เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 7 มิ.ย.66 ที่กองบังคับการปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. รักษาราชการแทน ผบก.ทล. กล่าวถึงกรณี มีเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตโทรศัพท์มาเจรจาขอเคลียร์ให้ปล่อยรถบรรทุกน้ำมันเถื่อน หลังถูกตำรวจทางหลวงจับกุม ที่บริเวณริมถนนเพชรเกษม จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา   ว่า หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา และเรียกตำรวจชุดจับกุมมาให้ข้อมูล เบื้องต้นทราบว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมสรรพสามิตโทรศัพท์มาเคลียร์กับชุดจับกุม แต่ชุดจับกุมปฏิเสธ จากนั้นมีความพยายามติดต่อมายังคณะทำงานของตน เพื่อเจรจาขอไฟเขียวกับตนเอง แต่ก็ปฏิเสธไปไม่ขอพูดคุยเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น

“ตอนนี้ตำรวจทางหลวงต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์องค์กร เพื่อสร้างศรัทธาแก่ประชาชน อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ตำรวจทางหลวงเป็นผลไม้พิษที่ใครจะมากินไม่ได้” 

นอกจากนี้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการสืบสวนคดีส่วยสติกเกอร์ของตำรวจทางหลวง โดยระบุว่าในวันพรุ่งนี้ก่อนเวลา 13.00 น. จะลงนามในคำสั่งโยกย้ายข้าราชการตำรวจทางหลวงให้มาช่วยราชการ หลังจากสืบสวนแล้วพบว่าต้องสงสัยเข้าข่ายกระทำความผิด โดยเป็นการตรวจสอบจากบันทึกการจับกุมรถบรรทุกที่ผิดกฎหมายก่อนหน้านี้ ส่วนในวันพรุ่งนี้ที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จะนำหลักฐานส่วยสติกเกอร์มาให้กับผู้บังคับบัญชาระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็จะนำมาตรวจสอบร่วมด้วย และยืนยันว่าจะทำคดีด้วยความจริงใจต่อกันในการประสานข้อมูลกับผู้ที่นำข้อมูลมาให้ 

สำหรับเรื่องนี้ถือว่านายวิโรจน์ เป็นคนจุดชนวนที่ดีในการตรวจสอบทุจริต แต่หลังจากนี้รัฐบาลควรจะต้องจริงใจในการแก้ไขปัญหาร่วมด้วย อย่าให้เป็นวัฒนธรรมของทุกองค์กรว่าจะต้องจ่ายส่วย เพราะหากทำถูกต้องตามกฎหมายก็สามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมามีคดีเรียกรับสินบนเกิดขึ้นก็จะมีหลักฐานมัดแน่นทุกคดี ส่วนการสั่งการให้ตรวจสอบการรับผลประโยชน์แต่ละกองกำกับการของตำรวจทางหลวง จากการตรวจสอบรายงานแล้วพบว่ามีบางส่วนเกี่ยวข้องกับที่ได้สืบสวนคู่ขนานกันไป พร้อมกับเน้นย้ำให้ตำรวจทางหลวงทุกนายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากสังคมจับตามอง โดยหลังจากนี้ก็เตรียมตรวจสอบร่วมกับทั้ง สำนักงานปปช. ปปท. และตำรวจปปป. ตามด่านชั่งน้ำหนักที่ได้รับข้อร้องเรียนมาว่าตราชั่งไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกรมทางหลวง เพราะแต่ละหน่วยงานมีความพร้อม และมีอำนาจในการดำเนินคดีอยู่แล้ว แต่ในชั้นนี้ขอตรวจสอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในหน่วยงานตำรวจทางหลวงไปก่อน