วันที่ 8 มิ.ย.66 ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ กรุงเทพมหานคร ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา  และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม  เพื่อติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และการคาดการณ์ ตลอดจนผลการดำเนินงานตามมาตรการฤดูแล้งปี65/66 และการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 รวมทั้งการเตรียมการรับมือฝนทิ้งช่วงตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการรับมือฤดูฝน 9 มาตรการ ภายใต้ 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด ได้แก่ มาตรการที่ 1 คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงช่วงฝนทิ้งช่วง มาตรการที่ 2 บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก  ด้วยการปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ทุ่งบางระกำ และพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อให้เกษตรกรได้เริ่มเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายได้    มาตรการที่ 3 ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ มาตรการที่ 4 เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ และปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง มาตรการที่ 5 เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ  อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแบคโฮ ประจำจุดเสี่ยงทั่วประเทศ พร้อมกำหนดบุคลากร ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง เพื่อให้สามารถประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบได้อย่างทันท่วงที  

มาตรการที่ 6 ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของ คัน ทำนบ และพนังกั้นน้ำ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ  มาตรการที่ 7 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ ด้วยการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่องมาตรการที่ 9 เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำ ในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน และมาตรการที่ 12 ติดตามประเมินผล  ปรับมาตรการการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์   เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้สำหรับทุกกิจกรรมในช่วงฝนทิ้งช่วง  และสามารถรับมือสถานการณ์น้ำหลากในช่วงฤดูฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ในการนี้ ประธานในที่ประชุม ได้กำชับให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี66 และสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง พร้อมประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้พี่น้องประชาชน รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง