จากกรณีชาวบ้านใน อ.บางบัวทองกว่า 30 คน นำหลักฐานเข้าขอความช่วยเหลือกับ “ทนายโป้ง” หรือ เกียรติคุณ ต้นยาง ว่าที่ส.ส.พรรคก้าวไกล เขต 7 นนทบุรี และประธานชมรมทนายความจิตอาสา หลังส่งเงินซื้อบ้านหลักแสนบาทโครงการมั่นคง จ.นนทบุรี แต่กลับได้บ้านสภาพแคมป์คนงาน ไม่ตรงปก  บางคนทนไม่ไหวย้ายออก แต่บางครอบครัวต้องทนอยู่เพราะไม่มีเงินซื้อบ้านใหม่ 

วันที่ 13 มิ.ย. 66 รายการโหนกระแส ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ อัฐ, แหม่ม, ป้าเพ็ญ, ลำไย ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน มาพร้อม ทนายโป้ง  ที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้

เรื่องราวมันเป็นยังไง?

อัฐ : โครงการนี้มันมีการโกงกินกันเกิดขึ้น ปีแรกเป็นโครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการของทางภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนมีที่อาศัย พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ผ่านหน่วยงาน พม. และพอช. จังหวัด จากนั้นจากการดำเนินการออมหรือส่งมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ส่งให้ประธาน หรือคุณปรีชา

บ้านมั่งคงพอมีการตกลงกับภาครัฐว่าเรามีคนกลุ่มนี้ต้องการมีบ้าน ภาครัฐก็เสนอเลยโดยผ่านพม. พอช. จะทำบ้านมั่นคงแบบไหน ทางนี้เลือกทำแบบ?

อัฐ : เป็นสหกรณ์

มีการเอาเงินตัวเองออมไว้เพื่อซื้อที่ดินแล้วปลูกบ้าน โดยคนดูแลเงินคือใคร?

อัฐ : คุณปรีชา ประธานของสหกรณ์นี้ ใช้ชื่อว่าสหกรณ์ชุมชนตลาดเก่ารวมใจพัฒนา  ตอนแรกมีสมาชิกร้อยกว่าคน ทางสมาชิกทุกคนก็เห็นด้วยว่าจะมีบ้านมีอะไรขึ้นมา ก็ดำเนินการออมกัน

เมื่อก่อนสมาชิกร้อยกว่าคนอยู่ที่ไหน?

อัฐ : อยู่แถวๆ นั้นแหละครับ

ใครเริ่มมาชวนตอนแรก?

แหม่ม : ตอนนั้นเดือดร้อนที่อยู่ ก็ชวนกันมาเข้าโครงการนี้ เราอยากได้บ้าน เราไม่มีบ้าน

อัฐ : แล้วเราเกิดความเดือดร้อนจากการที่เกิดไฟไหม้ตลาดเก่าที่บางบัวทอง สักประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ก็เลยไม่มีที่อยู่ที่อาศัยกัน

ประธานเราแต่งตั้งขึ้นมา?

แหม่ม : ใช่ค่ะ ชื่อปรีชา เราก็ตกลงกันว่าเราอยากได้บ้าน ต้องออมเพื่อซื้อที่ เอาเงินไปสมทบ เพื่อจะได้ไปกู้พอช. เอาเงินจากพอช.ไปซื้อที่ดิน ก่อนเราไปกู้เราต้องจัดตั้งสหกรณ์ก่อน และไปกู้เงินกับพอช. พอช.เอาเงินมา สหกรณ์ก็เป็นที่รองรับของเงินตัวนั้น สหกรณ์ก็เอาเงินมาให้เรา เพื่อไปซื้อที่ดินแปลงนั้น  

วันนี้สื่อที่นำเสนอไป เขาใช้หัวข้อว่าบ้านไม่ตรงปก เพราะมีการนำเสนอเป็นบ้านให้พวกคุณ ใครเป็นคนนำเสนอให้?

อัฐ : น่าจะเป็นประธานกับกรรมการชุดเก่า บอกว่าบ้านเป็นแบบนี้ ทำเป็นโครงการขึ้นมา

เขาบอกราคาเท่าไหร่?

แหม่ม : 5.5 แสน

นำเสนอมา คนสนใจบ้านนี้กี่คน?

อัฐ : 100 กว่าคนครับ จับจองบ้านแบบนี้ 102 คน หลังละ 5.5 แสน

วิธีการมีบ้านหลังนี้ เขาร่วมกับทางพม. โดยการฝั่งสหกรณ์ของเราเอง คือประธาน ชื่อปรีชา ต้องเก็บเงินซื้อที่ปลูกบ้าน พม.จะจัดการให้ส่วนนึง เขามีงบให้ยังไง?

อัฐ : เขามีงบสาธารณะมาทำ

แหม่ม : บ้านหลังนี้ถ้าเราส่งสหกรณ์ ส่งพอช. เสร็จครึ่งนึง เราก็สามารถกู้มาปลูกบ้านได้ แต่ประธานปิดบัญชีไม่ได้ มันก็ไม่มาชี้แจงให้เราฟัง มันก็ไม่มาพูดอะไรให้เราฟัง เราตามตั้งหลายเดือน มันก็ไม่มา

คุณจ่ายเงินให้ประธานไปเท่าไหร่?

อัฐ : ประมาณแสนกว่าบาท

แหม่ม : 4-5 หมื่นเพราะเข้าทีหลัง

ลำไย :  8 หมื่น จ่ายแบบผ่อนให้ปรีชา

เขาบอกเลยว่าบ้านจะให้แบบนี้ เก็บเงินต้องครบเท่าไหร่?

แหม่ม : ใครพร้อมขึ้นบ้านก่อนก็ได้ขึ้น ถ้าปิดบัญชีได้

ลำไย : คนละ 5 หมื่นขึ้นบ้านได้

แต่พอคุณจ่ายเงินไป ไม่ได้ไปอยู่บ้านแบบนั้น กลับกลายเป็นบ้านสังกะสี?

แหม่ม : ใช่ค่ะ เขาทำให้อยู่ 3 เดือน แต่ตอนนี้อยู่มา 3 ปี

วันนี้ไปหาปรีชาหรือยัง?

แหม่ม : ยังไม่เจอตัวเขาเลยค่ะ เป็นปีแล้ว เราตามเขา 4-5 เดือน ยังไงก็ไม่มา ไม่รู้เขาอยู่ที่ไหน เบอร์โทรศัพท์ก็ไม่มี

แล้วตอนแรกทำไมไว้ใจเขาแล้วตั้งเป็นประธาน?

แหม่ม :   คำพูดเขาน่าเชื่อถือ ความที่เราอยากได้บ้าน เขาบอกเราต้องรวมกันซื้อที่ดิน เราก็จะได้ที่ดิน

เขาเป็นใครก่อนเป็นประธาน?

แหม่ม : เขาอยู่ในโครงการนี้เหมือนกัน เขาก็เดือดร้อนที่อยู่เหมือนกัน

ทนายโป้ง : ปัญหาของพวกเขาคือตลาดเก่าที่เขาเคยอยู่ ตลาดบางบัวทอง ไฟไหม้ เขาอยากมีบ้านกัน แล้วอยู่ดีๆ มีหน่วยงานรัฐมาเสนอ โดยการรวมตัวในชุมชน 100 กว่าคน ก็คิดว่าทำไงถึงจะมีบ้านกัน จากตลาดที่เป็นศูนย์กลางของอำเภอ ขยับไปสุดปลายทางเกือบถึงไทรน้อย ซึ่งมันไกลกันมาก พวกเขาก็ยอมอดทน เพราะมีคนมาพูดดีกับเขา คือปรีชา และเจ้าหน้าที่รัฐบอกเขาว่าไปอยู่ตรงนี้นะ จะมีบ้านเป็นแบบนี้ๆ จะมีที่อยู่อาศัย 

เจ้าหน้าที่รัฐเป็นใคร?

อัฐ : ทางพอช. ทางจังหวัดครับ

ทนายโป้ง : พวกเขาก็คิดกันว่าจะทำยังไง เพราะเขาไม่มีความรู้ เป็นคนค้าขายในตลาด การพูดการสื่อสารอาจไม่เป็นในรูปแบบที่เราต้องการ คือเช้าตื่นตีสามตีสี่มาขายของ ระบบการคิดของเขาอาจสื่อสารลำบาก เพราะนอนกันคนละเวลา ผมฟังเขา 3 วันถึงรู้เรื่อง พวกเขาเชื่อคนกลุ่มนี้ว่าจะสามารถมีบ้านมีที่ให้เขาได้ ก็ถามว่าทำยังไง เขาบอกว่าตั้งเป็นสหกรณ์สิ ต่างคนต่างออมกัน เดือนละพันกว่าบาทบ้าง สองพันกว่าบาทบ้าง สามพันกว่าบาทบ้าง แล้วแต่ใครมีศักยภาพในการออมมากกว่ากัน แต่เงินส่งเข้าสหกรณ์ แต่ผ่านคนนำเข้าสหกรณ์ ก็คือปรีชา

วันนี้ปรีชาหายไปแล้ว วันนี้ทำยังไงกัน ที่ดินซื้อไปหรือยัง?

อัฐ : ซื้อไปแล้ว มีแต่ที่ดิน แต่ไม่มีบ้าน

ทนายโป้ง : พอมีที่ดินก็มีคนมาเสนอบอกว่าเห็นว่าพวกเราลำบาก เดี๋ยวจะสร้างบ้านน็อกดาวน์ให้อยู่ เป็นรูปบ้านน็อกดาวน์มาเลย ทางนี้ก็ดีใจสิ เราก็ขาดแคลนที่อยู่ อยู่ดีๆ มีที่แล้ว มีคนบอกจะมาสร้างบ้านน็อกดาวน์ให้ก็ดีใจ แต่อยู่ดีๆ กลายเป็นบ้านสังกะสี ผมก็ถามเขาว่าเจอสภาพนี้ทำไมไม่บอกเขาว่าอยู่กันไม่ได้ เขาบอกสมาชิกว่าอยู่กันไปก่อน 3 เดือน อดทนแค่ 3 เดือน แล้วจะได้มีบ้านอยู่อย่างตัวอย่างที่ให้ดู

ตกลงไม่ใช่ 3 เดือน ตอนนี้กี่ปีแล้ว?

แหม่ม : 3 ปี

ทนายโป้ง : จนเขาทนไม่ไหว เดือนพ.ย. เขารวมตัวกันไปร้องที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดนนทบุรี เดือนนึงแล้วไม่ได้คำตอบ เขาเลยรวมตัวกัน 30 คนไปแจ้งความที่สภ.บางบัวทอง แจ้งเดือนธ.ค. นี่มิ.ย. 6 เดือนแล้วคดีไม่คืบ เขาก็เลยร้องเรียนมาทางผม ผมก็ลงพื้นที่ไปดู ติดต่อประสานงานทุกหน่วยงาน เมื่อเช้าเจ้าพนักงานที่ดินบางบัวทองก็โทรศัพท์มาหาผมแล้ว บอกเดี๋ยวจะลงพื้นที่ไปดูให้ ว่าพื้นที่แปลงนี้อยู่ตรงไหน เป็นกรรมสิทธิ์ของใครเดี๋ยวจะไล่ให้ ส่วนพนักงานสอบสวนเดี๋ยวบ่ายสองนัดไว้ที่สภ.บางบัวทอง จะเอาพวกเขาไปติดตามความคืบหน้าของคดีว่า ทำไม 6 เดือนแล้วสำนวนถึงไม่คืบหน้า ไม่ออกหมายเรียกผู้ต้องหา หรือผู้กระทำความผิดมารับทราบข้อกล่าวหาสักที

ที่ดินแปลงนี้เป็นชื่อใคร?

อัฐ : ชื่อสหกรณ์ใหญ่เลยครับ สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ใช่ของชุมชนเลยทีเดียว

“คุณศศลักษณ์ มณีนิล” อยู่ในสาย ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 2 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนนทบุรี กรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่องนี้ยังไงพี่?

ศศลักษณ์ : กลุ่มสมาชิกคือกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน ก่อนมาตั้งสหกรณ์ เขาตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาก่อน ภายใต้การดูแลของพอช. เขาก็ออมเงินมาในระยะนึง จนกระทั่งทางพอช.พิจารณาแล้วว่ามีศักยภาพ มีวินัยทางการเงิน เขาก็จะออกหนังสือรับรองให้กลุ่มนี้เพื่อมาขอจัดตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้นมา พอจัดตั้งเป็นสหกรณ์เสร็จ ก็จะมีการเลือกตั้งกรรมการขึ้นมา แล้วสหกรณ์ก็จะยื่นเรื่องต่อพอช.เพื่อขอกู้เงินในการจัดซื้อที่ดินก่อน เมื่อจัดซื้อที่ดินได้แล้วก็ต้องส่งชำระหนี้พอช.ไปตามงวด ในส่วนของบ้านกู้เพื่อที่อยู่อาศัยจะเป็นอีกสัญญานึง แต่หลักเกณฑ์ภายใต้สัญญา พอช.ก็ต้องพิจารณาจากว่าสมาชิกมีวินัยในการเงินแค่ไหน มีการส่งหนี้หรือมีการออมตามเงื่อนไขของสัญญามั้ย ที่พอช.จะปล่อยกู้ได้หรือไม่ หลังจากนั้นปรากฏว่าพอช.ไม่สามารถปล่อยกู้เพื่อสร้างบ้านเพื่อที่อยู่อาศัยนี้ได้ เนื่องจากว่าไม่เข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์

แล้วเงินที่เขาจ่ายไปล่ะ?

ศศลักษณ์ : เอาทีละอย่างก่อนเนอะ เมื่อไม่เข้าหลักเกณฑ์ ทางพอช.ก็เห็นว่าเขาเดือดร้อน สมาชิกสหกรณ์มีแจ้งรายชื่อไป 35 รายว่าเดือดร้อนจากที่พักอาศัย ทางพอช.ก็สนับสนุนงบประมาณ เงินให้เปล่ามา 6 แสนกว่าบาท ในการสร้างบ้านพักชั่วคราว และต้องรอจนกว่าสมาชิกมีความพร้อมถึงยื่นกู้พอช.ใหม่ เพื่อกู้เงินในการสร้างบ้าน ทีนี้การออมเงินของสมาชิก เนื่องจากสหกรณ์หนึ่งในเงื่อนไขที่ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ คือปิดบัญชีไม่ได้มาหลายปี สืบเนื่องจากบัญชีของกลุ่มมีสองอย่าง คือบัญชีกลุ่มออม กับบัญชีสหกรณ์ เงินของกลุ่มออม ต้องมีบางส่วนโอนเข้าสหกรณ์ด้วย เพราะสมาชิกบางส่วนมีการโอนเงินค่าหุ้น โอนเงินค่าที่ดิน โอนเงินค่าออม ซึ่งโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ 

อยากเอาลงดีเทลเลยได้มั้ย อยากรู้ว่าคนกลุ่มนี้จะต้องทำยังไงเพราะเขาจ่ายเงินให้คุณปรีชาไปแล้ว แล้วปรีชาหายตัวไป เงินไม่ถึงสหกรณ์หรือเปล่า?

ศศลักษณ์ : ในส่วนกลุ่มออมทรัพย์ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว อันนี้ไปสู่กระบวนการทางกฎหมาย แต่ส่วนของสหกรณ์ ณ ตอนนี้เนื่องจาก 26 มิ.ย. มติที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ มีมติว่าขอเลิกสหกรณ์เอง

สหกรณ์ถูกเลิกไปแล้วสิ?

ศศลักษณ์ : ใช่ค่ะ ตอนนี้มีการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และรอผู้ชำระบัญชีชำระบัญชีให้แล้วเสร็จ เมื่อเคลียร์หนี้สินทั้งหมด นั่นถึงเข้าสู่กระบวนการว่าหากสมาชิกเองอยากตั้งสหกรณ์ใหม่ ทางสหกรณ์จังหวัดไม่มีอะไรขัดเลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจัดตั้งสหกรณ์ใหม่ ต้องไปเริ่มสตาร์ทจากกลุ่มออมใหม่

ต้องเริ่มจ่ายตังค์ใหม่เหรอ?

ศศลักษณ์ : ค่ะ

ผอ.จะบอกว่าสำนักงานสหกรณ์ไม่เกี่ยวข้อง คุณต้องไปเริ่มต้นกันใหม่ เพราะปลายทางอยู่ที่สหกรณ์สำนักงานสหกรณ์ต้องตั้งขึ้นมาให้ แต่เงินไปไม่ถึง ถูกตัดตอนโดยปรีชา ผอ.จะบอกว่างั้นคุณไปจัดตั้งสหกรณ์กันมาใหม่แล้วเดี๋ยวดูแลให้ ถูกมั้ย?

ศศลักษณ์ : ถูกต้องค่ะ

ทนายโป้ง : ที่ท่านบอก เงิน 6 แสนได้เป็นแคมป์คนงาน ให้คนมีความรู้ประเมินหน่อยว่าแคมป์คนงานนี้มันราคา 6 แสนเหรอ แต่ส่วนสหกรณ์พวกเขาไม่รู้ พวกเขามีหน้าที่ส่งตามสัญญาที่ทำไว้กับสหกรณ์ ว่าซื้อบ้านราคาเท่านี้ ต้องส่งเดือนละเท่านี้ ถ้าส่งล่าช้าปรับอีกวันละ 200 บาท

แต่ตอนนี้โดนเลิกสหกรณ์แล้ว?

ทนายโป้ง : เขารู้เรื่องแล้วว่าโดนเลิกสหกรณ์ แต่เขาก็ยังส่งอยู่ ไม่มีใครบอกเขา

แหม่ม :   ปรับวันละ 200 สหกรณ์ไม่รู้เรื่องเลย เราจ่ายคุณปรีชาไปค่ะ

สหกรณ์พยายามบอกว่าไม่เกี่ยวกับเขา ให้พวกคุณไปจัดการกับปรีชากันเอง เป้าคุณคือปรีชา ตามปรีชาให้ได้ เอาเงินไปไหน ดำเนินคดีต่างๆ นานา สองคุณต้องเริ่มนับหนี่งใหม่ จ่ายเงินใหม่?

ทนายโป้ง : ปรีชาแจ้งความไป 6 เดือนแล้ว เดี๋ยวกำลังจะไปตามว่าปรีชาอยู่ไหน

อัฐ : บางทีเชิญเขามาชี้แจง ทำหนังสือเชิญไปก็มี แต่ตอนนี้เขาหายไปไหนไม่รู้ ติดต่อไม่ได้

แหม่ม : ตอนทำโครงการเราจะรู้ว่าเขาอยู่ตรงไหน แต่ตอนนี้เขาย้ายบ้านหนีไปแล้ว

ใครเป็นคนทำสังกะสีให้คุณ?

 แหม่ม : ปรีชาเป็นคนสร้าง

ต้องย้ายออกมั้ย?

ทนายโป้ง : ต้องให้สำนักงานที่ดินบางบัวทองตรวจสอบดูว่าที่ดินนี้เป็นของใคร แต่ถ้ามีเจ้าของที่แท้จริง เจ้าของเขาคงดำเนินการจัดการแล้ว แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นชื่อสหกรณ์อยู่ สหกรณ์จะชำระบัญชีอะไรหรือเปล่า แต่สิ่งที่พวกเขากังวลคือหน่วยงานภาครัฐ อย่างพอช. ที่เป็นของกระทรวงพม. เคยรับปากพวกเขาว่าจะมาดูให้พวกเขา รับปากตั้งแต่ปีใหม่ว่าจะมาภายใน 3 เดือน แต่นี่ 6 เดือนแล้วไม่มาเลย เขาเหมือนเคว้งคว้าง ตอนแรกพวกคุณมาบอกพวกเขาไว้อย่างดี มีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีองค์การอะไรมา เขาก็เกิดความเชื่อมั่น แต่พอวันนี้เขาเกิดอุปสรรคอะไรก็แล้วแต่ คุณเหมือนทิ้งเขาเลย เขาเคว้งคว้างเลย แล้วบอกให้เขารอ เขาก็รอ รอจนไม่รู้กี่เดือนแล้วก็ยังไม่เจอ

ชาวบ้านตั้งใจจะได้บ้านอีกแบบ แต่กลับได้มาอีกแบบ ปัญหาก็คือต้องไปตามที่ปรีชา แจ้งความแล้ว ทุกวันนี้ป้าอยู่ที่นี่ยากลำบากมาก?

ลำไย : ค่ะ อยู่ไม่ได้เลย ฝนตกก็รั่ว

ป้าเพ็ญ : งูเยอะมาก งูเห่าด้วย

ลำไย : พายุมา มันพัดหนีหมดเลย สังกะสีก็ต้องพากันมาทำใหม่ค่ะ

กลางวันร้อนมั้ย?

ลำไย : ร้อนค่ะ ไม่มีที่อยู่เลย ต้นไม้ที่จะพักอาศัยก็ไม่มี เวลาพายุมาก็กอดเสากันทุกคน กลัว ปลิวหลายครั้งแล้วมาช่วยกันทำ

ไปแจ้งความแล้วตร.ตามปรีชายังไง?

อัฐ : เงียบไปเลยก็มี แจ้งที่สภอ.บางบัวทอง

อยู่ในสายกับ “คุณสยาม นนท์คำจันทร์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.เรื่องนี้พอจะช่วยชาวบ้านได้ยังไง?

สยาม : คงต้องร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อดำเนินการเรื่องที่เป็นคดีความกัน แต่ผมคิดว่าเรื่องสำคัญคือเรื่องที่สอง เราจะทำยังไงให้พี่น้อง 40 คนที่เดือดร้อนที่อยู่อาศัย สามารถมีที่อยู่อาศัยได้อย่างมั่นคงตามแผนงานที่วางไว้ เราจะเร่งดำเนินการอย่างด่วน ทางสถาบันได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดนึงเพื่อลงไปคลี่คลายปัญหานี้โดยเร็ว ส่วนเรื่องที่สาม ที่พักชั่วคราวเป็นข้อจำกัด เราจะลงไปฟื้นฟูที่พักชั่วคราวให้สามารถอยู่ได้ ระหว่างรอสร้างบ้านใหม่ เราจะทำ 3 เรื่องในทันทีครับ

ทนายโป้ง : ขอเรียนถามด้วยความเคารพ ข้อที่สามน่าจะแล้วเสร็จในเดือนไหนครับ

สยาม : พวกผมจะลงไปดูแลภายในเสาร์-อาทิตย์นี้ เพื่อดูแลพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ เข้าใจความเดือดร้อนอยู่ครับผม

ทนายโป้ง : งั้นเสาร์นี้คงได้พบท่านนะครับ

สยาม : ยินดีครับ เราลงไปช่วยแก้ปัญหาให้พี่น้อง ตามเจตนารมณ์ ผมฟังดูก็มีข้อจำกัด ความเข้าใจคลาดเคลื่อนก็มี ยินดีเข้าไปคลี่คลายปัญหาให้เดินหน้าตามแผนงานเจตนารมณ์ของสหกรณ์ต่อไปครับ

มุมนายปรีชาจะตามยังไง?

สยาม : ทางนายปรีชาเรื่องคดีความคงว่ากันไปตามกฎหมาย  ก็ว่ากล่าวโทษแล้ว ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนเราคงไปฟื้นฟูกลุ่มเป็นหลัก เพื่อให้กลุ่มเข้ามาบริหารจัดการบ้านว่าบ้านไม่ตรงปก จริงๆ ต้องนำเรียนว่าบ้านไม่ใช่แบบบ้านแบบนั้น เป็นที่พักชั่วคราวเฉยๆ เราจะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถมีที่อยู่อาศัยตามเดิมครับ

บ้านไม่ได้เป็นแบบสวยงามแบบนั้นเหรอ?

สยาม : ประเด็นที่หนึ่ง ตรงแคมป์คนงานจะไปปรับปรุงเพื่อให้อยู่ในช่วงรอก่อสร้างบ้านจริง เราจะลงไปดูวันอาทิตย์นี้ สองเราจะเดินหน้าเรื่องการก่อสร้างบ้านตามแผนงานเดิม ถึงแม้จะมีข้อจำกัดแต่เราจะฟื้นฟูกลุ่มออมทรัพย์ หรือกลุ่มอื่นเข้ามาจัดการที่อยู่อาศัยให้ประชาชนครับ

แต่เมื่อกี้ผอ.กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ เขาบอกเขาขอเลิกสหกรณ์นี้เลย จนกว่าจะไปรวบรวมเงินมาใหม่ แล้วเสนอใหม่ ท่านมองยังไง?

สยาม : อันนั้นก็เป็นไปตามขั้นตอนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ แต่กลุ่มของเรามีความจำกัดเรื่องการบริหารจัดการอย่างที่ทราบ แต่ชาวบ้านที่เดือดร้อนที่อยู่อาศัย มันต้องได้รับการแก้ไขปัญหาครับ ต้องแยกออกการแก้ปัญหาสหกรณ์ กับการทำให้พี่น้องมีที่อยู่ที่อาศัยครับ มันเป็นภารกิจสำคัญ เพราะกลุ่มนี้เดือดร้อนที่อยู่อาศัย เป็นกลุ่มที่ถูกไล่ที่ ถูกไฟไหม้ ไร้ที่อยู่อาศัยในย่านนั้น เราต้องทำให้เขามีที่อยู่อาศัยตามภารกิจหน่วยงานเราครับ

ทนายโป้ง : ก็ถือว่ามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ระยะทางที่เราอดทนกันมา 4-5 ปี วันนี้ท่านผู้ช่วยสยามมีกุญแจสำคัญที่จะไขไปหาแสงสว่างแล้ว ก็รอลุ้นว่าวันอาทิตย์นี้ที่ท่านจะลงพื้นที่ ความเป็นรูปธรรม ความประจักษ์ให้เราเห็น อย่างน้อยไม่ใช่แคมป์คนงานแล้ว

แหม่ม : ดีใจมากเลย คำพูดสุดท้าย ดีใจอย่างแรงเลย

ลำไย : น้ำตาจะไหลเลย (สะอื้น) ดีใจมาก

สยาม : ปัญหาต้องช่วยกันแก้ไข ต้องช่วยกัน สมาชิกที่เหลือมาร่วมไม้ร่วมมือกัน พอช.ยินดีทำงานรวมกับพี่น้องประชาชนให้มีที่อยู่ที่อาศัยต่อ

จะไม่เหมือนแคมป์คนงานแล้ว?

สยาม : ใช่ครับ จะทำให้ดีที่สุดครับ เพราะว่ามันมีสองอย่าง คือเวลาเราอุดหนุนงบประมาณให้บ้านมั่นคง ถ้าเราเอามาใช้เพื่อทำที่พักชั่วคราวจนเกินไป งบประมาณที่เราจะเอามาสมทบเรื่องบ้านถาวร ก็จะลดน้อยลง จะพยายามคุยกับพี่น้องให้อยู่ได้เท่าที่จำเป็น เพื่อเดินหน้าบ้านใหม่บ้านถาวรให้ดีที่สุดครับ

คุณสยามยืนยันว่าเงินจะมีอยู่ก้อนนึง แต่ถ้าต้องการบ้านดีเลย จะไปทอนเงินที่สร้างบ้านหลักให้ เดี๋ยวท่านจะไปพัฒนาหลังรองให้อยู่กันก่อน แล้วเก็บเงินส่วนนึงมาสร้างบ้านหลังหลักให้?

สยาม : ถูกต้องครับ

แหม่ม : ดีใจตอนจบ

แม่ร้องไห้เลย?

ป้าเพ็ญ : ลำบากค่ะ กินข้าวอยู่นั่งตะขาบเลื้อยมา ตัวเบ้อเริ่มเลย งูที่โผล่หัวขึ้นมาตามร่อง

ทนายโป้งจริงๆ ลงไปพื้นที่เพื่อดูเรื่องผู้ป่วยติดเตียง แต่ได้รู้เรื่องนี้?

ทนายโป้ง : ผมได้รับรายงานจากผู้ช่วยที่อยู่ในเขตบอกว่าให้ไปช่วยดูหน่อย มีผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีใครดูแล ผมก็ประสานกู้ภัยว่าอยู่ตรงไหน แต่ไปเจอเขาก็บอกว่าเอ๊ะ นี่มันแคมป์คนงานนี่ เขาบอกไม่ใช่ นี่มันบ้านมั่นคง ผมไปสองสามวันฝนตกทุกวัน

เริ่มภารกิจว่าที่ส.ส.ก้าวไกล?

ทนายโป้ง : ใช่ หัวหน้าพรรคท่านบอกเอาไว้ว่าสิ่งแรกที่เราชนะเลือกตั้ง และต้องทำทันทีคือการลงพื้นที่ ไปหาเสียงที่ไหนก็ไปขอบคุณที่นั่น แล้วลงพื้นที่ตลอดทุกวันเลยนะ ไปทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ที่อยู่ในพื้นที่ที่เขาเลือกเรา เพื่อรับทราบปัญหาของพี่น้องประชาชนว่าอะไรที่เขายังติดขัดอยู่ นโยบายพรรคก้าวไกลคือจะปลดล็อกท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการ ถ้าเราปลดล็อกท้องถิ่นได้ รายการคุณหนุ่มจะเหงาเลย ไม่มีใครมาร้องแล้ว เพราะทุกคนจะมีความสุข

การสร้างบ้านให้ประชาชนที่ไร้ที่อยู่อาศัย ขั้นตอนมันเยอะเหลือเกิน?

ทนายโป้ง : เนื่องจากระเบียบบริหารจัดการของเราค่อนข้างละเอียด เพื่อป้องกันการทุจริต แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาอุปสรรคในการจัดการ ถ้าภาครัฐร่วมบูรณาการ พรรคก้าวไกลก็มีนโยบายชัดเจนในการบริหารจัดการ ถ้าเราเป็นรัฐบาลทุกอย่างจะกระชับ รวดเร็ว เป็นธรรมและเท่าเทียมทุกบริบท ไม่ว่าจะสังคม กฎหมาย ทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนจะได้รับสิทธิเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน