วันวิ่งโลก National Running Day สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนออกมาเคลื่อนไหวร่างกาย

รู้หรือไม่วันวิ่งโลก ตรงกับวันพุธแรกของเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นวันวิ่งสากลโลก ปีนี้ตรงกับ วันที่ 7 มิถุนายน 2566 วันวิ่งโลก Global Running Day หรือรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า National Running Day คือวันที่เฉลิมฉลองกีฬาวิ่งในระดับนานาชาติ กำหนดให้วันพุธแรกของเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็น “วันวิ่งโลก” โดยทางสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ IAAF เกิดความคิดริเริ่มที่อยากให้ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกเพศทุกวัย สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนออกมาเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกาย ซึ่งมีการเปิดตัววันวิ่งสากลโลกครั้งแรกขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.2016 มีผู้เข้าร่วมถึง 2.5 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 177 ประเทศทั่วโลก และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมวิ่งได้ ไม่มีการแบ่งแยกเพศ อายุ น้ำหนัก และส่วนสูงใดๆทั้งสิ้น

-การวิ่งดีอย่างไร

การออกกำลังกายหรือ Exercise คือการเคลื่อนไหวด้วยกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ถือเป็นการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุด แต่มีข้อดีต่อสุขภาพอย่างชัดเจน และมีประโยชน์กับร่างกายแทบจะทุกส่วน ทำให้มีการใช้พลังงานหรือเผาผลาญพลังงานเพิ่มมากขึ้น ช่วยเพิ่มระดับของคอเลสเตอรอลที่ดี และช่วยยกระดับการทำงานของปอด และช่วยร่างกายใช้งานปอดได้ดีขึ้น ป้องกันและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ เช่น ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ,ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง,ความดันโลหิตสูง,โรคเบาหวาน,โรคไขมันในเลือดสูง,โรงมะเร็ง,ลดความเครียด ฯลฯ สำหรับผู้หญิง การวิ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้อีกด้วย ความแข็งแรงให้กับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อต่างๆจะมีความแข็งแรงมากขึ้น ลดภาวะกระดูกพรุน ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ช่วยลดน้ำหนัก เพิ่มความมั่นใจ การวิ่งเป็นการช่วยกระตุ้นความมั่นใจ ความนับถือตัวเองด้วยการตั้งเป้าหมายอย่างมีวินัย บรรเทาความเครียด เมื่อคุณวิ่งร่างกายจะใช้พลังงานและฮอร์โมนส่วนเกิน จึงช่วยลดอาการปวดหัวจากความเครียดได้ สุขภาพใจดีขึ้น ได้อยู่กับตัวเอง มีสมาธิมากขึ้น การทำงานดีขึ้น การแก้ไขปัญหาต่างๆจะดีขึ้นด้วย

-กิจกรรมวิ่งเหมาะกับใครบ้าง

เหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย สามารถใช้การวิ่งเป็นกิจกรรมสร้างเสริมการออกกำลังกายได้ เพียงแต่ต้องกำหนดเวลา และระยะทางการวิ่งให้เหมาะสมตามสภาพร่างกาย เช่น กลุ่มช่วงวัยเด็ก ควรวิ่งในระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อกำหนด ระยะเวลา และรูปแบบการวิ่งให้พอเหมาะกับความสมบูรณ์ของร่างกาย

-วิ่งอย่างไรให้ปลอดภัย

1.ควรกำหนดเป้าหมายในการวิ่ง

เนื่องจากการวิ่งนั้นไม่ว่าคนในกลุ่มใดก็มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ อาการบาดเจ็บ และ อาการหัวใจหยุดเต้นได้ อันเนื่องมาจากการวิ่งที่หนักเกินกำลังร่างกาย ขาดการฝึกฝนฝึกซ้อมที่สม่ำเสมอ และกลุ่มที่ไม่ทราบว่าตนเองป่วย หรือมีโรคประจำตัว ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายในการวิ่งให้ชัดเจน จึงมีส่วนช่วยในการกำหนดการฝึกซ้อม และการเตรียมสภาพร่างกาย

กลุ่มคนที่วิ่งเพื่อสุขภาพ วิ่งไม่หนักมากนัก สามารถสังเกตอาการเจ็บป่วยได้ด้วยตนเอง และควรเริ่มวิ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เพิ่มระยะทาง ระยะเวลาตามความพร้อม และความสบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย

กลุ่มคนที่ต้องการวิ่งเพื่อการแข่งขันหรือวิ่งในระดับอาชีพ ที่ต้องการพัฒนาการวิ่งของตนเองให้มีระดับสูงขึ้น วิ่งได้เร็วขึ้น นอกจากการฝึกซ้อมอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสม่ำเสมอแล้ว ควรได้รับการตรวจเช็คสภาพร่างกายก่อน เพื่อดูว่าตนเองมีความเสี่ยงในการเกิดโรค หรือโรคประจำตัวอะไรหรือไม่

กลุ่มคนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว โรคความดันเลือด โรคหัวใจ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก และข้อต่อ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อกำหนดรูปแบบและระยะเวลาที่เหมาะสม

2.ควรอบอุ่นร่างกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนและหลังวิ่งทุกครั้ง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น

3.ประเมินตัวเอง และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ไม่ควรฝืนร่างกาย หรือหักโหมมากจนเกินไป

4.ไม่ควรวิ่งหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ควรพักอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงก่อนวิ่ง

5.งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนวิ่ง

6.ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรดื่มน้ำทุก 15-20 นาที และไม่ดื่มมากจนเกินไป

7.ไม่ควรวิ่งกลางแจ้ง ในช่วงที่อากาศร้อนมากกว่า 35 องศาเซลเซียส

8.หากจะไปร่วมรายการวิ่งต่าง ๆ ควรเลือกรายการวิ่งที่ได้มาตรฐานในด้านความปลอดภัยของเส้นทางและความพร้อมด้านการแพทย์

9.เลือกรองเท้าสำหรับวิ่ง ต้องเหมาะกับรูปเท้า ฝ่าเท้าและมีการรองรับการกระแทก

ขอขอบคุณข้อมูล-รูปจาก vichaivej-nongkhaem.com