กรมการค้าต่างประเทศเผยสหรัฐฯ นำเข้าชิ้นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศไทยสูง สอดรับกับคลื่นความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยไทยครองแชมป์อันดับ 1 ของประเทศผู้ส่งออกภายใต้ระบบ GSP มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูง 126%
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ที่ไทยได้รับในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช สำหรับไตรมาสแรกของปี 2566 (ม.ค. – มี.ค 2566) มีมูลค่ารวม 819.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึง 52.37% โดยตลาดที่ไทยมีการใช้สิทธิ GSP ส่งออกและขยายตัวได้ดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือสหรัฐฯ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 759.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 92.64% ของมูลค่าการส่งออกรวมที่ใช้สิทธิ GSP ซึ่งสินค้าครองแชมป์อันดับ 1 ยังคงเป็นชิ้นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงถึง 146.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 19.35% ของมูลค่าการส่งออกรวมที่ใช้สิทธิฯ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึง 126% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (ม.ค. – มี.ค. 2565) และขยายตัว 144.68% เมื่อเทียบกันเดือนก่อนหน้าในปีเดียวกัน (ก.พ. 2566)
สำหรับการส่งออกภายใต้โครงการ GSP ไปยังสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และ CIS มีสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูง อาทิ ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องดื่ม (สวิตเซอร์แลนด์) เพชรพลอยรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ (สวิตเซอร์แลนด์) บรรจุภัณฑ์ทำด้วยโพลิเมอร์ของเอทิลีน (สวิตเซอร์แลนด์) ข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) สูทของสตรีหรือเด็กหญิงทำด้วยขนแกะหรือขนละเอียดของสัตว์ (นอร์เวย์) และอาหารปรุงแต่ง (นอร์เวย์) เป็นต้น
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่สินค้าไทยภายใต้โครงการ GSP โดยไทยมีสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0% จากสหรัฐฯ ภายใต้โครงการ GSP จำนวนกว่า 2,600 รายการ เช่น อาหารปรุงแต่ง เลนส์แว่นตา กรดมะนาวหรือกรดซิทริก ถุงมือยาง หีบเดินทางขนาดใหญ่ กระเป๋าใส่เสื้อผ้า และหลอดหรือท่อทำด้วยทองแดงบริสุทธิ์ ไร้รอยต่อ เป็นต้น และขณะนี้แม้ว่าโครงการ GSP สหรัฐฯ ได้สิ้นสุดอายุไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และสหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินขั้นตอนการต่ออายุโครงการฯ ส่งผลให้ผู้นำเข้าสินค้าที่เคยได้รับสิทธิ GSP สหรัฐฯ จะต้องชำระภาษีในอัตราปกติ (MFN rate) ไปจนกว่าโครงการฯ จะได้รับการต่ออายุ อย่างไรก็ดี ผู้นำเข้าสามารถยื่นขอรักษาการใช้สิทธิ GSP ในการนำเข้าสินค้าได้ตามปกติ โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะทำการคืนภาษีเมื่อโครงการฯ ได้รับการต่ออายุ
ทั้งนี้หากผู้ประกอบการมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือโทรสายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชันชื่อบัญชี “@gsp_helper”