บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
แนวคิดการลดบทบาทราชการส่วนกลาง ภูมิภาค
มีประเด็นมากมายให้พูด ลองมาเก็บตกจากเรื่องเก่าๆ ย้อนไปสัก 8-9 ปีที่ผ่านมา หรือบางเรื่อง อาจจำเป็นต้องกล่าวย้อนไปถึงยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ยาวนานถึง 26 ปีทีเดียว มีกระแสความขัดแย้ง ย้อนแย้งกันชัดเจนใน “ความเห็นต่างระหว่างกลุ่มคน” เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยมีหลายประการที่แปลกแตกต่างจากหลักสากล ตามกระแสความเห็นต่างที่สะสมเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยคำอธิบายที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ง่าย
ประเด็นที่กล่าวถึงกันมาก คือ มีความจำเป็นต้องลดบทบาทของส่วนกลางลง ซึ่งรวมถึงการลดบทบาทของ “ภูมิภาค” ลงด้วย เพราะ ตามหลักการบริหารถือว่า “ภูมิภาค” ก็คือติ่งหนึ่งของส่วนกลาง
การลดบทบาทเป็นไปในรูปของหน่วยงาน “ที่ปรึกษา” (Staff) หรือเป็น “พี่เลี้ยง” “ผู้ประสานงาน” มิใช่ “หน่วยงานหลัก” (Line) ในการดำเนินงาน โดยเปลี่ยนเน้นบทบาทในการดำเนินงานให้แก่ ท้องถิ่น หรือ อปท. ดำเนินการแทน
การปรับบทบาท “ภูมิภาค” เสียใหม่ ดีกว่าการยุบภูมิภาค เพราะบริบทของสังคมไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ตรา “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457” ขึ้น มีการแบ่งการปกครองจากระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด มีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ เป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐในพื้นที่ ซึ่งการปรับบทบาทของภูมิภาคให้เป็น “ที่ปรึกษา” “พี่เลี้ยง” “ผู้ประสานงาน” ยังคงดำเนินต่อไป
โดยเฉพาะบทบาท “เชิงสัญลักษณ์” (Symbol) ในการเป็นตัวแทนแก่ “ภูมิภาค” ที่ส่วนกลางดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านที่ปรึกษา หรือ งานประสานงานอื่นใดของส่วนกลาง ประกอบกับการเปลี่ยนรูปแบบ อปท. ให้เป็นรูปแบบ “จังหวัดปกครองตนเอง” ตามศักยภาพและความพร้อมของแต่ละจังหวัด (ท้องถิ่น) การเปลี่ยน และปรับลดบทบาทของ “ภูมิภาค” ลงน่าจะสอดคล้องกับแนวคิดนี้
แนวคิดการปกครองท้องถิ่นพิเศษ
ส่วนการปกครองท้องถิ่นพิเศษก็สำคัญที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย ปกติ อปท. แยกเป็น 2 ระดับ (เทียร์ Tier) คือ (1) อปท. ระดับบน คือ อบจ. รับผิดชอบภารกิจใหญ่ อาทิ สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นต้น (2) อปท.ระดับล่าง ให้มีรูปแบบเดียวคือ รูปแบบเทศบาล ที่มี “ฝ่ายบริหารและสภา” โดยมีการยกฐานะ อบต. เป็น “เทศบาล” และควบรวม อปท. ที่มีขนาดเล็กตามที่กำหนด ให้เป็น อปท.ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้จำนวน อปท. มีลดน้อยลง ไม่เป็นภาระด้านการคลังแก่รัฐบาล
ส่วน อปท. ที่มีลักษณะเงื่อนไขพิเศษด้านเศรษฐกิจ หรือเหตุผลความจำเป็นอื่น อาจยกฐานะเป็น “อปท.เขตเศรษฐกิจพิเศษ” (Special Economic Zone) เช่น เมืองชายแดนแม่สอด เบตง, เมืองอุตสาหกรรม มาบตาพุด, เมืองสนามบิน สุวรรณภูมิ, เมืองท่องเที่ยว ภูเก็ต สมุย หรือเมืองวัฒนธรรม เป็นต้น
จึงมีข้อเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเองหรือจังหวัดปกครองตนเอง ตามศักยภาพและความพร้อมของแต่ละจังหวัด ซึ่งถือว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” เป็น อปท.ระดับบน ที่อาจเป็นต้นแบบแก่ อปท.ระดับล่างให้พัฒนาเป็น “การปกครองท้องถิ่นพิเศษ” ได้
ข้อเสนอทิศทางการกระจายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย
(1) ปรับบทบาทราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ให้ลดน้อยลง เหลือเฉพาะภารกิจหลักของรัฐ คือ ความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อย การต่างประเทศ กระบวนการยุติธรรม โดยเน้น “มาตรการบังคับใช้กฎหมาย” รวมการปฏิบัติตามกฎหมาย (Law enforcement & Law compliance) ที่เด็ดขาด เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ
(2) มอบหมายภารกิจของท้องถิ่นให้แก่ท้องถิ่น โดยมีการปรับโครงสร้าง อปท. โดยการควบรวม อปท. เข้าด้วยกัน (Amalgamation or Merging local unit) เพื่อให้ท้องถิ่นมีขนาดที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตามรายงานให้คำแนะนำของธนาคารโลก ในเรื่อง ขนาดขององค์กรบริหารท้องถิ่น (World Bank : 2012) ในการตอบสนองการบริการสาธารณะ (Public Service) เพื่อให้บริการแก่ประชาชนใน “ท้องถิ่น” มีการกระจายอำนาจทางการคลังและการงบประมาณ (Fiscal & Budgeting) ที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่นด้วย เช่น เพิ่มฐานภาษีให้แก่ท้องถิ่น รวมเม็ดเงินภาษีท้องถิ่นต้องให้ท้องถิ่นบริหารจัดการ เป็นต้น ด้านการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นถือเป็นสิ่งสำคัญ เป็นหัวใจหลักของการบริหารจัดการ เพราะตัวจักรขับเคลื่อนการพัฒนา และนำนโยบายของท้องถิ่นไปสู่การปฏิบัติคือ “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” รวมลูกจ้างท้องถิ่นด้วย ที่มีจำนวนมากถึง 3 แสนคน กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ของประเทศ หากขวัญกำลังใจ และระบบบริหารงานบุคคลของข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีคุณธรรม (Merit System) ก็จะก่อให้เกิด “ความมีประสิทธิภาพ” เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ
(3) เสริมสร้างกระบวนการ (Process) และขบวนการ (Movement) “ประชาสังคม” (Civil Society) หรือ “สมัชชาประชาชน” หรือ “เวทีประชุมของประชาชน” (Forum) ในทุกระดับทั้งตำบล อำเภอ จังหวัด ให้มีส่วนร่วม (People Participation) และเข้มแข็ง เพื่อเป็นตัวเสริมการกระจายอำนาจให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการตรวจสอบควบคุมระบบของท้องถิ่น ในรูปของ “สภาพลเมือง” (Civil Jury or Citizen Jury) และ “องค์กรสภาจริยธรรมคุณธรรมแห่งชาติ” (Ethics & Moral Organization) เสริมสร้าง “ธรรมาภิบาล” (Good Governance) ในทุกเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ในทุกระดับ ผนวกกับแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง (Sufficiency Economy) ตามแนวพระราชดำริในหลวง ร.9
(4) เสริมสร้างศักยภาพของ “ชุมชน” “อปท.” เพื่อการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC (ASEAN Economic Community) โดยการเพิ่มทักษะประชากรและชุมชน เช่น ด้านการท่องเที่ยว และสินค้าชุมชนทางเศรษฐกิจ
(5) นโยบายสำคัญ โดย (1) ขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ และ (2) ลดความเหลื่อมล้ำสังคมในทุกมิติ
ปัญหาซ้ำซากท้องถิ่นไทย
มีเสียงหนาหูไม่ว่ากัน เช่น เรื่อง การทุจริตสีเทาสีดำในวงราชการไทย ดูข่าว จีนเทา ไทยเทา เจ้าหน้าที่รัฐ จับ รีด แล้วปล่อย ข่าวยาเสพติด ข่าวส่วยสติกเกอร์ทางหลวง ยังยอดฮิตอยู่ เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่ต้องชำระ แม้ มหานคร กทม.ก็ยังต้องให้รัฐบาลมาแก้ไขปัญหาเรื่องส่วย และส่วยทางหลวง
ลองย้อนไปอดีต อปท.จัดตั้งขึ้น แค่มีหน้าที่เก็บกวาดสิ่งโสโครก ขยะ ต่อมาก็ขยายงานอื่นๆ ตามมา โดยระยะแรกมีการแบ่งพื้นที่เขตเมืองบางพื้นที่ให้เป็นเขต "สุขาภิบาล" งานรักษาความสะอาดในพื้นที่เป็นงานเบ๊ๆ ที่หน่วยงานรัฐคนส่วนกลางไม่ทำกัน เปรียบเหมือนผลไม้ที่หกเสีย เรี่ยราดล้นจากมือ
ปัญหาข้ออ้างการกระจายอำนาจที่เกิดขึ้น มีผู้นำท้องถิ่นจำนวนน้อย ที่จะส่งผ่านอำนาจไปถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่คำกล่าวอ้าง เป็นเพียงวาทกรรมของการกระจายอำนาจ หรือประชาชนที่กล่าวถึงคือ วงศ์วาน ว่านเครือ เถาญาติ ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เท่านั้น มิได้ถึงมือประชาชนส่วนใหญ่
นโยบายท้องถิ่นจิ๊บจ๊อยร้อยเรียงสู่ปัญหาชาติได้
(1) นโยบายการส่งเสริมผ้าไทย ภายใต้การส่งเสริมโดยระบบรัฐราชการ (ส่วนกลาง) เป็นงานภูมิปัญญาท้องถิ่นเฉพาะทาง เฉพาะพื้นที่ มีทั่วประเทศ สมัยก่อนนั้น ผ้าไหมส่งตรงถึงสำนักพระราชวัง โดยสมเด็จพระราชินีใน ร.9 ส่วนผ้าไทยอื่นจึงตกไปเป็นหน้าที่หน่วยงานรัฐในการกำหนดส่งเสริม ได้แก่ ให้ราชการไทย แต่งกายด้วยผ้าไทย เดิมสัปดาห์ละ 1 วัน เป็นสัปดาห์ละ 3 วัน เป็นต้น ในส่วนของการส่งเสริมอาชีพ เป็น OTOP สินค้าพื้นถิ่นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ระยะหลังอ้างพลัง "Soft Power" ก็ยังขาดๆ เกินๆ ไม่เป็นรูปธรรม แม้จะมีความพยายามจัดอีเวนต์ออกงาน เป็นเพียงคำกล่าวอ้าง วาทกรรมพอผ่านๆ ไป งานพัฒนาไม่ต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์งานฝีมือดีของชาวบ้านยังต้องพึ่งช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก งานผ้าพื้นบ้านผลิตในไทยต่างๆ ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม ผ้าใยกัญชง (ชาวเขา) ผ้าทอมือ รวมถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง ปกติจะมีราคาแพง ด้วยต้นทุนงานฝีมืองานทำด้วยมือ (Hand made)ที่ละเอียด ประณีต ทำยาก ราชการกำหนดให้ข้าราชการซื้อสวมใส่จึงราคาแพง การดูแลรักษามีความยุ่งยาก โดยเฉพาะผ้าไหม แม้จะมีผ้าไหมโทเร (ไหมผสมใยไนลอน) ผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมโทเรก็ยังมีราคาแพงอยู่ดี ที่พอจะราคาถูกลงบ้าง และสะดวกบ้าง ก็ผ้าฝ้ายนี่แหละ การกะเกณฑ์กำหนดให้ข้าราชการไทยแต่งกายผ้าไทย(ผ้าไหม)ที่ไม่สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายของข้าราชการผู้น้อย
(2) เรื่องโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนของ อปท. จากข้อมูลการจ้างทำอาหารกลางวัน สำหรับโรงเรียนใหญ่ๆ นักเรียนจำนวนมาก อาจไม่มีปัญหาในการบริหารจัดการ ด้วยต้นทุนที่พอมี แต่โรงเรียนขนาดเล็กนักเรียนน้อยจะมีปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพอาหาร การจ้างแบบ ebidding นักลงทุนรายใหญ่ ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองที่เข้ายื่นเสนอรับงานโรงเรียนใหญ่ มักฟันราคากันมาก เพราะผู้เสนอราคาจัดทำอาหารนักเรียนรายใหญ่ จะได้เปรียบในทุน ที่มีห้องเย็นเก็บสตอกสินค้าอาหาร มีทุนบริหารพร้อม ปริมาณเพียงพอ คุ้มค่าดำเนินการ ต้นทุนถูก บริหารง่าย มีปริมาณอาหารที่เหลือเฟือ จำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมคุณภาพอาหารเด็กด้วย คุณภาพอาหารต้องกำหนดและหมั่นตรวจ รายเล็กๆ ที่มีคุณภาพอาหารดีกว่า จึงสู้ราคาไม่ได้
สำหรับโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน ของ อปท. นั้น ถูกแบ่งโควตาเขต การทุ่มตลาดไม่ได้ สตง.ได้แนะนำให้ อปท.แบ่งซื้อนม เป็นงวดๆ เดือน เพื่อเน้นคุณภาพ ยังมีกรณีตัวอย่างอื่นที่ยกมาให้ดูเพียงเป็นกระสาย
ต้นตอแห่งปัญหาสู่สถานการณ์วิกฤตโลก
ย้อนมาดูสถานการณ์ต่างๆ ของโลกที่มีผลกระทบต่อโลก และต่อประเทศไทย ในฐานะรัฐแห่งโลก ที่ย่อมได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อๆ กันมา
(1) สถานการณ์พลังงาน (Energy)ของโลกกำลังจะหมดไป โดยเฉพาะพลังงานฟอสซิล (เช่น น้ำมันและถ่านหิน) ต้นตอแห่งสงคราม ก็คือ การแก่งแย่งแหล่งพลังงาน และแหล่งอาหารนั่นเอง ปัจจุบันก็คือสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน
(2) สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ทำเอาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะงักงันไปตามๆ กัน นี่ยังมีข่าวอีกว่าให้ระวังเพราะมีสายพันธุ์ใหม่โควิดจะเข้ามาอีก นี่ก็เป็นวิกฤติที่ต้องระวังจับตา
(3) สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 และเรื่องอากาศสะอาด ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยมากเช่นกัน เป็นวิกฤตโจทย์ใหญ่ของประเทศอีกดอก ที่มีผลไปทั่วโลกอีกอย่างคือการลดโลกร้อน แม้ปัจจุบันไทยยังไม่ถูกบังคับใช้ แต่อีก 10 ปีข้างหน้าไทยต้องอยู่ในบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศนี้ การเตรียมการไว้จึงจำเป็น
(4) เรื่องขั้วอำนาจทางการเมืองก็สำคัญ ที่ชี้นำเศรษฐกิจโลก คือ ค่ายยักษ์ใหญ่มหาอำนาจสองขั้ว ขั้วมหาอำนาจทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป (EU) และ ขั้วมหาอำนาจฝ่ายอำนาจนิยม รัสเซีย จีน ฉะนั้น จุดยืนในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐไทย ในการเลือกข้างในแนวนโยบายต่างประเทศกับฝ่ายมหาอำนาจโลก(Pro) จึงสำคัญมาก เพราะประเทศไทยอยู่ในย่านทำเลที่เหมาะสม ได้เปรียบเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ดีมาก เป็นที่หมายปองของมหาอำนาจ ยิ่งอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition) รัฐบาลใหม่ยิ่งสำคัญมากเป็นทวีคูณ
(5) ส่วนกระแสขั้วอำนาจทางการเมืองภายในประเทศ คือ การปะทะกันระหว่างขั้วแนวคิดฝ่ายอนุรักษนิยม (Conservative) กับขั้วแนวคิดฝ่ายประชาธิปไตยหัวก้าวหน้า (Liberal/Progressive) ก็ยังดำเนินไปไม่หยุด ท่านกลางกระแสการ disrupt ของโลกโซเชียล ด้วยแนวคิดทางการเมือง กระแสหลัก คือ การปะทะกันในความเห็นต่างระกว่าง ฝ่ายขวาที่เป็นอำนาจนิยมที่ยึดพื้นที่มาอย่างยาวนานร่วม 90 ปี กับฝ่ายหัวก้าวหน้า (จัดเป็นแนวคิดฝ่ายซ้ายประเภทหนึ่ง) ที่เริ่มแรกเปิดชิงพื้นที่มาตั้งแต่ยุคเสื้อแดง เมื่อราวสิบกว่าปีก่อนแต่พ่ายแพ้ มาเปิดชิงพื้นที่ทางการเมืองกันอีกครั้ง ในนามของคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า เมื่อคราวการเลือกตั้งปี 2562 ที่เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองมิติใหม่ที่มีคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าเข้าสภาเป็นจำนวนมาก มาถึงปี 2566 กลุ่มคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าดังกล่าวที่รวมกับฝ่ายแนวร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้เสียงเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลมากถึง 312 เสียง แต่ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ ตามมาตรา 127 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กล่าวคือ เมื่อพ้นกรอบเวลา 60 วันที่ กกต.ได้รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว ฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้ตามฉันทามติของคนส่วนใหญ่กว่า 26 ล้านเสียง หรือไม่ อย่างไร แม้จะมากจำนวนด้วยสัดส่วนถึง 66% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือคิดสัดส่วนของฝ่ายอนุรักษ์กับฝ่ายหัวก้าวหน้า ที่สัดส่วน 30 ต่อ 70 (อ้างจากสุรชาติ บำรุงสุข, 2566) จะถือเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในรอบ 90 ปีทีเดียวก็ตาม
(6) สุดท้ายมีคำถามว่า การปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองไทยยังมีความจำเป็นเพียงใด เพราะตลอดระยะเวลา 90 ปีที่ผ่านมาการเมืองไทยยังวนลูปกลับไปกลับมาตามวัฏจักรแห่งความชั่วร้าย มีการปฏิวัติรัฐประหารที่ไม่รู้จบ และนี่กำลังจะเกิดรัฐประหารรูปแบบใหม่ที่น่ากลัวกว่าเดิม คือ "การรัฐประหารเงียบ" ที่ไม่ต้องใช้กำลังทหาร แต่ใช้กฎหมายดื้อหาเหลี่ยมลากยาว ไปเรื่อยๆ ฉะนั้น การปฏิรูปการเมืองไทย จึงจำเป็น
ถึงตรงนี้ก็ฝากบ้านเมืองไทยไว้กับคนไทยทุกคนด้วย เพราะแม้จริงแล้วการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เป็นสำนึกรับผิดชอบของทุกคน ร่วมด้วยช่วยกันครับ