ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.และฝ่ายบริหาร ให้ความสำคัญกับโครงการที่สัมผัสประชาชนหรือเส้นเลือดฝอยเป็นหลัก ผ่านความสามารถในการร่วมมือรอบทิศทั้งรัฐและเอกชน เป็นสิ่งที่ยืนยันแน่วแน่มาตลอด แม้จะมีเสียงติติงคัดค้านบ้าง แต่ก็ยังคงเดินหน้าตามความเชื่อในแนวทางของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะราบรื่นทุกเรื่อง มีหลายอย่างที่ต้องปรับตัว เพิ่มเติม ลดทอนนโยบายไปตามปัจจัยที่เกิดขึ้น เช่น งบประมาณ เสียงสะท้อนประชาชน การเมือง และอำนาจที่มี

ด้วยจุดแข็งในการประสานงานผ่านความร่วมมือรอบทิศ ทำให้โครงการหลายอย่างเกิดขึ้นและมีความคืบหน้า ซึ่งนายชัชชาติ เผยว่าทำงานครบ 1 ปี คืบหน้าหลายด้าน และย้ำกับผอ.เขตทั้ง 50 เขตต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น แต่ต้องมีความโปร่งใส  1 ปีที่ผ่านมามีหลายโครงการที่คืบหน้า ยกตัวอย่าง

“นโยบายด้านสาธารณสุข” ที่มีความพยายามแบ่งเขตการรักษาพยาบาลเป็น 7 โซน โดยร่วมมือกับหน่วยรักษาพยาบาลทุกภาคส่วน กำหนดโรงพยาบาลแม่ในแต่ละโซนของกรุงเทพฯ ซึ่งมีเครือข่ายย่อยอีก 20 หน่วย เช่น คลินิกอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลในพื้นที่ โดย 1 โซนครอบคลุมพื้นที่ 2-4 เขต เพื่อเชื่อมโยงการรักษาพยาบาลในทุกมิติ เช่น การส่งต่อ การเข้าถึงสถานพยาบาล รวมถึงการรักษานอกเขต ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการง่ายขึ้น มีการขยายรถมอเตอร์ไซค์ฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อการเข้าถึงผู้ป่วยภายใน 8 นาที ซึ่งขยายมาจากการนำร่องโครงการราชพิพัฒน์โมเดล โดยรถมอเตอร์ไซค์ฉุกเฉินมีกล้องถ่ายทอดสดไปยังหน่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาลหลักตลอดการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการและรักษาเบื้องต้น ณ จุดเกิดเหตุได้ทันทีผ่านกล้องถ่ายทอดสด

“นโยบายด้านการศึกษา” กทม.มีการจับมือกับกูเกิล เพื่อวิจัยแนวทางโครงการห้องเรียนดิจิทัล หวังปรับการเรียนการสอนให้ทัดเทียมนานาประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ลดภาระ เอกสาร ขั้นตอน เพื่อให้ครูและนักเรียนทำงานง่ายขึ้น โดยเริ่มนำร่องวิจัยที่โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน กับนักเรียนชั้น ป.4 ผ่านการสนับสนุนโน้ตบุ๊กจำนวน 40 เครื่อง จากบริษัท เอซุส (ประเทศไทย) จำกัด ผลวิจัยเป็นที่พอใจของครูและนักเรียน จึงมีแผนขยายไปทุกโรงเรียนในสังกัด กทม.พร้อมปรับปรุงห้องคอมพิวเตอร์และจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ทั้งหมดในทุกโรงเรียน ประกอบกับรับบริจาคโน้ตบุ๊กที่ยังใช้งานได้กว่า 1.3 แสนเครื่อง เพื่อให้กูเกิลพัฒนาระบบและบรรจุโปรแกรมที่มีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการการศึกษา ก่อนส่งต่อให้ครูและนักเรียนใช้ นอกจากนี้ ยังมีความพยายามจ้างเอกชนมาทำงานธุรการ เพื่อให้ครูมีเวลากับนักเรียนมากขึ้น รวมถึง สนับสนุนสลัดบาร์(ผักผลไม้ธัญพืช)แก่นักเรียน 3 วันต่อสัปดาห์ พร้อมสนับสนุนโครงการโรงเรียน 2 ภาษา มีวิชาเลือก 5 ภาษาต่างประเทศให้นักเรียนเพิ่มเติม

แม้ว่าหลายส่วนจะมีความคืบหน้าไปตามแผนที่วางไว้ แต่จะมีเสียจังหวะบ้างเพราะต้องหันมาแบ่งเวลาและทรัพยากรมาจัดการ “เรื่องทุจริตของคนในองค์กร” ซึ่งปรากฏออกมาเป็นระยะ ทั้งที่มีหลักฐานและไม่มี ส่งผลต่อคะแนนความนิยมอย่างเงียบๆ ที่ผ่านมานายชัชชาติ ได้ประกาศชัดว่ากทม.ยุคตนเองต้องโปร่งใสไร้ทุจริต แต่ดูเหมือนองคาพยพจะไม่เคลื่อนตัวตามขบวนเท่าที่ควร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ส่วนออกใบอนุญาตในเขตต่างๆ ประชาชนพากันร้องเรียนผ่าน “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” ผู้บริหาร หรือแม้แต่คนใกล้ตัวซึ่งมาฟ้องผู้ว่าฯกทม.เอง ทำให้นายชัชชาติถึงกับเอ่ยปากว่า “ของขึ้น” เพราะดูเหมือนว่าข้าราชการบางส่วนที่ทำการทุจริตไม่มีความเกรงกลัวต่อความผิดและนโยบายที่นายชัชชาติประกาศ

ที่ผ่านมานายชัชชาติพยายามแก้ไขด้วยการปรับกฎหมายให้เข้ากับปัจจุบัน สั่งให้ทุกเขตมีการขอใบอนุญาตผ่านช่องทางออนไลน์และเพิ่มผู้พิจารณาใบอนุญาต ไม่ให้ใครเป็นผู้ตัดสินใจเพียงผู้เดียว แต่ปัญหาที่พบคือ ประชาชนยังไม่คุ้นชินกับการขอใบอนุญาตออนไลน์ และมีบางส่วนจงใจให้เงินเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกเร็วขึ้น จึงเป็นปัญหาที่กวนใจเป็นระยะ ยังแก้ไม่ตก ไม่รู้จะมีข่าวออกมาวันไหนกันแน่

“สำหรับการปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กทม.” ซึ่งถือเป็นงานยากที่จะจัดการ แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมานายชัชชาติ ก็ยังเน้นย้ำและให้ความสำคัญต่อระบบเส้นเลือดฝอยและดำเนินการมาตลอด และดูเหมือนว่าจะให้ความสำคัญมากกว่าโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เสียอีก ทั้งการลอกท่อ คูคลอง โดยการจ้างกรมราชทัณฑ์และเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้น้ำระบายออกจากชุมชนได้เร็ว ผ่านการลงพื้นที่แบบทันท่วงที เพื่อให้กำลังใจทีมงานและอธิบายสถานการณ์น้ำท่วมหรือสิ่งที่เกิดขึ้นให้ประชาชนรับทราบผ่านการไลฟ์สดในเพจส่วนตัว(ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) อย่างต่อเนื่อง เป็นจุดแข็งซึ่งแสดงถึงความทุ่มเท ทำงานหนัก ในแบบเฉพาะตัวของผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน