วันที่ 9 มิ.ย.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก  Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า ...

Update สถานการณ์ระบาดโลก และความรู้โควิด-19

...สถานการณ์โลก...

องค์การอนามัยโลกได้ออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update ฉบับล่าสุดเมื่อคืนนี้ 8 มิถุนายน 2566 (ภาพที่ 1-3)

ข้อมูลจนถึงสัปดาห์ล่าสุด 15-21 พฤษภาคม พบว่า Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ยังครองสัดส่วนสูงสุดที่ 30.28% โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ XBB.1.9.1 มี 18.19% และ XBB.1.16 พบอยู่ที่ 16.81% โดยทั้งสองสายพันธุ์ย่อยนี้มีสัดส่วนตรวจพบสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

หากจำแนกตามภูมิภาคของโลกแล้ว จะพบว่าแต่ละภูมิภาคมีสัดส่วนของสายพันธุ์ที่ระบาดแตกต่างกันไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมไทย) จะพบ XBB.1.16 อยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นของโลก โดยมี XBB.1.9.x และ XBB.2.3 อยู่ในสัดส่วนพอๆ กัน

...อย่างไรก็ตาม สำหรับสถิติจำนวนป่วยและตายจากโควิด-19 นั้น ปัจจุบันมีการรายงานจากประเทศต่างๆ ค่อนข้างน้อยและไม่สม่ำเสมอ จึงนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบได้ลำบาก

เหนืออื่นใด หากติดตามสถิติของไทยรายสัปดาห์ เราจะพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ติดต่อกันมาถึง 8 สัปดาห์แล้ว ซึ่งเป็นผลกระทบจากพฤติกรรมป้องกันตัวที่ไม่ดีพอ ทั้งระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน การเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงเทศกาลต่างๆ ตลอดช่วงที่ผ่านมา และเป็นผลจากนโยบายการป้องกันและควบคุมโรคที่ไม่สามารถป้องกันและยับยั้งการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

...ยา Metformin ช่วยลดเสี่ยง Long COVID และลดปริมาณไวรัสได้

งานวิจัย 2 ชิ้นล่าสุดจากทีมงานมหาวิทยาลัย Minnesota ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อ The Lancet Infectious Diseases และใน medRxiv (preprint server) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 (ภาพที่ 4-5)

สาระสำคัญคือ ยา Metformin จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้ 41% ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาในแผนกผู้ป่วยนอก อายุ 30-85 ปี ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน

และการให้ยา Metformin นั้น จะสามารถลดปริมาณไวรัสในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รักษาในแผนกผู้ป่วยนอก ได้ 3.6 เท่า เมื่อเทียบกับยาหลอก

...ย้ำอีกครั้งว่า สถานการณ์ของไทยเรานั้นยังมีการติดเชื้อแต่ละวันจำนวนมาก

ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ

เลี่ยงการกินดื่ม แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน

ระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี

หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหรือหยุดงาน ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

ถ้าติดเชื้อ ควรแยกตัวอย่างน้อย 7-10 วันจนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ ก่อนกลับมาทำงานหรือเรียน

หมั่นสังเกตสังกาสิ่งแวดล้อมรอบตัว หากพบคนที่มีอาการไม่สบาย ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิด

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

...ความใส่ใจสุขภาพของตนเอง จะเป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา สมาชิกในครอบครัว และคนใกล้ชิด

อ้างอิง

1. WHO Weekly Epidmiological Update. WHO. 8 June 2023.

2. Outpatient treatment of COVID-19 and incidence of post-COVID-19 condition over 10 months (COVID-OUT): a multicentre, randomised, quadruple-blind, parallel-group, phase 3 trial. The Lancet Infectious Diseases. 8 June 2023.

3. Metformin reduces SARS-CoV-2 in a Phase 3 Randomized Placebo Controlled Clinical Trial. medRxiv. 7 June 2023.