จากกรณีที่ "พรรคก้าวไกล" ได้โพสต์ข้อความและรูปภาพทาง Facebook Fanpage เมื่อวันที่ 18 เม.ย.66 ในหัวข้อ เตรียมพบกับซีรีส์ชุด ปาร์ตี้ลิสต์ก้าวไกล พร้อมโปสเตอร์แนะนำตัว ส.ส.ของพรรคก้าวไกล มีรูป "ค้อนเคียว" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ "คอมมิวนิสต์" อยู่ในโปสเตอร์ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้
ต่อมา พรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นโปสเตอร์แนะนำตัว ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ที่มีรูปค้อนเคียว ว่า ภาพดังกล่าว คือการ์ตูนแนะนำเครือข่ายแรงงาน ก็ต้องมีทั้งจักรเย็บผ้า มีทั้งยางรถยนต์ เครื่องจักร มีทั้งประแจ มีทั้งไขควง และแน่นอน มันต้องมี ค้อน และ เคียว! เพราะตั้งใจสื่อถึงเครื่องมือที่คนทำงานสร้างโลกนี้ขึ้นมา
สำหรับจุดเริ่มต้นของสัญลักษณ์ "ค้อนเคียว" คือ การรวมตัวกันของแรงงานภาคอุตสาหกรรม (แทนด้วยค้อน) และแรงงานภาคเกษตรกรรม (แทนด้วยเคียวเกี่ยวข้าว) เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 หลักๆ พบในเหรียญเปโซของชิลี มี variation เช่นรูปค้อนกับคันไถ (ความหมายเดียวกับค้อนเคียว คือคันไถแทนภาคเกษตรกรรม)
ต่อมาปี 1917 "วลาดิมีร์ เลนิน" ได้นำการปฏิวัติตุลาคมได้รับชัยชนะ จึงออกแบบสัญลักษณ์ของรัฐใหม่ เป็นรัฐที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นแรงงาน เพื่อชนชั้นแรงงาน ตามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ซึ่งต่อมา คือ สหภาพโซเวียต
โดยสัญลักษณ์ "ค้อนเคียว" ถูกนำไปใช้ในธงชาติสหภาพโซเวียต ควบคู่ไปกับรูปดาวแดง และยังถูกนำไปใช้ในธงและตราสัญลักษณ์ต่างๆ อีกจำนวนมาก โดยเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 1991 สัญลักษณ์ค้อนและเคียว ก็ยังคงถูกใช้งานในประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์อยู่ ทั้งจีน ลาว เวียดนาม และคิวบา รวมไปถึงพรรคคอมมิวนิสต์ที่ยังคงมีอยู่ในบางประเทศ
ปัจจุบัน "ค้อนเคียว" ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของลัทธิคอมมิวนิสต์ มักใช้เพื่อเป็นเครื่องหมายของลัทธิคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์ หรือรัฐคอมมิวนิสต์ต่างๆ ทั่วโลก โดยปกติแล้วมักทำเป็นรูปค้อนและเคียวไขว้กัน ซึ่งเครื่องหมายทั้งสองอย่างนี้ คือสัญลักษณ์บุคคลในชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นชาวนา การนำสัญลักษณ์ทั้งสองอย่างมารวมกัน จึงหมายถึงเอกภาพของแรงงานในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคมในแบบคอมมิวนิสต์