟองละเกือบ 5 บาทหรือไข่ไก่เบอร์ 3 แผงละ 145 บาท ที่หน้าแผงค้าขายไข่ไก่ตามท้องตลาดทั่วไป ว่ามีสาเหตุความเป็นไปอย่างไรนั้น
โดยนายชาณุวัฒณ์ กล่าวเปิดเผยว่า ราคาขายไข่ไก่คละหน้าฟาร์มในขณะนี้อยู่ที่ 3.80 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ขยับขึ้นมาขายอยู่ในราคานี้มาเป็นเวลานานกว่า 1 เดือนแล้ว ตามความเห็นชอบจากหลายฝ่ายทั้งกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ซึ่งเป็นไปตามปัจจัยการผลิตด้านต่างๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบ เกษตรกรหรือผู้ผลิตไม่ได้กำหนดราคาขึ้นมาขายเองตามอำเภอใจ จึงเป็นที่ตลาดและต้นทุน
ราคากลางเป็นราคาที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั้ง 4 แห่งทั่วประเทศได้พูดคุยกัน และนำมาเป็นราคาเฉลี่ยตามภูมิภาค ก่อนที่จะนำมาใช้ร่วมกันทั่วประเทศ และเป็นราคาเฉพาะไข่ไก่ที่มีไซด์ขนาดกลางค่อนข้างใหญ่เท่านั้น ที่จะขายได้ตามราคาประกาศ
ส่วนต้นทุนการผลิตที่ขยับขึ้น จนทำให้ปัจจัยในการผลิตทุกด้านพุ่งสูงขึ้นนั้น ประกอบด้วยข้าวโพดที่ขยับจากราคา 8-9 บาทต่อ กก. ขึ้นเป็น 15-16 บาทต่อ กก. รวมถึงกากถั่วและปลาป่นด้วยนั้น ซึ่งล้วนเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ทั้งสิ้น แม้แต่อาหารสำเร็จรูปก็ยังมีราคาสูงขึ้นจาก กก.ละ 10.5 บาทมาเป็น 17.60 บาทซึ่งถือว่าสูงมาก และเป็นอาหารเกรดธรรมดาที่คุณภาพไม่ดีมากนัก เมื่อไก่กินแล้วอาจป่วยได้ ส่วนอาหารเกรดที่ดีๆ นั้นราคาจะสูงมากขึ้นไปเกินกว่า 18 บาทต่อ กก. จึงจะให้ผลผลิตได้ดีตามความต้องการและไก่ไม่ป่วยง่าย
นอกจากนี้ราคาพันธุ์สัตว์ หรือพันธุ์ไก่สาวที่ในอดีตนั้นเคยซื้อมาได้ในราคาตัวละ 100-120 บาท ขณะนี้ราคาขึ้นมาถึงตัวละ 175 บาท หรือขึ้นมาถึงเกือบ 1 เท่าตัว ซึ่งถือว่าราคาสูงมากเท่าที่เคยปรับขึ้นมา และยังหายากอีกด้วย ทั้งที่เคยวางคิวเอาไว้ว่าจะได้รับแม่พันธุ์ไก่สาวมาเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ยังต้องถูกเลื่อนออกมาอีก 4-5 เดือนกว่าจะได้รับแม่พันธุ์ไก่ไข่สาว จึงทำให้เล้าขาดตอนขาดช่วง แม่ไก่ยืนกรงไม่มีบ้าง รวมถึงปัจจัยจากสภาพอาการด้วย จากที่เพิ่งผ่านแล้งมาจึงทำให้ผลผลิตภาคเกษตรได้น้อยลง เมื่อมีวัตถุดิบน้อยราคาก็จะสูงขึ้นตามราคาพืชไร่ในฤดูแล้ง
ขณะที่การนำเข้ามาจากต่างประเทศยังไม่สามารถนำเข้ามาได้โดยง่าย เนื่องจากต้องมีโควตาการนำเข้าด้วยทั้งที่ภายในประเทศผลิตได้น้อย นอกจากนี้ยังเชื่อว่าต้นทุนการผลิตพืชไร่ก็น่าจะสูงขึ้นด้วย ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาที่ราคาขยับแพงขึ้นไปทุกชนิด ทำให้ทุกอย่างมีราคาแพงสูงขึ้นต่อเนื่องกันมาจนถึงการผลิตไข่ไก่ ที่เป็นต้นทุนทำให้ราคาไข่ไก่ต้องขยับตัวสูงตามไปด้วย โดยเป็นราคาที่ สศก. กำหนดไว้ที่ 3.80 บาทเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ควรจะบวกเพิ่มขึ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์แต่เราไม่ได้บวกเพิ่มไปจาก 3.80 บาท ในฟาร์มที่สามารถควบคุมต้นทุนได้
ขณะเดียวกันปัญหาในเรื่องของพันธุ์สัตว์ ที่นำเข้ามาในประเทศได้น้อย รวมถึงคุณภาพของพันธุ์สัตว์ที่เรารับมานั้นไม่ได้ให้ผลผลิตได้อย่างที่ผู้ขายเคลมไว้ โดยเมื่อนำส่งมาถึงมีทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ แต่อย่างไรก็ต้องรับไว้เพราะขาดแคลน สุดท้ายก็กลายเป็นต้นทุนการผลิตเนื่องจากแม่ไก่ไม่สามารถผลิตไข่ได้อย่างที่เราต้องการ เช่น ไก่ 1 ตัวนั้นควรจะผลิตไข่ได้ 300 ฟองต่อตัวต่อรุ่น แต่กลายเป็นผลิตได้แค่ 200 ฟองต่อตัว ส่วนที่เหลือผลผลิตได้หายไปและกลายเป็นต้นทุนที่หนักหนาสำหรับคนเลี้ยงไก่
“ทีอย่างอื่นแพงได้ แต่ไข่ไก่นั้นห้ามแพง คนเลี้ยงไก่ไม่ต้องมีรายได้เลยหรือ ไม่ต้องมีกำไร ไม่ต้องมีความมั่นคงในอาชีพเลยหรือ” ถ้าจะไม่ให้กระทบต่อทุกภาคส่วนก็ต้องขยับขึ้นให้แก่ผู้เลี้ยงไก่ด้วยในระดับหนึ่ง ซึ่งความจริงนั้นในขณะนี้ทุกอย่างขยับราคาขึ้นมาแพงทั้งหมด ทั้ง หมู ไก่เนื้อ พืชผัก ค่าแรงงานก็ยังสูงแต่ทำไมไข่ไก่ไม่ให้แพง มันควรจะล้อกันไปตามต้นทุนที่ขยับแพงขึ้นให้เหมือนกันทุกด้านหรือไม่ หรือจะให้เกษตรกรที่ดั้นด้นทำกันมาต้องเลิกกันไปให้หมดหรืออย่างไร
สุดท้ายก็จะเหลือแต่เฉพาะนายทุนหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีปัจจัยการเลี้ยงแบบครบวงจรเท่านั้นหรือที่จะอยู่ได้ ทั้งที่ความจริงมันต้องเกื้อไปด้วยกันหรือไม่ จึงอยากฝากให้คิดไว้สักนิดนึง สำหรับฟาร์มของตนนั้นดำเนินกิจการมานานกว่า 40 ปี ซึ่งเป็นฟาร์มของครอบครัวนับจากรุ่นบิดามารดา และตนได้เข้ามารับหน้าที่ดูแลต่อมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ปัจจุบันมีไก่ไข่อยู่ในฟาร์มแห่งนี้ประมาณ 5 หมื่นตัวจากทั้งหมด 8 แสนตัวหากนับรวมจากทุกฟาร์มที่ได้ขยายออกไปยังในพื้นที่อื่นด้วย
แต่ไก่ไข่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีอยู่ประมาณ 50 ล้านตัว โดยส่วนใหญ่อยู่ในฟาร์มของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งหมด และมีฟาร์มของเกษตรกรที่เหลืออยู่ในพื้นที่จริงๆ แค่เพียง 10 กว่ารายเท่านั้น ที่ยังคงเข้ามาประชุมสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จากทั้งหมด 80 ราย โดยตนเป็นเลขาสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้วอยู่ด้วย และยังเป็นรองเลขาฯ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ที่มีนายมาโนช ชูทับทิมเป็นนายกสมาคม จึงทราบข้อมูลในส่วนของเกษตรกรในพื้นที่มาโดยตลอด
เมื่อปัจจัยการผลิตจากต้นทุนที่สูงขึ้น เกษตรกรก็ต้องขยับราคาขายไข่ไก่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนด้วย จึงจะอยู่รอดได้ ขณะที่ผู้ค้าไข่ไก่หรือแม่ค้าไข่ตามท้องตลาดเมื่อรับไข่ไปขายแล้ว เขาก็ต้องบวกราคาขายหน้าแผงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค่าเช่าแผง และค่าการดำเนินการต่างๆ จึงทำให้ไข่ไก่ในตลาดมีราคาที่สูงจึ้นไปอีกทอดหนึ่งจากหน้าฟาร์ม แล้วอย่างนี้จะให้เกษตรกรหรือแม่ค้าไปแก้ไขราคาไข่ได้ตรงไหน หากรัฐบาลไม่แก้ในเรื่องของปัจจัยที่เป็นต้นทุนการผลิตด้านต่างๆ ที่มีการปรับตัวกันโดยรอบด้านในทุกชนิด นายชาณุวัฒณ์ กล่าว