“ดีพร้อม” เตรียมจัดบิ๊กอีเวนท์ งาน “อุตสาหกรรมแฟร์” สู่ความสำเร็จ 4 มิติ เปิดพื้นที่ยกระดับอุตสาหกรรมคู่ชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือ คาดสร้างเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 100 ลบ.

ที่ จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566  กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เตรียมเปิดพื้นที่โชว์ผลงานสุดยิ่งใหญ่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมคู่ชุมชนด้วย “หัว” และ “ใจ”ผ่านนโยบาย MIND สู่ความสำเร็จ 4 มิติในงานอุตสาหกรรมแฟร์ “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปั้นแต่ง โตไว ด้วยดีพร้อม” 23-30 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM MICE CENTER) จังหวัดลำปาง โดยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการได้แสดงถึงความสำเร็จทางธุรกิจผ่านกิจกรรมในโซนต่าง ๆ อาทิ กิจกรรม DIY ชุมชนดีพร้อม และทดสอบตลาดของเอสเอ็มอีดีพร้อมกว่า 80 ร้านค้า ทดลองใ้ช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรฟรี แสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตจากบริษัท โตโยต้า ประเทศไทย จำกัด และการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมทั้ง การแสดงให้เห็นถึงการดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมและรักษาสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด BCG Model ผ่านการพัฒนาแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) อีกทั้ง ยังเน้นย้ำการกระจายรายได้ให้กับประชาชนและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นผ่าน 7 วิธีปั้นชุมชนดีพร้อมด้วยการฝึกอาชีพนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมกว่า 50 หลักสูตร คาดว่าสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 100 ล้านบาท

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ตอบโจทย์นโยบายของนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเดินหน้า ใช้ “หัว” และ “ใจ” ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชนให้สมดุลและยั่งยืน ผ่านนโยบาย MIND สู่ความสำเร็จ 4 มิติที่ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มุ่งเน้นความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก และการกระจายรายได้ให้กับประชาชนและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงได้กำหนดจัดงาน อุตสาหกรรมแฟร์ “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปั้นแต่ง โตไว ด้วยดีพร้อม” ปี 2566 ระหว่างวันที่ 23-30 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM MICE CENTER) จังหวัดลำปาง เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของการดำเนินงานของดีพร้อมผ่านโซนต่าง ๆ อาทิ

•โซนกิจกรรม DIY ชุมชนดีพร้อม จำนวน 36 ร้านค้า ที่สามารถเลือกและประดิษฐ์สินค้าได้เองตามแบบที่ต้องการด้วยความคิดสร้างสรรค์

•โซนเอสเอ็มอีดีพร้อมจำหน่ายสินค้า จำนวน 46 ร้านค้า พบกับสินค้ามีมาตรฐานเกรดพรีเมี่ยม พร้อมส่วนลดพิเศษ 50-70% เช่น สินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ ของประดับของตกแต่ง ของใช้ และอาหาร เป็นต้น

•โซนทดลองใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรฟรี อาทิ เครื่องขอดเกล็ดปลา เครื่องลดความชื้นดอกเกลือ เครื่องคั้นมะขามเปียก ตู้อบพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ และเครื่องบรรจุน้ำพริกเผาใส่หลอดอัตโนมัติ

•โซนแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตจากบริษัท โตโยต้า ประเทศไทย จำกัด ด้วยการสาธิต Karakuri Kaizen For DIPROM Community รวมถึงการประกวดแข่งขัน Karakuri Kaizen และการแข่งขันหุ่นยนต์ 

•โซนเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่านนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและเครื่องมือแพทย์ เช่น เบาะรองนั่งสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องฝึกการทรงตัว ไม้ช่วยพยุง รถเข็นวีลแชร์สำหรับเข็นเข้าชักโครก เตียงฝึกยืน อุปกรณ์ยกตัวผู้ป่วย เป็นต้น

•โซนนิทรรศการแนวคิดการพัฒนาแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ภายใต้แนวคิด BCG Model ประกอบด้วย  เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ด้วยการนำนวัตกรรมการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรสู่การยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และลดปัญหาฝุ่น PM2.5 เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพิ่มมูลค่าลีโอนาร์ไดต์จากการทำเหมืองเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีเคมี พรีเมี่ยมเกรดใช้กับการเกษตร รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคาร เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้าของหน่วยงานราชการในพื้นที่แม่เมาะ และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การส่งเสริมพัฒนาบุคลากรสายอาชีวศึกษาในพื้นที่ให้มีความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้า รองรับอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเป็นแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจ รวมถึงการจัดการขยะ

•โซนฝึกอาชีพนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมกว่า 50 หลักสูตร เช่น ฮวงจุ้ยธุรกิจสำหรับสายมู แก้ปัญหาการเงินอย่างไรให้ได้ผล วัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วย iot ทำการตลาดออนไลน์อย่างไรให้ปัง และยังมีวิธีการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีกด้วย

นอกจากนี้ ภายในงานอุตสาหกรรมแฟร์ ยังมีการจัดแสดงกลไกสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านกลไก “7 วิธีปั้นชุมชนดีพร้อม” พร้อมทั้ง มีการให้คำปรึกษาแนะนำการดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ และการบริการด้านการเงินตลอดทั้งการจัดงานในครั้งนี้

นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้กล่าวว่า จังหวัดลำปางมีนโยบายในการขับเคลื่อนพัฒนาจังหวัดลำปางด้วยการสร้างความสุขให้กับประชาชนในจังหวัด ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ปลอดภัย ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทช่วยภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ปัญหาและเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเมือง อุตสาหกรรมแฟร์มีส่วนสนับสนุนยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด "ลำปางน่าอยู่ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชุมชนวัฒนธรรมทันสมัยสู่นครแห่งความสุข (Happiness health creative economy)" พร้อมทั้ง ส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ภาคเหนือให้จังหวัดลำปางเป็นศูนย์กลางของการจัดประชุมและและการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ รวมถึง ได้มีการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการจัดงานดังกล่าว อาทิ การร่วมจัดงาน การจัดการจราจร และการประชาสัมพันธ์งานที่ช่วยกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ในจังหวัดลำปางเล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมที่ส่งผลค่อคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายจักรพงษ์ กลิ่นวงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ เป็นการกระตุ้นประชาชนในจังหวัดลำปางและจังหวัดใกล้เคียงให้เข้าร่วมงานอุตสาหกรรมแฟร์ เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ที่เข้ามาร่วมจัดแสดงสินค้าภายในงาน และเป็นการทดสอบตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปพัฒนาสินค้าและบริการต่อไป ซึ่งการจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดการผลักดันเศรษฐกิจภาคเหนือให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM MICE CENTER) จังหวัดลำปาง ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างต่อไปอีกด้วย 

นายใบน้อย กล่าวต่อว่า “นอกจากนี้ ดีพร้อมยังมีแผนการจัดกิจกรรมอื่น ๆ หลังจากนี้ในพื้นที่ของศูนย์ประชุมดังกล่าว เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ ยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ภาคเหนือในอนาคต และถือเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์กระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค เพื่อก่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางธุรกิจภายในภูมิภาค สร้างผลสัมฤทธิ์ต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปด้วยในอนาคต  ขณะที่การจัดงานในครั้งนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับคนภายในพื้นที่จังหวัดลำปางและจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือได้มาจับจ่ายใช้สอยและมาท่องเที่ยว เกิดการกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการและคนในชุมชนเป็นวงกว้าง โดยคาดว่าจะมีผู้ร่วมงานไม่ต่ำกว่า 50,000 คน และต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทจากกิจกรรมตลอด 8 วัน” นายใบน้อยกล่าวทิ้งท้าย