สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
“พระกริ่งสุจิตโต หรือ พระกริ่งบัวรอบ ปี 2487 หนึ่งในพระกริ่งยอดนิยมของวัดบวรนิเวศวิหาร นับเป็นพระกริ่งรุ่นแรกของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และเป็นพระกริ่งองค์แรกที่ได้ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 นับแต่เริ่มการครองราชย์”
พระกริ่งสุจิตโต หรือที่เรียกกันว่า พระกริ่งบัวรอบ นี้ จัดสร้างเนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ (72 พรรษา) เมื่อครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ โดย พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ผู้ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะในพระจริยาวัตรและปฏิปทาในสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เป็นยิ่งนัก อีกทั้งในฐานะที่ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ในการทรงพระผนวชของพระองค์ด้วย โดยพิธีเททองหล่อจัดขึ้น ณ มณฑลพิธีหน้าพระอุโบสถวัดบวรฯ มี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นประธานในพิธีฯ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2487 ทรงให้นามว่า “พระกริ่งสุจิตโต” ตามพระนามฉายาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ นับเป็นพระกริ่งรุ่นแรกที่จัดสร้างในสมัยที่ทรงครองวัดบวรฯ
ความสำคัญและความทรงคุณค่าอีกประการ คือ ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ซึ่งเป็นวันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ “วันฉัตรมงคล” นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงทูลเกล้าฯ ถวาย ´พระกริ่งสุจิตโต´ อันนับเป็นพระกริ่งองค์แรกที่ทรงได้รับการถวาย นับแต่เริ่มครองราชย์เป็นต้นมา
พระกริ่งสุจิตโต จึงนับเป็นพระกริ่งที่มีความสำคัญพิมพ์หนึ่งของวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างสูงมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งค่านิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ และหาดูหาเช่ายากยิ่ง พุทธลักษณะของ พระกริ่งสุจิตโต นั้น เป็นการถอดเค้าแบบมาจาก ´พระกริ่งปวเรศ´ แต่ดัดแปลงเล็กน้อย โดยเฉพาะที่ “ฐาน” ซึ่งทำเป็น ‘ฐานบัว’ โดยรอบทั้งหน้าและหลัง ที่ต่างออกไปอย่างเด่นชัด นักนิยมสะสมจึงมักเรียกกันว่า “พระกริ่งบัวรอบ” มาจวบจนปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก
พิมพ์ใหญ่
´พิมพ์ใหญ่´ มีความสูงจากฐานล่างสุดถึงมุ่นพระเมาลีประมาณ 4 ซม. ความกว้างของหน้าตักประมาณ 1.7 ซ.ม. ส่วนฐานล่างสุดกว้างประมาณ 2.2 ซม. จำนวนการสร้างประมาณ 300 องค์ ส่วน ´พิมพ์เล็ก´ ส่วนสูงจากฐานล่างสุดถึงมุ่นพระเมาลีประมาณ 3.5 ซม. หน้าตักประมาณ 1.4 ซม. ส่วนฐานล่างสุดกว้างประมาณ 1.8 ซม. มีจำนวนการสร้างประมาณ 100 องค์
พิมพ์เล็ก
ซึ่งทั้งสองพิมพ์จะมีพุทธลักษณะเหมือนกันทุกประการ คือ พระเศียรค่อนข้างโต ตามแบบกริ่งจีนทั่วไป มุ่นพระเมาลีมี 3 ชั้น พระเกศโดยรอบตอกตุ๊ดตู่เม็ดกลมเล็กๆ มาแต่หุ่นเทียน พระพักตร์รูปไข่ ไม่ปรากฏพระหนุ พระเนตรแบบพระเนตรเนื้อ พระโอษฐ์เป็นรูปกระจับและพระโอษฐ์บนหนากว่าพระโอษฐ์ล่าง พระกรรณทั้ง 2 ข้างยาวเกือบจดพระอังสะทั้งสองข้าง พระศอสั้น และติดพระอังสะ พระอังสะซ้ายขวาลาดมน ไม่ปรากฏแง่มุม พระหัตถ์วางในลักษณะมารวิชัย พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระชานุขวา ปรากฏนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 5 นิ้ว และพระหัตถ์ซ้ายถือหม้อน้ำมนต์ การห่มผ้าจีวร เป็นแบบกริ่งจีนทั่วไป เห็นริ้วจีวรด้านหลังชัดเจน ผ้าทิพย์โค้งราบและป้าน ชายผ้าทิพย์ไม่กระดกพลิ้ว มี 5 แฉก พระบาทขวาขัดสมาธิราบมาทางด้านซ้ายขององค์พระ แลเห็นร่องนิ้วพระบาทเพียง 2 นิ้ว ฐานองค์พระเป็นแบบบัวคว่ำบัวหงาย 7 กลีบล้อมรอบฐาน การวางกลีบบัววางเยื้องกันและมีกลีบบัวเล็กแซมระหว่างกลีบ ลักษณะของกลีบบัวเป็นแบบ ‘บัวเชียงแสน’ ใต้ฐานขององค์พระคว้านเป็นโพรง เพื่อบรรจุเม็ดกริ่ง และปะก้นด้วยทองแดง บัดกรีด้วยตะกั่วแบบเดียวกับ ‘พระกริ่งใหญ่’ มีรอยบุ๋มอยู่ตรงกลาง อันเป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่ง
ในด้านเนื้อหามวลสารนั้น จะเป็นทองเหลืองผสมเงิน เรียกว่า “เนื้อทองเหลืองผสม” โดยส่วนใหญ่ได้มาจากพระบูชาและเทวรูปเก่าสมัยเชียงแสน-สุโขทัย-อยุธยา ที่ชำรุดจนไม่อาจบูรณะซ่อมแซมได้ เป็นชนวนหลักสำคัญ สีสันวรรณะขององค์พระที่ไม่เคยผ่านการใช้มาเลย กระแสจะออกสีเหลือง หรือสีเขียวก้านมะลิ มีคราบทองเป็นประกายสดใส ถ้าใช้และถูกสัมผัสมาแล้วผิวจะออกเหลืองอมเขียวคล้ำ คือมีกระแสออกไปทางเหลืองอมเขียว
ต่อมาในปี พ.ศ.2488 ฯพณฯ นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้นำพิมพ์ “พระกริ่งสุจิตโต พิมพ์ใหญ่” มาถอดแบบเททองเพื่อสร้างพระกริ่งเช่นกัน โดยอาราธนา ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นประธานฯ ที่หน้ารัฐสภา ซึ่งมีข้อพิจารณาที่สามารถแยกแยะได้ง่ายคือ พระกริ่งที่จัดสร้างโดย ฯพณฯ นายควง อภัยวงศ์ ส่วนหนึ่งจะเป็นพระที่เทแบบบรรจุกริ่งในตัวรูเดียว และส่วนหนึ่งเทตันแล้วนำมาเจาะรูบรรจุเม็ดกริ่งใต้ฐาน นอกจากนี้ สีสันวรรณะก็จะแตกต่างกับ “พระกริ่งสุจิตโต หรือ “พระกริ่งบัวรอบ” ของ วัดบวรนิเวศวิหาร ครับผม