นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวผสมผสาน โดยดัชนี Dow Jones ปรับตัวขึ้น +0.27% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Chevron +2.6%, ExxonMobil +2.2%) ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้น หลังยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ลดลงมากกว่าคาด อย่างไรก็ดี แรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นธีม AI ที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา (Amazon -4.3%, Alphabet -3.8%, Nvidia -3.1%) ได้กดดันให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงกว่า -1.29% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.38% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนเป็น 34% (จากเดิม 22%) หลังธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางแคนาดา (BOC) เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หลังจากที่หยุดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงก่อนหน้า

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลง -0.19% กดดันโดยความกังวลว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Shell +0.9%, BP +0.5%) หลังราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 76.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หลัง RBA และ BOC เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 3.78% อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) ทำให้การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์อาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยยังคงมีโซนแนวต้านแถว 3.80%-3.90% สำหรับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยในช่วงแรกเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ตามแรงขายทำกำไรและการปรับตัวขึ้นของสกุลเงินหลักอื่นๆ โดยเฉพาะเงินออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) หลัง RBA ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดกังวลว่าเฟดก็อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ ขณะเดียวกัน แรงขายหุ้นเทคฯ ในฝั่งสหรัฐฯ ก็หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนอยากถือเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดผันผวน ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104 จุด อีกครั้ง ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,958 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนในการกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial and Continuing Jobless Claims)

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดจะรอลุ้นว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 6.50% ได้หรือไม่ หลังจากอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอลงต่อเนื่อง อีกทั้งสกุลเงินรูปี (INR) ก็มีเสถียรภาพมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวต้านแถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว แม้ว่าเงินบาทจะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านบ้าง แต่เรายังคงมองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านไปได้ไกลนัก เนื่องจาก โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้แผ่วลง อีกทั้งบรรดาผู้ส่งออกบางส่วนต่างก็รอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าในการทยอยขายเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา อย่าง แรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติก็ลดลงชัดเจนและเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ หลายครั้ง แม้ว่าจะยังไม่ผ่านไปได้สำเร็จ แต่เรามองว่า หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านดังกล่าว ก็อาจอ่อนค่าต่อไปยังโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ โอกาสเกิดภาพดังกล่าว ยังมีไม่มากนัก และจำเป็นต้องอาศัยการไหลออกของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติควบคู่ไปกับทั้ง การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ และการย่อตัวลงชัดเจนของราคาทองคำ เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอนของการเมืองไทย รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.90 บาท/ดอลลาร์