คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย

เนื่องจากผมได้รับอนุญาตจาก “อธิการบดี ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์” อธิการบดีและผู้ก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่” ให้ผมเดินทางไปทำภารกิจในสหรัฐฯเกือบสองปีแล้ว ผมจึงใคร่ขอนำสิ่งแปลกๆใหม่ๆที่เกิดขึ้น ซึ่งมีความแตกต่างจากเมื่อครั้งที่ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯมากว่าสี่สิบปีมาแบ่งปันแก่ท่านผู้อ่าน

ทั้งนี้ก่อนอื่นผมใคร่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับศักยภาพที่ถือเป็นจุดแข็งของสหรัฐอเมริกาเสียก่อน แล้วจะขอวกมาพูดถึงจุดอ่อนของสหรัฐฯในช่วงหลังๆ

สำหรับศักยภาพที่ถือเป็นจุดแข็งอันดับแรกของสหรัฐฯก็คือ เสถียรภาพของรัฐบาล ที่ถึงแม้ว่านักการเมืองของพรรครีพับลิกัน และนักการเมืองของค่ายพรรคเดโมแครตมักจะมีการขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่ทว่าเมื่อใดก็ตามที่เกิดวิกฤติของประเทศ นักการเมืองทั้งสองพรรคยักษ์ใหญ่นี้ ก็จะหันหน้ากลับมาร่วมมาประนีประนอมเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องหนี้สาธารณะของสหรัฐฯที่พุ่งทะลุเพดานถึง 31 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์!!!

โดยข้อมูลของกระทรวงการคลังได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขเอาไว้เมื่อต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 2022 ว่า หนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯทั้งหมดอยู่ที่ 31,123 ล้านล้านดอลลาร์

และการที่หนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติเกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 นั่นเอง

อนึ่งเมื่อห้าปีก่อนหน้านี้หนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯอยู่ที่ 21 ล้านล้านดอลลาร์ โดยสหรัฐฯเริ่มก่อหนี้ขึ้นมาตั้งแต่ระหว่างการเปิดสงครามสู้รบกับอังกฤษ โดยยุคสมัยนั้นสหรัฐฯมีหนี้แค่เพียง 75 ล้านดอลลาร์

หากจะอธิบายกันง่ายๆ ในเรื่องของการเพิ่มพูนหนี้ก้อนมหาศาลของรัฐบาลกลางสหรัฐฯก็คงจะเปรียบเสมือนการที่เรานำเอา “เงินพลาสติก” หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “บัตรเครดิต” ไปรูดปื๊ดๆใช้จ่ายช้อปปิ้งซื้อของแต่กลับไม่ยอมชำระยอดหนี้ทั้งหมดในแต่ละเดือนจนดอกทบต้น ต้นทบดอกนั่นเอง

และหากว่าสภาคองเกรสสหรัฐฯไม่สามารถควบคุมเพดานหนี้ได้จริงๆแล้ว ท้ายที่สุดรัฐบาลสหรัฐฯก็คงจะต้องขึ้นภาษีอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยม รวมทั้งลดทอนค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ย่อมจะทำให้เกิดความเดือดร้อนกันไปทั่วอย่างแน่นอน

โดยเงินที่รัฐบาลสหรัฐฯนำไปใช้ในโครงการต่างๆ เพื่อเป็นหลักประกันในความเป็นอยู่ที่ดีของคนอเมริกัน อาทิเช่น ประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นหนึ่งหมื่นคนทุกๆวันเรื่อยไปจนถึงปีค.ศ. 2029 ซึ่งรัฐบาลจะต้องเตรียมจัดหาความพร้อมทางการเงิน เพื่อสวัสดิการของกลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้

อีกทั้งการดูแลสุขภาพก็เป็นปัญหาสำคัญ โดยระบบการรักษาพยาบาลของสหรัฐฯ นับว่าแพงที่สุดในโลก แถมระบบภาษีของสหรัฐฯก็สร้างรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย

และนอกเหนือจากนั้นแล้วทุกๆวันรัฐบาลสหรัฐฯจะต้องชดใช้ดอกเบี้ยถึงวันละ 1.3 พันล้านดอลลาร์อีกด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ “รัฐมนตรีคลังเจเน็ต เยลเลน”ได้ออกมาแถลงว่า ราวๆเดือนมิถุนายน 2023 นี้ สหรัฐฯอาจจะถังแตก และอาจจะนำไปสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่สหรัฐฯอาจจะผิดนัดการชำระหนี้ครั้งร้ายแรง ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ!!!

แต่ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็ได้อนุมัติร่างกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 314 ต่อ 117 เสียงที่ได้รับการสนับสนุนสองในสามของบรรดานักการเมืองพรรครีพับลิกัน เมื่อคืนวันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2023 เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลกลางตามแรงผลักดันของ “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” ร่วมกับ “ประธานสภาเควิน แมคคาร์ธี” แห่งค่ายพรรครีพับลิกัน

การที่ทั้งสองฝ่ายค่ายพรรคสามารถหันหน้ามาประนีประนอมกันเมื่อวันพุธที่แล้ว เพื่อต้องการหยุดยั้งและระงับเพดานหนี้ได้ โดยผ่านร่างจากวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดีด้วยคะแนนเสียง  63 ต่อ 36 เสียง

การอนุมัตินี้เกิดขึ้นก่อนวันขีดเส้นตายของการชำระหนี้เพียงไม่กี่วัน หรืออาจจะเรียกได้ว่าเฉียดฉิวแบบเส้นยาแดงผ่าแปด เพราะเส้นตายจะเริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2023 นี้

อนึ่งหากว่าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเจรจาประนีประนอมกันได้ก็จะสร้างความหายนะมหาศาล และภายหลังจากวุฒิสมาชิกผ่านร่างกฎหมายนี้แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกมากล่าวว่า “ในการเจรจาครั้งนี้ไม่มีใครได้ทุกอย่างที่ต้องการ แต่การร่วมมือร่วมใจของทั้งสองพรรค ถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่สำหรับเศรษฐกิจของพวกเราชาวอเมริกัน”

จากการประนีประนอมต่อกันระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และ ประธานสภาฯเควิน แม็คคาร์ธี ปรากฏผลสำเร็จในการผลักดันให้ลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯลงบ้างเล็กน้อยในด้านโครงการความช่วยเหลือด้านโภชนาการเสริม และ โครงการช่วยเหลือชั่วคราวสำหรับครอบครัวที่ขัดสน

สำหรับความสำเร็จของการประนีประนอมบริหารจัดการกับหนี้ของรัฐบาลกลางที่มีมูลค่ามากกว่า 31 ล้านล้านดอลลาร์ในครั้งนี้ มาจากการใช้ประสบการณ์ในสภาคองเกรสของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เขาสั่งสมมีมาอย่างยาวนานกว่า 36 ปี ควบรวมกับประสบการณ์แปดปีในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ในยุคสมัยของ “ประธานาธิบดีบารัก โอบามา”

ทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีมาอย่างยาวนานต่อ “วุฒิสมาชิกมิชท์ แม็คคอนเนลล์” ผู้นำฝ่ายค้านของวุฒิสภา ถือได้ว่าการเจรจาข้อตกลงนี้ ถือเป็นการประนีประนอมที่หายากมากที่สุดระหว่างสองพรรคการเมืองยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นการขัดแย้งแตกแยกอย่างหนัก ความสำเร็จของประธานาธิบดีโจ ไบเดนในการเจรจาครั้งนี้ นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่อาจจะส่งผลดีในการแข่งขันประธานาธิบดีของเขาในปีหน้า

จุดแข็งที่สองก็คือ การที่สหรัฐฯสามารถเพิ่มพูนศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆให้เกิดขึ้นทุกๆวัน อาทิปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบอัตโนมัติของกระบวนการหุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม บล็อกเชน อินเตอร์เน็ตในทุกๆด้าน ความปลอดภัยทางไซเบอร์ พลังคอมพิวเตอร์ การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ เป็นต้น

จุดแข็งอันดับที่สามได้แก่ การที่สหรัฐฯมอบโอกาสให้แก่ประชากรไม่ว่าจะเป็นเยาวชนหรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุ ให้มีโอกาสเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัยผ่านโปรแกรมออนไลน์ โดยขณะนี้มีมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายๆแห่งที่เปิดหลักสูตรปริญญาทางออนไลน์เต็มรูปแบบ อาทิ Arizona State University, University of Florida, Texas Tech และยังมีสถาบันชั้นนำต่างๆอีกมากมายที่เปิดหลักสูตรออนไลน์ ตั้งแต่ระดับ อนุปริญญาจนถึง ระดับปริญญาเอก เลยทีเดียว

สำหรับจุดอ่อนของสหรัฐอเมริกานั้น มีหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ขณะนี้สามารถขยายตัวได้แค่เพียง 1.1% โดยการชะลอตัวนี้สืบเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และการที่เกิดวิกฤตการธนาคาร ที่ได้ฉุดรั้งให้ธุรกิจภาคต่างๆตกดิ่งตามมา

และจากการวิเคราะห์ของ “โจเซฟ ลาโวคนา” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ SMBC Nikko Securities America ที่เขาออกมากล่าวว่า  “เศรษฐกิจของสหรัฐฯในขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สงบ และอยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงสูง”

อีกทั้งปัญหาเรื่องภาวะเงินเฟ้อก็ถือเป็นปัจจัยที่เข้าไปขัดขวางทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาขัดแย้งในสังคมก็กำลังเป็นปัญหาที่ท้าทายของสหรัฐฯอีกด้วยเช่นกัน

และจากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลสถาบันเครดิต Exerian ระบุว่า หนี้ครอบครัวโดยเฉลี่ยของคนอเมริกันอยู่ที่ 96,371 ดอลลาร์ โดยเมื่อปีค.ศ. 2020 อยู่ที่ 92,727 ดอลลาร์ สืบเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านและผ่อนรถยนต์

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นกรณีการแก้ปัญหาวิกฤตเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งปกติแล้วนักการเมืองของพรรครีพับลิกัน และนักการเมืองค่ายพรรคเดโมแครตมักจะมีการขัดแย้งไม่ลงรอยกันเกือบตลอดเวลาก็ตาม แต่เมื่อเกิดปัญหาของประเทศชาติ บรรดานักการเมืองทั้งสองพรรคยักษ์ใหญ่ก็จะหันหน้ากลับมาร่วมมือร่วมใจกัน แม้กระทั่ง “ประธานสภาฯเควิน แม็คคาร์ธี” ผู้ใกล้ชิดและถูกมองว่า เป็นลูกสมุน เป็นหุ่นเชิดของ “อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” เมื่อมาถึงจุดนี้ เขากลับเล็งเห็นประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ซึ่งนักการเมืองไทยก็น่าจะนำไปเป็นบทเรียน เพื่อที่จะเจรจาหันหน้าเข้าหากัน ก่อนที่ประเทศชาติของเรากำลังจะเข้าจุดวิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรงละครับ