เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ สกุลวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) กรมป่าไม้ พร้อมด้วยนายสัญญา แก้วธรรมานุกูล ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ นำข้าราชการ และ เจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมป่าไม้ ร่วมกิจกรรม Kick Off ปลูกป่าพื้นที่นำร่องมาตรฐาน Premium T-VER ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม โดยมีนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธีเปิด โดย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) กรมป่าไม้ ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สถานีวิทยุกรีนเวฟ 106.5 Mhz ตลอดจนหน่วยงานราชการ นักเรียน นักศึกษา ชุมชนในพื้นที่ จำนวน 400 คน ดำเนินกิจกรรมปลูกป่า จำนวน 5,000 ต้น ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งขวา เนื้อที่ 25 ไร่ ณ ตำบลแม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องลดคาร์บอนตามมาตรฐาน Premium T-VER หรือโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในระดับสากล แห่งแรกของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่
“โครงการ T-VER” คือ กลไกลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศที่ดำเนินการพัฒนาขึ้นโดย องค์การบริหารจัดการ ก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ตั้งแต่ปี 2557 มีชื่อเต็มว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย เรียกย่อว่า T-VER (ที-เวอ) ซึ่งการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ T-VER นับเป็นเพียงก้าวแรกที่จะช่วยให้ “โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนรวม” ของ กฟผ. มีแนวทางการพัฒนาโครงการอย่างมีมาตรฐาน และสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับการคัดเลือกพื้นที่ปลูกป่า โดยขยายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในระดับพื้นที่ เพื่อให้ครอบคลุมทั้งการปลูกและบำรุงรักษา เพิ่มเปอร์เซ็นต์การรอดตายของต้นกล้า การดำเนินโครงการในบางพื้นที่ ยังได้เพิ่มความเข้มข้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง หรือ “Premium T-VER” ซึ่งเป็นการพัฒนายกระดับมาตรฐาน T-VER จากระดับประเทศสู่มาตรฐานระดับสากลที่ทั่วโลกยอมรับ มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่
นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า โครงการปลูกป่าฯ เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่สนองนโยบายการยกระดับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ สร้างประโยชน์จากการดูดซับกักเก็บคาร์บอน และเป็นภารกิจที่ได้รับความร่วมมือและรวมพลังกันของทุกฝ่าย มาช่วยกันส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ตลอดจนเป็นการช่วยส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ และสังคมของคนในชุมชน ซึ่งสามารถนำไปใช้ดำเนินการต่อยอดและขยายผล และขอขอบคุณ กฟผ. กรมป่าไม้ และหน่วยงานพันธมิตร ที่จัดกิจกรรมปลูกป่าใน เเห่งนี้ และยกระดับเป็นพื้นที่ Premium T-VER แห่งแรกของประเทศไทยหวังว่าจะสามารถขยายผลเพื่อสร้างประโยชน์ ทั้งคุณภาพชีวิต คุณภาพอากาศที่ดี รวมถึงพัฒนาฟื้นฟูเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของจังหวัดลำปาง ต่อไป.